ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ VS ทุนนิยมคุณธรรม (Virtus Capitalism)

ในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา คือ ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ หรือ Modern Monetary Theory (MMT) ซึ่งถูกจุดกระแสโดยนักการเมืองพรรคเดโมแครต ที่นำเสนอนโยบาย Green New Deal ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนและเพิ่มการจ้างงาน

MMT ตั้งอยู่บนข้อสมมติที่ว่า เงินเป็นสิ่งที่รัฐสร้างขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าหนุนหลัง (Chartialism) รัฐบาลไม่มีทางผิดนัดชำระหนี้ที่เป็นเงินสกุลของตัวเอง เพราะรัฐสามารถพิมพ์เงินออกมาใช้ได้อย่างไม่จำกัด

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ MMT จึงสนับสนุนว่า รัฐบาลควรใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือหลัก โดยการพิมพ์เงินมาสนับสนุนการใช้จ่ายของรัฐบาล การขาดดุลงบประมาณในระดับที่จำเป็น เพื่อบรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มที่ (full employment) แม้การขาดดุลฯ อาจจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการขึ้นภาษีและออกพันธบัตร เพื่อนำเงินส่วนเกินออกจากระบบ

แนวนโยบาย MMT คาดว่ามีที่มาจากความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว เพราะนโยบายการเงินที่เคยใช้อยู่นั้น ขาดประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ กล่าวคือ การลดดอกเบี้ยไม่สามารถทำได้เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำมากแล้ว และในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นักธุรกิจคาดว่า กำลังซื้อมีน้อยกำไรลดลง จึงไม่กล้าลงทุนเพิ่ม

ขณะที่มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) หรือการพิมพ์เงินเพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (เช่น สินทรัพย์จากสถาบันการเงิน สินทรัพย์ในตลาดที่มีปัญหา) เพื่อยกระดับราคาสินทรัพย์เหล่านั้น ทำให้ธนาคารปล่อยกู้มากขึ้นนั้น คนที่ได้ประโยชน์คือธนาคารพาณิชย์และกลุ่มคนรวยที่ถือสินทรัพย์ทางการเงิน แต่เม็ดเงินที่ไปถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงมีไม่มากนัก

แนวนโยบาย MMT เป็นการต่อยอดจากมาตรการ QE แต่เป็นการพิมพ์เงินเพื่ออัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจโดยตรง ผ่านการลงทุนภาครัฐและการจ้างงาน เช่น มาตรการรับประกันการมีงานทำ หรือ job guarantee เชื่อว่าจะกระตุ้นการลงทุน การเพิ่มรายได้ การใช้จ่ายได้ดีกว่านโยบายการเงินแบบเดิม

ในความเห็นของผม หลักการของ MMT ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ เช่น หลัก “ความขาดแคลน” (scarcity) และ หลัก “ได้อย่างเสียอย่าง” (tradeoff) เป็นต้น เป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะพิมพ์เงินออกมาใช้ได้อย่างไม่จำกัด โดยไม่มีผลกระทบเกิดขึ้น ไม่น่าแปลกใจที่ MMT ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น อาทิ

  • ประการแรก ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (hyperinflation) จากการพิมพ์เงินจำนวนมากอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตรง ทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปริมาณสินค้าและบริการยังมีเท่าเดิม อาจส่งผลทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่ได้ ความเชื่อถือต่อสกุลเงินและระบบการเงินการคลังของประเทศจะเสื่อมถอยลง ทำให้คนไม่อยากถือครองเงินของประเทศ ส่งผลทำให้ค่าเงินของประเทศอ่อนตัวลง ซึ่งจะกดดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นอีก
  • ประการที่สอง นโยบายการคลังขาดความยืดหยุ่น ผู้สนับสนุน MMT อธิบายว่า รัฐบาลอาจเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ แต่การขึ้นอัตราภาษีเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะนักการเมืองเกรงว่าจะทำให้เสียคะแนนนิยม การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีไม่สามารถทำได้บ่อย ๆ จะทำให้ภาคธุรกิจบริหารต้นทุนได้ยาก
  • ประการที่สาม การกำหนดนโยบายการคลังแบบขาดดุลมากเกินไป จนเลยจุดที่การจ้างงานเต็มที่ (หรือมีการใช้ปัจจัยการผลิตเต็มที่) จะทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้น ไปแย่งชิงปัจจัยการผลิตจากภาคเอกชน ทำให้ราคาของปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้น การลงทุนและการใช้จ่ายภาคเอกชนลดลง หรือเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “crowding out effect”

การปรากฏขึ้นของแนวนโยบาย MMT สะท้อนให้เห็นถึง การเคลื่อนไหวของแวดวงวิชาการและผู้กำหนดนโยบายที่พยายามแสวงหาแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบใหม่ เป็นทางเลือกทดแทนเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้นทั่วโลก

แม้ว่าแนวคิดของ MMT มีเจตนาที่ดีหาแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผ่านการแทรกแซงของรัฐในการสร้างงาน การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสู่ประชาชน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แต่เหมือนว่าการนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติอาจจะสร้างความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ

ข้อคิดที่ได้จากประเด็นถกเถียงข้างต้น คือ การมีเป้าหมายที่ดียังไม่เพียงพอ ต้องมีวิธีการหรือสร้างระบบที่ดีด้วย เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ โดยไม่สร้างผลกระทบด้านอื่นที่รุนแรงกว่า การนำนโยบายใหม่ ๆ ไปปฏิบัติ จำเป็นต้องผ่านการคิดอย่างรอบคอบ การถกเถียงให้ตกผลึกเสียก่อน

ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์นับเป็นตัวอย่างคลาสสิกของแนวคิดทฤษฎีที่มีเป้าหมายที่ดี คือ การลดความเหลื่อมล้ำ แต่ออกแบบระบบเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ พฤติกรรม แรงจูงใจของมนุษย์ ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน และล่มสลายไปในที่สุด

ในความเห็นของผม กลไกตลาดในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ถือว่าใกล้กับการเป็นระบบที่ดีในนิยามที่ผมกำหนดขึ้น กล่าวคือ “ระบบที่ทำให้คนชั่ว ทำดีโดยไม่รู้ตัว” เพราะผู้เล่นทุกคนในตลาดต่างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน แต่กลับทำให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร การแข่งขันยังทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้า

ถึงกระนั้น กลไกตลาดในระบบทุนนิยมก็ยังมีจุดอ่อน ทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์มีความสามารถไม่เท่ากัน ครอบครองทรัพยากรที่แตกต่างกัน ทำให้คนที่มีความสามารถและมีทรัพยากรมีมากขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างออกกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผมคิดว่า เราควรใช้ความพยายามมากขึ้นในการคิดและออกแบบระบบทุนนิยมที่มีคุณธรรม หรือที่ผมเรียกว่า Virtus Capitalism” คือ การใช้กลไกตลาดเพื่อทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์ โดยที่ยังรักษาแรงจูงใจในการผลิตได้ด้วย ซึ่งผมจะอธิบายในอนาคต

ที่ผ่านมา ผมได้พยายามคิดนำเสนอเกี่ยวกับระบบนี้ เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่มีจิตสำนึกสาธารณะ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเพื่อสังคม การทำให้ประชาชนเข้าถึงทุน โดยเฉพาะทุนมนุษย์ ผ่านระบบที่ผมสร้างศัพท์ใหม่เรียกว่า “Universal Basic Competency” การสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันทางการเงิน ด้วยระบบบังคับออมทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นต้น

นี่เป็นตัวอย่างที่ผมหวังว่าจะช่วยจุดประกายให้เราช่วยกันคิดและถกเถียง เพื่อให้ได้ระบบที่ดีสำหรับทุกคน

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *