Tiger King Innovation : ตัวอย่างวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอความคิดโมเดลนวัตกรรม 5 ระดับ (Five Stages Innovation Model)[1] เอาไว้ด้วยต้องการให้เป็นกรอบคิดการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 อันจะเป็นประโยชน์สร้างให้เกิดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อันเป็นฐานรากของการพัฒนาประเทศ โดยโมเดลนวัตกรรม 5 ระดับของผมดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย

ระดับที่ 1 C = Copy หรือที่ผมเรียกว่า Copy Cat Innovation

คือ การคัดลอกเพียงอย่างเดียว เป็นการเรียนรู้และนำมาคัดลอกทำต่อ โดยสิ่งที่ทำขึ้นใหม่นั้นมีลักษณะเหมือนกับสิ่งเดิมทุกประการ เช่น การคัดลอกองค์ความรู้จากตะวันตกมาใช้ในยุคสมัยที่ประเทศยังไม่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านองค์ความรู้มากนัก เป็นต้น

 

ระดับที่ 2 C&D = Copy & Development ผมเรียกว่า Fat Cat Innovation

คือ การคัดลอกแล้วนำมาพัฒนาต่อ เป็นการทำให้สิ่งที่ทำขึ้นใหม่มีลักษณะดียิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงเค้าโครงเดิมอยู่ เช่น การคัดลอกองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากตะวันตกแล้วนำมาพัฒนาต่อยอดขยายพรมแดนความรู้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เป็นต้น

 

ระดับที่ 3 R = Research ผมเรียกว่า Tiger Innovation

คือ การทำวิจัยผลิตองค์ความรู้ใหม่ เป็นองค์ความรู้ที่ไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน อาจเป็นประเด็นจุลภาคหรือมหภาคประเด็นใดประเด็นหนึ่งเฉพาะเจาะจง การประดิษฐ์ความรู้และนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์จะได้ผลลัพธ์ที่ได้จากความรู้มากกว่าการที่ไม่มีการประดิษฐ์ความรู้ด้วยตนเอง เช่น การสร้างองค์ความรู้ทางด้านสเต็มเซลล์ นาโนเทคโนโลยี ในยุคสมัยที่โลกยังไม่มีองค์ความรู้ดังกล่าวนี้ เป็นต้น

 

ระดับที่ 4 R&D = Research & Development ผมเรียกว่า Tiger Queen Innovation

คือ การทำวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาต่อยอด ขยายพรมแดนความรู้ให้กว้างขวางออกไป ทำให้องค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เช่น การทำวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยีต่อยอดเป็นสาขาการแพทย์นาโน เป็นต้น และ

 

ระดับที่ 5 R&I = Research & Innovation ผมเรียกว่า Tiger King Innovation

คือ การทำวิจัยและนวัตกรรม ผลิตองค์ความรู้ใหม่ที่นำสู่การสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ เป็นนวัตกรรม 3 ระดับ ที่ผมเรียกว่า Dr. Dan Can Do 3I Innovation Model[2] ประกอบด้วย นวัตกรรมความคิด (Ideation Innovation) นวัตกรรมสิ่งปฏิบัติ (Implementation Innovation) และนวัตกรรมผลกระทบ (Impact Innovation) เช่น การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับนาโนและผลิตเป็นเชิงพาณิชย์ เป็นต้น Tiger King Innovation ดังกล่าวนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้เกิดการพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

หากเราต้องการพัฒนาประเทศไทยให้อยู่หัวขบวน ผมเสนอว่า การทำ R&D ไม่เพียงพอ แต่ต้องทำไปถึงระดับ R&I ร่วมด้วย ตามโมเดล 5 ระดับของผมดังกล่าวนี้ และสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับบทบาทของตนเองไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรม (Innovation University) มุ่งทำวิจัยนำสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ตอบโจทย์ปัญหาความต้องการของสังคม และมีการเชื่อมต่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรม โดยเชื่อมการวิจัยต่อกับนวัตกรรมอย่างเนียนสนิทไร้รอยสะดุด ตัวอย่างที่ผ่านมาทีมนักวิจัยของวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ของฮาร์วาร์ด หรือที่รู้จักกันในชื่อ Harvard John A. Paulson School of Engineering and Applied Sciences ได้ทำวิจัยคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมเลนส์แบบใหม่ผิวหน้าแบนราบใช้โครงสร้างนาโนทำให้เกิดการรวมแสง

การวิจัยชิ้นนี้เป็นการพัฒนาเลนส์เดี่ยวครั้งแรกที่สามารถทำให้เกิดการรวมแสงสเปกตรัมที่มองเห็นได้ทั้งหมด (visible spectrum) ณ จุดเดียวกันและในความคมชัดระดับสูง ในที่นี้รวมถึงแสงสีขาวด้วยเช่นเดียวกัน โดยผู้เขียนหลักของงานวิจัยระบุถึงประโยชน์ของเลนส์ชนิดดังกล่าวนี้ว่าดีกว่าเลนส์แบบเดิมตรงที่มีลักษณะบาง ง่ายต่อการประดิษฐ์ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ผลการวิจัยดังกล่าวนี้ถูกเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์นาโนเทคโนโลยี (Nature Nanotechnology) โดยมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีของฮาร์วาร์ด หรือ Harvard’s Office of Technology Development ที่มีภารกิจในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับโครงการวิจัยดังกล่าวและดำเนินการสำรวจโอกาสในเชิงเชิงพาณิชย์[3]

การวิจัยนำสู่นวัตกรรมเลนส์แบบใหม่ของฮาร์วาร์ดสามารถเป็นตัวอย่างสะท้อนคิดให้แก่มหาวิทยาลัยไทยในการพัฒนาต่อยอดการวิจัยมุ่งสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเชื่อมต่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อันเป็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ไหลสู่สังคม สร้างให้เกิดผลกระทบทั้งต่อระดับปัจเจกบุคคลและมวลมนุษยชาติ นวัตกรรมลักษณะดังกล่าวนี้หากมีจำนวนมากจะเป็น Tiger King Innovation ที่มีพลังสร้างให้เกิดผลกระทบการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นประโยชน์สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศให้เข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยคำพูดของผมที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวว่า

การวิจัยต่อกับนวัตกรรมได้ก็ต่อเมื่อนวัตกรรมออกมาจากองค์ความรู้ที่ค้นพบจริง

เป็นความคิดที่ทะลุทะลวง เอาไปปฏิบัติได้จริง ผลิตเป็นเชิงพาณิชย์

แล้ววัดผลกระทบได้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

หากการวิจัยไม่เข้มแข็งนวัตกรรมเกิดไม่ได้

เพราะนวัตกรรมเป็นของใหม่ใช้ประโยชนได้ ไหลมาจากความรู้ใหม่ที่ค้นพบ”

การจะสร้างให้เกิดนวัตกรรมที่มีคุณภาพต้องเริ่มต้นจากการวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นการวิจัยแท้จริงที่สร้างให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญขับเคลื่อนดังกล่าวนี้

 

[1] ผมนำเสนอในการบรรยายเชิงวิชาการหัวข้อ “บทบาทและความท้าทายของการจัดการศึกษาสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในประชาคมอาเซียน” จัดโดย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยข่อนแก่น วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557.

[2] ผมนำเสนออย่างเป็นทางการครั้งแรกในการปาฐกถานำเรื่อง “การศึกษาคือนวัตกรรม”  ในการประชุมงานวิจัยมหาวิทยาลัย จัดโดย ฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ณ ห้อง Auditorium ชั้น 2 อาคาร 15 วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556.

[3] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/01/ground-breaking-lens-focuses-entire-spectrum-of-light-to-single-point/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 22 วันศุกร์ 9 – พฤหัสบดี 15 กุมภาพันธ์ 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *