ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน)
ประธาน สถาบันการสร้างชาติ
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สังเคราะห์เรียบเรียงและคิดเพิ่มโดย
แพทย์หญิงกัลยรัตน์ สุขเรือง
แพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ครอบครัว
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
และ
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ประธานสถาบันการสร้างชาติ
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
วันที่ 23 มีนาคม 2563
หมวดที่ 1 การดูแลป้องกันตนเองในชีวิตประจำวัน
- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีหรือล้างด้วยแอลกอฮอล์เจลความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า70% ซึ่งเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ดีที่สุดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
- พกแอลกอฮอล์เจล70%หรือแอลกอฮอล์น้ำสำหรับเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆอยู่เสมอโดยใช้ร่วมกับกระดาษทิชชู ทิชชูเปียก
- ระมัดระวังการสัมผัสพื้นผิวทั่วไปอาจมีเชื้อโรคเกาะอยู่ รวมถึงจุดสัมผัสสาธารณะที่มีคนจับบ่อยครั้ง เช่น ลูกบิด กลอนประตู ก๊อกน้ำ สวิตช์ไฟ ราวบันได ปุ่มลิฟต์ ปุ่มกดชักโครก สายชำระฯลฯ หลังสัมผัสให้ล้างมือทันทีด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์
- ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก หรือใบหน้า เพราะจะเพิ่มโอกาสนำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
- หมั่นดูแลความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำวันละ 2 ครั้งหรือทุกครั้งที่กลับถึงที่พักอาศัย และควรสระผมทุกวัน สุภาพสตรีแนะนำให้รวบผม
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อมีอาการป่วย เมื่ออยู่ร่วมกับผู้ป่วยหรืออยู่ในที่ชุมชน
- หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับ อาทิเช่น แหวน นาฬิกา สร้อยข้อมือ เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ทำให้ขณะล้างมือ อาจล้างได้ไม่สะอาด
- ไม่คลุกคลีกับผู้มีอาการป่วยเช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อCOVID-19
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ฯลฯ
- ทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและของใช้ที่สัมผัสบ่อยๆ โดยใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์ กุญแจ ฯลฯ
- ดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตร รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นการรับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
- พักผ่อนให้เพียงพอวันละ6-8 ชั่วโมง และออกกำลังกายสม่ำเสมอในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากผู้ที่สูบบุหรี่เมื่อติดเชื้อCOVID-19 มีโอกาสเพิ่มความรุนแรงของโรคได้
- หากเหมาะสม ให้ทำงาน/เรียนระบบ online (Work from Home) โดยใช้แพลตฟอร์มต่างๆรองรับ อาทิ Zoom, Microsoft Team, และ Google Hangout เพื่อป้องกันการระบาดเพิ่มภายในสถานศึกษาและที่ทำงาน
หมวดที่ 2 การรับประทานอาหาร
- ไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ตะเกียบ ฯลฯ
- รับประทานอาหารจานเดียว หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจานกลางร่วมกัน
- หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารร่วมกัน หรือ รับประทานอาหารจากภาชนะเดียวกับผู้อื่น ให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หมายถึงช้อนที่มีไว้เพื่อตักอาหารที่รับประทานร่วมกันเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้ช้อนนั้นนำอาหารเข้าปาก เพื่่อไม่เสี่ยงการติดเชื้้้อจากการจับช้อนกลางจากคนอื่น
- รับประทานอาหารปรุงสุกร้อน สะอาด งดรับประทานอาหารดิบ และเนื้อสัตว์ป่า
- ในที่ทำงาน ควรแบ่งเวลาพักกลางวันของพนักงานเป็นช่วงเวลาให้ถี่ขึ้น เช่น แบ่งพัก 11.00 น., 11.30 น., 12.00น. 12.30น. 13.00 น.เพื่อลดจำนวนผู้รับประทานอาหารในพื้นที่เดียวกัน
หมวดที่ 3 การอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
ระยะห่างและการสัมผัสกับผู้อื่น
- รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตรเสมอ เพื่อลดโอกาสรับเชื้อไวรัสผ่านการไอจามรดกัน
- งดการสัมผัสตัว การทักทายกันให้ใช้การไหว้แบบไทย, การโบกมือทักทาย, การโค้งคำนับ
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่แออัด หรือพื้นที่เสี่ยงโรค เช่น สนามมวย สนามชนไก่ โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง เดินทางไปต่างประเทศ ต่างจังหวัด เป็นต้น เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ
การปฏิบัติเมื่อตนเองไอ/จาม มีน้ำมูกและเมื่อพบผู้มีอาการไอ จามในที่สาธาณะ
4.ใส่หน้ากากอนามัย ในกรณีที่ตัวเองไม่สบายและมีอาการไอ จาม มีน้ำมูก
5.ปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอ จาม ด้วยกระดาษทิชชูแล้วทิ้งทันที หรือหากไม่มีทิชชูให้จามใส่ต้นแขนด้านในหรือใช้ช่วงข้อพับข้อศอกป้องจมูกและปาก เพื่อป้องกันละอองน้ำมูกและเสมหะแพร่กระจาย หลังจากนั้นให้ทำความสะอาดบริเวณที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งด้วยน่ำสบู่ทันที
6.ถ้าพบบุคคลไอ/จามในระยะ 3 เมตร ให้หันศีรษะหรือหันทั้งตัวหลบไปจากคนๆนั้น พร้อมทั้งอาจจะใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชูป้องปากและจมูกตัวเองไว้ด้วยในกรณีไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย
การใช้หน้ากากอนามัย
ใช้หน้ากากอนามัยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกภายใต้สภาวะการระบาดของไวรัส COVID-19 (ข้อ7-11)
7.ควรล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือ สบู่ และน้ำ ก่อนใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง
8.ใส่หน้ากากอนามัยให้ปิดบริเวณปากและจมูก โดยเช็คว่าไม่มีช่องว่างระหว่างบริเวณหน้าและหน้ากากอนามัย
9.หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากอนามัยระหว่างการใช้งาน หากสัมผัสควรล้างมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือ สบู่ และน้ำ
10.เมื่อหน้ากากอนามัยที่ใส่อยู่เกิดความชื้นควรถอดและใส่หน้ากากอนามัยอันใหม่ และไม่ควรนำหน้ากากอนามัยนั้นมาสวมใส่อีกครั้ง
11.เมื่อถอดหน้ากากอนามัย ควรถอดจากทางด้านหลัง (ไม่ควรสัมผัสข้างหน้าของหน้ากากอนามัย) และทิ้งหน้ากากอนามัยทันทีในถังขยะแบบปิด ตามด้วยการล้างมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือ สบู่ และน้ำ
12.ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยเกิดการไอ/จามหรือมีน้ำมูก รวมถึงเมื่อคนรอบข้างมีอาการป่วยและเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีเชื้อโรคหรือเกิดโรคระบาด
13.หน้ากากอนามัยแบบทั่วไปควรใส่ให้พอดีกับใบหน้า หันด้านที่มีสีออก และให้ด้านที่มีลวดอยู่ด้านบน หากเป็นแบบไม่มีสี ให้สังเกตรอยพับของหน้ากากอนามัย หากมุมของรอยพับชี้ลงด้านล่าง ด้านนั้นจะเป็นด้านนอกของหน้ากากอนามัย
14.หากหน้ากากอนามัยที่ใช้เปียกจากสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทันที และไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ ก่อนทิ้งควรนำหน้ากากที่ใช้แล้วใส่ถุงปิดให้มิดชิด หรือทิ้งในถังขยะติดเชื้อ และล้างมือด้วยสบู่เพื่อป้องกันการตกค้างของเชื้อโรค
15.ไม่ใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวเกิน1วัน
16.หากใช้หน้ากากชนิดผ้าต้องหมั่นซักให้สะอาดทุกวันด้วยน้ำยา/ผงซักฟอกและตากแดดจัด
การเดินทางโดยการขนส่งสาธารณะ
17.หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยรถโดยสาร/ขนส่งสาธารณะ ใช้วิธีการเดิน ปั่นจักรยาน รถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ส่วนตัว
18.เมื่อเดินทางโดยรถสาธารณะ ให้ใส่หน้ากากตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการนั่ง/ยืนอย่างเบียดเสียด ให้หันหน้าออกจากกัน ควรนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย1-2 เมตร
19.ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือทุกครั้งที่มีการสัมผัสกับราว เก้าอี้ หรืออุปกรณ์ในรถสาธารณะ
20.เมื่อไปถึงจุดหมายให้ล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะทำสิ่งอื่นๆ ต่อไป
การใช้ลิฟท์สาธารณะ
21.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสปุ่มกด โดยให้ใช้ข้อศอกหรืออุปกรณ์อื่นๆ เช่น ไม้จิ้มฟัน(ใช้แล้วทิ้ง) กดแทน
22.การยืนในลิฟท์ควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น และหันหน้าเข้าฝาผนัง เว้นช่องตรงกลางไว้
23.ในกรณีที่มีผู้โดยสารในลิฟท์แน่น ควรรอลิฟท์เที่ยวอื่นที่ผู้โดยสารไม่หนาแน่น
24.หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์หากบริเวณใกล้เคียงมีบันไดเลื่อน หรือบันไดธรรมดาแต่ระมัดระวังเรื่องการไม่สัมผัสราวบันได หรือหากจำเป็นต้องสัมผัสให้ทำความสะอาดมือทันที
การรับบัตรจอดรถในที่จอดรถสาธารณะ
25.ในกรณีต้องรับบัตรจอดรถจากบุคคลอื่น แนะนำให้รับ-ส่งใส่กล่องพลาสติกที่มีฝาปิด และวางกล่องไว้ในรถ และเมื่อคืนบัตร ให้เจ้าหน้าที่หยิบบัตรจากกล่องเอง
26.กรณีที่ไม่มีกล่องรับบัตร ควรสัมผัสบัตรให้น้อยที่สุด และวางบัตรไว้ในที่เจาะจง ทำความสะอาดมือและบัตรด้วยแอลกอฮอล์ ทั้งตอนรับบัตรและคืนบัตร
การใช้เงินด้วยธนบัตรหรือเหรียญ
27.ลดการใช้จ่ายด้วยเงินสด เน้นการโอน หรือใช้แอพพลิเคชั่นทางการเงิน
28.หากใช้บัตรเครดิต ควรทำความสะอาดบัตรเครดิตก่อนเก็บในกระเป๋าและทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์
29.ควรนำธนบัตรและเหรียญเก็บไว้ในซองมิดชิดต่างหากที่ไม่ปะปนกับของอื่นๆ หรือกระเป๋า
30.หากจำเป็นต้องใช้เงินให้จ่ายพอดี หรือจำเป็นต้องรับเงินทอน ให้ทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ทันทีหลังรับเงินทอน
การทำความสะอาดรถยนต์
31.ล้างภายนอกรถยนต์ด้วยน้ำยาล้างรถยนต์สม่ำเสมอ
32.ทำความสะอาดบริเวณภายในรถยนต์ด้วยการดูดฝุ่นและเช็ดด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ไม่มีผลเสียต่อพื้นผิวต่างๆ
33.พ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคในรถยนต์ หรืออบโอโซนด้วยเครื่องอบโอโซนเพื่อฆ่าเชื้อในอากาศ พรม เบาะ ช่องแอร์ภายในรถยนต์
หมวดที่ 4 การดูแลที่พักอาศัยให้ถูกสุขลักษณะ
1.ควรทำความสะอาดตัวบ้านและบริเวณโดยรอบทั้งภายในและภายนอก เช่น พื้น ผนัง ประตู และจุดหรือบริเวณที่มีการใช้ร่วมกัน เช่น กลอนหรือลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ ราวบันได สวิตช์ไฟ รีโมต ตู้เย็น ไมโครเวฟ ฯลฯ โดยทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ
2.ควรทำความสะอาดสิ่งที่อยู่ในบ้านที่มีพื้นผิวเป็นลักษณะผ้าอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการซักด้วยน้ำยา เช่น เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ฯลฯ
3.เปิดประตูหน้าต่าง ให้มีระบบการระบายถ่ายเทอากาศและหมุนเวียนอากาศภายในบ้าน
4.เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดมืออย่างเพียงพอ โดยมีสบู่เหลวไว้ที่บริเวณก๊อกน้ำหน้าบ้านเพื่อล้างมือก่อนเข้าบ้าน และทุกอ่างล้างมือ หรือตั้งแอลกอฮอล์เจลในจุดต่างๆ อย่างทั่วถึง
5.กรณีเปิดเครื่องปรับอากาศให้มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่มีคุณสมบัติกรองและฆ่าเชื้อไวรัส
6.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นในบ้าน เก็บของใช้ส่วนตัวในพื้นที่ของตัวเองและดูแลความสะอาดสม่ำเสมอ
7.กรณีผู้อาศัยบ้านเดียวกัน มีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้พบแพทย์ และแยกห้องเป็นสัดส่วน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
ห้องครัว
8.รักษาความสะอาดของห้องครัว ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ เช่น โต๊ะอาหาร อุปกรณ์ที่ใช้ในการปรุง ประกอบอาหาร อุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหารด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
9.ควรเก็บอุปกรณ์การทานอาหารและการปรุงอาหารไว้ในที่มิดชิด มีฝาปิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มาทางอากาศหรือการไอ/จาม
ห้องน้ำ
10.รักษาความสะอาดในห้องน้ำด้วย การใช้น้ำยาล้างห้องน้ำที่พื้นและผนังห้องน้ำ
11.ทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ซึ่งอาจเป็นแหล่งที่มีการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ เช่น กลอนหรือลูกบิดประตู โถส้วม ที่กดชักโครก สายฉีดชำระ ฝารองนั่ง ฝาปิดชักโครก และก๊อกน้ำอ่างล้างมือ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
12.มีสบู่เหลวไว้บริเวณอ่างล้างหน้าและล้างมือ
การทิ้งขยะ
13.นำขยะจากห้องต่างๆ เช่นห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ไปทิ้งทุกวัน โดยใส่ในถุงขยะและปิดปากถุงมิดชิด
14.ทิ้งขยะอย่างถูกสุขลักษณะ โดยการแยกขยะปนเปื้อนสารคัดหลั่ง หรือหน้ากากอนามัยใส่ถุงและปิดปากถุงมิดชิดลงทิ้งทันทีในถังขยะที่ปิดถุงมิดชิดก่อนนำไปทิ้ง
หมวดที่ 5 การดูแลตนเองในกรณีต้องกักกันโรคที่บ้าน 14 วัน ให้ปฏิบัติตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข
1.ให้หยุดเรียน/ทำงาน ไม่ออกไปนอกที่พักอาศัย ไม่เดินทางไปที่ชุมชนแออัด หรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด
2.แยกห้องนอน
3.หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดพูดคุยกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ
4.รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น โดยใช้ภาชนะ ช้อนส้อม และแก้วน้ำส่วนตัว ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ร่วมกับผู้อื่น
5.ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70%
6.สวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ ในบ้านประมาณ 1 – 2 เมตร หรืออย่างน้อยหนึ่งช่วงแขน
7.การทิ้งหน้ากากอนามัย ใช้วิธีใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ทันที
8.ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจามโดยปิดถึงคาง แล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำและสบู่ทันที
9.ทำความสะอาดบริเวณที่พัก เช่น เตียง โต๊ะ บริเวณของใช้รอบ ๆ ตัว รวมถึงห้องน้ำด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน/น้ำสะอาด 10 ส่วน)
10.ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 70 – 90 องศาเซลเซียส
หมวดที่ 6 การดูแลผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย
1.กรณีที่1 ผู้ที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 และไม่มีประวัติเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง แต่มีความกังวล อยากทราบว่าตนเองติดหรือไม่
คำแนะนำ : ไม่แนะนำให้ไปตรวจ เพื่อลดโอกาสสัมผัสและรับเชื้อจากกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ไปตรวจที่โรงพยาบาล
2.กรณีที่ 2 ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ที่ไม่มีประวัติเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 หรือไม่มีประวัติเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง
คำแนะนำ : ให้สังเกตอาการที่บ้าน รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก แยกตัวจากบุคคลอื่นตามคำแนะนำข้างต้น หากอาการหนักขึ้น ไข้สูง ไอมากขึ้น หอบเหนื่อย ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจทันที
3.กรณีที่ 3 ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ที่มีประวัติเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 หรือมีประวัติเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง
คำแนะนำ : ให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที
4.กรณีที่ 4 ผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง ไอ หอบเหนื่อย ที่รุนแรง ไม่ว่าจะมีประวัติเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 หรือมีประวัติเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่
คำแนะนำ : ให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที
5.กรณีที่ 5 ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือหอบหืด หากมีไข้ หอบเหนื่อยรุนแรง
คำแนะนำ : ให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที
หมายเหตุ หากมีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้พาราเซตตามอล งดรับประทานยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่
สเตียรอยด์ (NSAIDs) ทุกชนิด เช่น ไอบูโพรเฟ่น ซึ่งอาจส่งผลให้โรครุนแรงมากขึ้น
หมวดที่ 7 การดูแลกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ
- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
- คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดเรื้อรัง
- คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก
- คนที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือกินยากดภูมิต้านทานโรคอยู่
- ผู้ที่ต้องทำงาน หรือรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
- ผู้ที่เดินทางไปในประเทศเสี่ยงติดเชื้อ เช่น จีน อิตาลี อิหร่าน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า มาเลเซีย เวียดนาม อังกฤษ ฯลฯ
8.ผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องพบปะชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น คนขับแท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง แม่ค้า พนักงานห้างสรรพสินค้า เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ลูกเรือสายการบินต่างๆ เป็นต้น
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพ หรือต้องการขอรับการช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 สามารถโทรสอบถามเพิ่มเติมที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
รับผิดชอบต่อตนเอง เร่งสร้างสังคมปลอดภัย นำประเทศไทยพ้นวิกฤติโควิด-19