Passive Outcome

เมื่อปี ค.ศ. 1997 โรเบิร์ต คิโยซากิ (Robert Kiyosaki) ตีพิมพ์หนังสือขายดีระดับตำนานที่ชื่อว่า ‘Rich Dad Poor Dad’ หรือชื่อในภาษาไทย ‘พ่อรวยสอนลูก’ เนื้อหาหลักในหนังสือเล่มนี้ได้จำแนกรายได้ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รายได้ที่เกิดจากการลงแรงทำงาน หรือ ‘Active Income’ ซึ่งรายได้จะหยุดลง เมื่อหยุดทำงาน เช่น รายได้ของลูกจ้างและเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ขณะที่ ‘Passive Income’ เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้เวลานอนหลับหรือแม้หยุดทำงาน เช่น รายได้ของนักลงทุนและเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ ผู้ที่ครอบครอง Passive Income จะมีความเป็นอิสระทางการเงิน สามารถสร้างรายได้โดยไม่ขึ้นกับการทำงาน

แนวคิด Passive Income ให้วิธีคิดที่มีประโยชน์เกี่ยวกับวิธีการทำงานอย่างมีผลิตภาพ แต่อาจมีโทษหากนำไปใช้ด้วยทัศนคติที่ผิดและไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะทัศนะการมองความสำเร็จที่แคบ โดยวัดความสำเร็จด้วยรายได้ทางการเงินเท่านั้น และการให้ความสำคัญมากเกินไปกับการสร้างรายได้โดยไม่ต้องทำงาน เพราะการสร้างรายได้ทุกประเภทต้องเกิดจากความพยายามบางระดับ และอาจทำให้เกิดความย้อนแย้ง (paradox) เกี่ยวกับผลิตภาพ เพราะในแง่หนึ่ง แนวคิดนี้มุ่งเน้นให้เกิดผลิตภาพในการสร้างรายได้ แต่ผู้ที่มี Passive Income แล้ว อาจหมดแรงจูงใจและไม่ได้ใช้ความสามารถในการสร้างผลผลิตอีกต่อไป

นิยามและความสำคัญของ Passive Outcome

ผมจึงสร้างแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า ‘Passive Outcome’ หมายถึง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยการใส่ความพยายามในทุนที่ไม่ใช่เวลาและความสามารถของตนเอง (Passive Outcome is outcome generated by personal effort of personal non-time and non-talent ‘capitals’.) ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิด ‘Active Outcome’ ที่หมายถึง ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ ด้วยการใส่ความพยายามลงในเวลาและความสามารถของตนเอง (Active Outcome is outcome generated with our personal effort of time and talents.)

ยกตัวอย่าง แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาคนไข้ด้วยตัวเอง จะทำให้ได้ Active Outcome เท่านั้น เพราะตลอดชีวิตของเขาจะให้บริการคนไข้ได้จำนวนจำกัด โดยถูกจำกัดด้วยเวลาและความสามารถของเขา แต่แพทย์ที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลที่สามารถรวบรวมปัจจัยการผลิต จัดระบบการทำงาน และสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์มาทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ เขาจะสามารถสร้าง Passive Outcome ซึ่งสามารถให้บริการคนไข้ได้มากกว่าการตรวจรักษาด้วยเวลาและความสามารถของตัวเองหลายเท่าตัว

แนวคิด Passive Outcome ตั้งอยู่บนมุมมองกว้างเกี่ยวกับเป้าหมายหรือความสำเร็จ โดยไม่จำกัดที่ความสำเร็จเชิงมูลค่าที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงผลลัพธ์ที่มีมูลค่าที่ไม่ใช่ตัวเงินและจับต้องไม่ได้ และผลลัพธ์ที่มีคุณค่าด้วย อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่มีคุณค่าเป็นหลัก ซึ่งบางกรณีรายได้อาจเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ที่มีคุณค่า และอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดผลลัพธ์ที่มีคุณค่า

ยิ่งไปกว่านั้น การนำเสนอแนวคิด Passive Outcome ของผม ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลหรือสมมติบุคคลใช้ความพยายามเพื่อสร้างผลลัพธ์ต่อเนื่อง แล้วหยุดการทำงานหรือหยุดการสร้างผลผลิต แต่มุ่งหวังให้บุคคลหรือสมมติบุคคลใช้ความพยายามเพื่อสร้างผลลัพธ์สุทธิโดยรวมสูงสุดตลอดช่วงเวลาของชีวิต และสามารถสถาปนาคน ระบบ และบริบทที่สร้างผลลัพธ์ต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน แม้จบสิ้นชีวิตหรือสิ้นสุดอายุขององค์กรไปแล้ว โดยไม่เสียเวลาและความสามารถไปกับการทำงานที่มีกระบวนการซ้ำซาก หรือทำงานที่คนอื่นสามารถทำแทนได้

การนำเสนอแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นความพยายามสร้างผลลัพธ์ที่เอาชนะความจำกัดของมนุษย์ในมิติกาลเวลาเท่านั้น แต่รวมถึงความพยายามเอาชนะความจำกัดในมิติสถานที่ด้วย เพราะธรรมชาติของมนุษย์อยู่ภายใต้กรงขังของกาลเวลาและสถานที่ ผลลัพธ์จึงอาจจำแนกได้เป็น 4 ประเภท โดยใช้เกณฑ์การสร้างผลลัพธ์ข้ามมิติกาลเวลาและมิติสถานที่ ประกอบด้วย ‘Pure Active Outcome’ คือ ผลลัพธ์ที่ไม่ข้ามมิติกาลเวลาและมิติสถานที่ ‘Multi-Space Active Outcome’ คือ ผลลัพธ์ที่ไม่ข้ามมิติกาลเวลา แต่ข้ามมิติสถานที่ ‘Single-Space Passive Outcome’ คือ ผลลัพธ์ที่ข้ามมิติกาลเวลา แต่ไม่ข้ามมิติสถานที่ และ ‘Pure Passive Outcome’ คือ ผลลัพธ์ข้ามมิติกาลเวลาและมิติสถานที่

ประโยชน์ของการสร้าง Passive Outcome คือ ความพยายามในการปลดปล่อยมนุษย์สู่ความเป็นอิสระเพื่อให้สามารถทำสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด การอารักขาชีวิตโดยการบำรุงรักษา พัฒนา และใช้ประโยชน์จาก 3T คือ เวลา ความสามารถ และทรัพย์ศฤงคารให้เกิดผลลัพธ์ที่มีคุณค่าสูงสุด การสร้างพลังทวีคูณเพื่อขยายผลลัพธ์อย่างต่อเนื่องข้ามกาลเวลาและสถานที่ การสร้างผลลัพธ์ที่งอกเงย เกิดผลดกดื่น และมหาศาล และการสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและไม่ถอยกลับ

ปัจจัยในการสร้าง Passive Outcome

          คำถามคือ เราจะสร้าง Passive Outcome ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ในความคิดของผม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิด Passive Outcome คือ ‘ทุน’ (capital) ซึ่งทุนในความหมายของผม แตกต่างจาก ทุนในนิยามของคนทั่วไปที่จำกัดขอบเขตของทุนที่ ‘ทุนประดิษฐ์’ เท่านั้น โดยเฉพาะเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่ทุนในนิยามของผม คือ ‘ความเอกอุ’ ซึ่งครอบคลุมปัจจัยการผลิตทุกอย่างที่สามารถสร้างผลผลิตและผลลัพธ์ได้ ผมนับว่าเป็นทุนทั้งหมด

เหตุผลที่ทุนสามารถสร้างผลลัพธ์ข้ามกาลเวลาและสถานที่ได้ เนื่องจากคุณสมบัติสำคัญของทุน คือ ความสามารถสร้างผลผลิตและผลลัพธ์ โดยที่คุณค่าหรือความสามารถในการผลิตไม่หมดไปในการผลิตครั้งเดียว แต่สามารถใช้ทุนในการสร้างผลผลิตและผลลัพธ์ได้ต่อเนื่องหลายครั้ง ทุนยังสามารถทำซ้ำได้ ครอบครองเป็นเจ้าของได้ ควบคุมได้ ใช้ประโยชน์และกีดกันคนอื่นมาใช้ประโยชน์ได้ สะสมได้ และถ่ายโอนได้ ซึ่งทำให้บุคคลและสมมติบุคคลสามารถขยายกำลังการผลิตได้และทำให้เกิดผลิตภาพสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ความสามารถในการสร้าง Passive Outcome ของแต่ละบุคคลและสมมติบุคคลอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ปริมาณและคุณภาพของทุนที่ครอบครอง และความสามารถในการจัดการทรัพยากรของบุคคลและสมมติบุคคลนั้น ผู้ที่ครอบครองทุนมาก ยิ่งมีโอกาสสร้าง Passive Outcome ได้มาก เช่นเดียวกับ ผู้ที่ครอบครองทุนที่มีคุณภาพมาก ยิ่งมีโอกาสสร้าง Passive Outcome ได้มาก และผู้ที่มีความสามารถในการจัดการทรัพยากรมาก และสามารถแปลงทรัพยากรเป็นทุนได้มาก จะยิ่งมีโอกาสสร้าง Passive Outcome ได้มาก คนที่มีทรัพยากรมากแต่ไม่มีวิธีจัดการทรัพยากร ก็ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์จากทรัพยากรนั้นได้

ทุนแต่ละประเภทมีคุณภาพหรือระดับความเอกอุที่แตกต่างกัน เนื่องมาจากคุณสมบัติของทุนแต่ละประเภทแตกต่างกัน ทำให้มีพลังในการสร้างผลผลิตและผลลัพธ์แตกต่างกัน ทุนที่หายากอาจสร้างผลลัพธ์ได้มากโดยเฉพาะผลลัพธ์เชิงมูลค่า ทุนที่สามารถสร้างผลผลิตได้มากจะสร้างผลลัพธ์ได้มาก และทุนที่มีอัตราความเสื่อมน้อยจะมีโอกาสสร้างผลลัพธ์ต่อเนื่องได้ยาวนาน

ความเอกอุของทุนยังอาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม ผมได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของยุคต่าง ๆ โดยใช้แนวคิดฟังก์ชันการผลิตของเศรษฐศาสตร์ พบว่า ‘ปัจจัยแห่งยุค’ หรือปัจจัยการผลิตสำคัญในแต่ละยุคมีความแตกต่างกัน และปัจจัยแห่งยุคในยุคหลังจะมีพลังเอกอุมากกว่ายุคก่อนหน้า เช่น ปัจจัยแห่งยุคในคลื่นลูกที่ 0 สังคมเร่ร่อน และคลื่นลูกที่ 1 สังคมเกษตร เป็น ‘ทุนธรรมชาติ’ ได้แก่ ป่าและที่ดิน ปัจจัยแห่งยุคในคลื่นลูกที่ 2 สังคมอุตสาหกรรม เป็น ‘ทุนประดิษฐ์’ ได้แก่ เครื่องจักร และปัจจัยแห่งยุคในคลื่นลูกที่ 3 ถึง 6 คือ สังคมข้อมูลข่าวสาร สังคมความรู้ สังคมปัญญา และสังคมความดี เป็น ‘ทุนมนุษย์’ ได้แก่ ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ปัญญา และความดีตามลำดับ

แนวทางในการสร้าง Passive Outcome

การสร้าง Passive Outcome ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่เป็นเป้าหมายว่า มีกระบวนการที่นำไปสู่ผลลัพธ์นั้นอย่างไร และต้องการใช้ปัจจัยการผลิตและทุนอะไรบ้างในการสร้างผลลัพธ์นั้น อย่างไรก็ดี การสร้างผลลัพธ์โดยปกติ จำเป็นต้องใช้ทุนหลายประเภทประกอบกัน แต่กระนั้น การสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณค่า ดกดื่น ต่อเนื่อง และยั่งยืน จำเป็นต้องเน้นการเข้าถึง ครอบครอง และใช้ประโยชน์จากทุนที่มีระดับความเอกอุสูง โดยเฉพาะทุนที่มีคุณภาพและทุนที่เป็นปัจจัยแห่งยุค โดยผมมีข้อเสนอแนวทางในการสร้าง Passive Outcome ดังต่อไปนี้

          การสะสมทุน โดยการตั้งเป้าหมายและจัดระบบในการสะสมทุนที่จำเป็นต่อการสร้างผลลัพธ์ รวมทั้งต้องสร้างวินัยในการสะสมทุนอย่างต่อเนื่อง โดยทุนที่จำเป็นต่อการสร้างผลลัพธ์อาจรวมถึง การสะสมทุนทางการเงิน การสะสมทุนมนุษย์ โดยการลงทุนในการพัฒนาตนเองและสร้างคนภายใต้การดูแล การสะสมทุนธรรมชาติ เช่น การสะสมที่ดิน เป็นต้น การสะสมมิตรภาพ โดยการลงทุนและให้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่จะสนับสนุนการสร้างผลลัพธ์ และการสร้างเครือข่ายอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการสะสมความดี โดยให้ 3T กับการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และการสื่อสารเพื่อรักษาชื่อเสียงที่ดี

          การพัฒนาความสามารถในการใช้ทุนและทรัพยากร โดยผมได้นำเสนอ Dr. Dan Right Capital Deployment Model[1] กล่าวถึงการใช้ทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการใส่ทุนที่ถูกต้องในการนำที่ถูกต้อง ในการจัดการที่ถูกต้อง ในโครงการที่ถูกต้อง ในระบบที่ถูกต้อง ในเทศะที่ถูกต้อง และในกาละที่ถูกต้อง เช่น การใช้ประโยชน์จากที่ดิน อาคาร เครื่องจักร ในงานที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือใช้ประโยชน์ได้หลายวัตถุประสงค์ การวางคนให้เหมาะกับงานและเปิดโอกาสให้ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เป็นต้น

          การสร้างระบบ เนื่องจากการสร้าง Passive Outcome เกิดจากการออกแบบและสร้างระบบที่ขับเคลื่อนงานไปได้เอง โดยไม่ต้องเข้าไปขับเคลื่อนงานด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ระบบที่ดีต้องทำให้คนชั่วทำดีโดยไม่รู้ตัว โดยการออกแบบระบบจูงใจให้คนทำตามระบบเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณค่าที่เราต้องการได้ การสร้างระบบที่สร้างผลลัพธ์ต่อเนื่อง ต้องทำให้ระบบเป็นเหมือนเครื่องจักร (machanisation) การสร้างระบบอัตโนมัติ (automatisation) การสร้างระบบต้นแบบที่ทำให้เกิดผลทวีคูณหรือขยายผลได้ (scalability) และการบริหารแนวกว้างและลงลึก เพื่อให้คนเดินตามระบบที่ออกแบบไว้ก็สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ เช่น การจัดทำคู่มือ เช็คลิสต์ เทมเพลต และตารางเวลา (MCTS) อย่างละเอียด เป็นต้น 

          การบริหารความเสี่ยง เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การสร้างระบบในการบริหารและใช้ทุนประเภทต่าง ๆ อาจไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้เหมือนในอดีต หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อทุนที่ครอบครองอยู่ ดังนั้นการสร้าง Passive Outcome ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จำเป็นต้องมีการบริหารความเสี่ยงในการจัดการทุนอย่างเหมาะสม มีการป้องกันความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และมีการสะสมทุนหรือเงินกองทุนเพื่อรับประกันว่า องค์กรจะสามารถดำเนินการเพื่อสร้างผลลัพธ์ได้อย่างยั่งยืน

          การสร้างทายาท การสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณค่าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จำเป็นต้องมีการสร้างทายาทเพื่อรับอุดมการณ์และสานงานต่อ แต่ประสบการณ์ขององค์กรต่าง ๆ มักอยู่รอดได้ภายใต้ผู้นำไม่เกิน 4 ชั่วอายุคน ดังนั้นการรับประกันว่าองค์กรจะสามารถสร้างผลลัพธ์อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างทายาทโดยใช้ ‘โมเดล 3ท.’ กล่าวคือ การเตรียมการสร้างทายาท 3 ช่วงอายุ คือ ทายาทของทายาทของทายาท และผู้นำทุกระดับต้องสร้างทายาท 3ท. เพื่อเตรียมผู้นำรุ่นใหม่หลายรุ่น ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน และมุ่งมั่นที่จะสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณค่าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ขาดแคลนผู้นำที่มีคุณภาพ แม้สิ้นสุดวาระของผู้นำรุ่นแรก ๆ ไปแล้ว

การสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณค่าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นเป้าหมายที่บุคคลควรให้ความสำคัญ เพื่อใช้ศักยภาพชีวิตของตนเองสูงสุดและสร้างผลลัพธ์ที่มีคุณค่าได้สูงสุด มิใช่มีแรงจูงใจเพื่อจะหยุดทำงาน พักผ่อน และท่องเที่ยว ในทำนองเดียวกัน องค์กรหรือประเทศที่จะมีความเจริญก้าวหน้าสูงสุดอย่างยั่งยืน จะต้องมีความสามารถในการสร้าง Passive Outcome ซึ่งต้องเกิดจากสร้างและสะสมทุนที่มีคุณภาพขององค์กรและประเทศ เพื่อให้สามารถสร้างผลลัพธ์ทั้งในเชิงมูลค่าและคุณค่า อันเกิดการทำงานที่ใช้แรงขวิดมากกว่าใช้แรงควาย

[1] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2564). Dr. Dan Right Capital Deployment Model. เอกสารภายใน สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา.