ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก ทำให้จีนก้าวขึ้นมาท้าทายสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจเดิม โดยมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ภายในปี 2030
หากพิจารณาสถานการณ์โลกด้วยแนวคิด “วัฏจักรอภิมหาอำนาจ” (Hegemonic cycle) ซึ่งอธิบาย 5 กระบวนการของการเป็นอภิมหาอำนาจโลก อันประกอบด้วย การเกิดขึ้นของอภิมหาอำนาจ การฟื้นฟูและขยายตัวของประเทศอื่น การก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันของอภิมหาอำนาจ การท้าทายต่ออภิมหาอำนาจ และสงครามระหว่างอภิมหาอำนาจ (hegemonic wars) อาจกล่าวได้ว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่สงครามอภิมหาอำนาจ
ปัจจุบัน เราเริ่มเห็นสัญญาณของสงครามอภิมหาอำนาจแล้ว ซึ่งสงครามในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การใช้กำลังทหารเข้าห้ำหั่นกันเท่านั้น แต่สงครามระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น จะปรากฏในหลากหลายรูปแบบ
- สงครามการค้า (Trade War)
ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีน ขณะที่จีนได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีในระดับที่ใกล้เคียงกัน ทำให้มีการขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาหลายระลอก ก่อนที่จะมีการเจรจาเพื่อระงับการขึ้นภาษีชั่วคราว ซึ่งสงครามการค้าครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบทั้งต่อสหรัฐฯ และจีน แต่ยังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกด้วย
เหตุผลสำคัญที่สหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับจีน คือ การลดการขาดดุลทางการค้า และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ แต่ผมเชื่อว่าเหตุผลสำคัญที่สุด คือ การลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน เพื่อสกัดกั้นการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของจีน
อีกเหตุผลหนึ่ง คือ การยับยั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศจีน ตามนโยบาย Made in China โดยอ้างว่าจีนทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากรัฐบาลจีนใช้แนวทางเศรษฐกิจแบบ state capitalism ซึ่งรัฐบาลมีบทบาทสูงในการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านรัฐวิสาหกิจของจีน และผ่านการอุดหนุนและปกป้องอุตสาหกรรมของจีน
- สงครามอัตราแลกเปลี่ยน (Currency War)
การที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลักในการทำการค้าโลก และในทุนสำรองระหว่างประเทศ สหรัฐฯ จึงอาจใช้ความได้เปรียบนี้เป็นเครื่องมือทำสงครามอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกได้
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะเป็นจำนวนมาก ขณะที่จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยการเข้าไปซื้อพันธบัตรของสหรัฐฯ ทำให้จีนถือไพ่ที่เหนือกว่าสหรัฐฯ เพราะหากจีนลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ จะทำให้มูลค่าพันธบัตรและค่าเงินสหรัฐฯ ลดลงมาก ถึงกระนั้นหากจีนทำเช่นนั้น จะส่งผลกระทบต่อฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนเช่นกัน
ที่ผ่านมา จีนพยายามเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำและสินทรัพย์อื่น ๆ ในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ เพราะหากจีนเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ จะทำให้มูลค่าพันธบัตรและค่าเงินดอลลาร์ลดลง แต่ราคาทองคำและทรัพย์สินเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มูลค่าเงินทุนสำรองของจีนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลปักกิ่งยังดำเนินนโยบายลดบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (De-Dollarization) โดยพยายามทำให้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินสากล เช่น การผลักดันให้เงินหยวนเข้าไปอยู่ในตะกร้าเงิน SDR (Special Draw Rights) ซึ่งทำให้เงินหยวนถูกนำไปอยู่ในเงินทุนสำรอง และใช้ในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น การจัดทำข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าเพื่อทำการค้าด้วยเงินหยวน การปล่อยเงินกู้เป็นสกุลเงินหยวน เป็นต้น
- สงครามเทคโนโลยี (Tech War)
สงครามเทคโนโลยีมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากจีนต้องการขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในหลายสาขา ด้วยการทุ่มเทงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา การกว้านซื้อกิจการด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศ การกีดกันบริษัทเทคโนโลยีของต่างชาติในตลาดจีน รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ปัจจุบัน จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก สังเกตได้จากประเทศจีนมีการยื่นจดสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก (WIPO, 2017) โดยมีคำขอจดสิทธิบัตรมากกว่าสหรัฐฯ ที่เป็นอันดับ 2 กว่า 1 เท่าตัว และบริษัท Meituan Dianping ของจีนถูกจัดเป็นอันดับ 1 ของบริษัทที่มีนวัตกรรมดีเด่น (Fast Company, 2019)
สหรัฐฯ ตระหนักถึงภัยคุกคามของจีน จึงพยายามสกัดกั้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีนด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการกล่าวหาว่า จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ หรือทำสงครามการค้าเพื่อยับยั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศจีนดังที่กล่าวข้างต้น
สหรัฐฯยังพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีจากจีน ดังกรณีที่เหมิง หวันโจว CFO ของหัวเว่ย ถูกแคนาดาควบคุมตัวภายใต้การร้องขอของสหรัฐฯ โดยกล่าวหาว่า หัวเว่ยขายสินค้าโทรคมนาคมกับประเทศอิหร่านซึ่งถูกบอยคอต รวมทั้งยังเรียกร้องให้พันธมิตรทั่วโลกแบนผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย โดยโจมตีว่าไม่มีความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ใช้งาน
- สงครามข้อมูลข่าวสาร (Info War)
สงครามข้อมูลข่าวสารมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการทำสงครามรูปแบบนี้ ทั้งนี้สงครามข้อมูลข่าวสารอาจจำแนกได้เป็นหลายรูปแบบ อาทิ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น การรบกวนหรือแทรกแซงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) สงครามไซเบอร์ (เช่น การแทรกแซงและเจาะระบบสารสนเทศ การล้วงข้อมูล การดักฟัง) สงครามจิตวิทยา (เช่น ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร การสร้างข่าวลวง) เป็นต้น
ในฐานะอภิมหาอำนาจเดิม สหรัฐฯ มีความพร้อมในการทำสงครามข้อมูลข่าวสาร ทั้งในเชิงความรู้ ความเชี่ยวชาญ บุคลากร โครงสร้าง องค์กร เทคโนโลยี และยุทธวิธี ขณะที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ปรับเปลี่ยนมุมมองของสงครามไปสู่สงครามข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เนื่องจากจีนมองว่าสหรัฐฯมีแสนยานุภาพทางการทหารเหนือกว่า การเอาชนะจำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์และการทำสงครามข้อมูลข่าวสาร
ที่ผ่านมา เราได้เห็นการทำสงครามข้อมูลข่าวสารของจีนต่อสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น การกล่าวหาว่าจีนขโมยข้อมูลของเครื่องบิน F-35 ของบริษัทล็อคฮีตมาร์ติน เพื่อนำไปพัฒนาเครื่องบิน J-31 การจัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ เป็นต้น
- สงครามสื่อ (Media War)
สงครามสื่อแตกต่างจากสงครามข้อมูลข่าวสาร คือ สงครามสื่อเน้นการจัดการและควบคุมสื่อหรือช่องทางการสื่อสารข้อมูลไปสู่สาธารณะ ขณะที่สงครามข้อมูลข่าวสารเน้นการจัดการและควบคุมสารที่เฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะข้อมูลทางการทหาร
สหรัฐฯ มีความได้เปรียบในสงครามสื่อในเชิงรุก เนื่องจากอุสาหกรรมและบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของโลกอยู่ในสหรัฐฯ ทั้งสำนักข่าว สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อด้านบันเทิง หรือแม้แต่สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้สหรัฐฯ มีโอกาสในการจัดการความเห็นของสาธารณะ เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่สหรัฐฯ หรือโจมตีภาพลักษณ์ของศัตรู
ขณะที่จีน มีความได้เปรียบในสงครามสื่อในเชิงรับ เพราะรัฐบาลจีนสามารถควบคุมสื่อในประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จ และจีนยังพยายามรุกคืบในแนวรบนี้ โดยการเข้าไปซื้อกิจการด้านสื่อและการผลิตภาพยนตร์ของสหรัฐฯ
ในบทความครั้งต่อไป ผมจะกล่าวถึงอีก 5 แนวรบของสงครามอภิมหาอำนาจครับ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com