up-or-down

ให้อนาคตรุ่งหรือร่วง อยู่ในมือเรา

up-or-downโลกวันนี้วันสุข
คอลัมน์ : HR Tips

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ผมบังเอิญได้เห็นข่าวหนึ่งที่สะท้อนปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลง เมื่อ “เทคโนโลยีทำงานแทนคน” ได้ คนทำงานย่อมไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป

เป็นเหตุผลที่ทำให้หนังสือพิมพ์ชิคาโกซันไทม์ส ของสหรัฐได้มีคำสั่ง “เลิกจ้าง” ช่างภาพซึ่งเป็นพนักงานประจำ ให้ออกทั้งทีม จำนวน 28 คน หนึ่งในนั้นคือ จอห์น เอช ไวท์ ช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ สาขาภาพสารคดี ปี ค.ศ. 1982 ด้วย

ภาระงานของช่างภาพเหล่านี้ เมื่อถูกปลดออกจากงานแล้วจะตกอยู่กับบรรดาผู้สื่อข่าว ซึ่งจะต้องเข้าอบรมภาคบังคับเรื่องการถ่ายภาพด้วยไอโฟนเบื้องต้น เพื่อให้มีความสามารถในการรายงานข่าวด้วยวิดีโอและมัลติมีเดียอื่นๆในคนคนเดียว แม้ดูเหมือนผู้สื่อข่าวจะมีภาระงานเพิ่มขึ้น แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเลย เพราะไอโฟนสามารถบันทึกภาพได้อย่างง่ายดาย รายงานข่าวไปด้วยพร้อมๆกันได้ ขณะเดียวกันสามารถส่งข่าวได้ทันที ทันเหตุการณ์ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการรับรู้ข่าวสารได้มากกว่า

คำถามคือ อาชีพที่เรากำลังทำอยู่หรือที่เรียนจบมานั้นเป็นอาชีพที่มี “อนาคตรุ่ง” หรือ “อนาคตร่วง”? อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่เป็นเรื่องที่วิเคราะห์และคาดการณ์ได้ ที่สำคัญหากเรามองภาพอนาคตการทำงานของเราออกตั้งแต่วันนี้ ย่อมทำให้เราสามารถปรับตัวและเลือกเส้นทางอาชีพที่ทำให้เราไม่ต้องเป็นคน “เก่ง..แต่ไม่มีใครต้องการ” ในอนาคต

เราลองคาดการณ์ดูว่า อนาคตการทำงานของเราจะเป็นเช่นไร ถ้าเรายังอยู่ในสภาพปัจจุบัน โอกาสการทำงาน ของเราจะก้าวหน้าไปได้หรือไม่ ขนาดไหน เพราะเหตุใด ยกตัวอย่างเช่น

เครื่องจักร/เทคโนโลยีทดแทนเราได้หรือไม่? คนเก่งแต่อยู่ในสาขาอาชีพที่ไม่เป็นที่ต้องการ สามารถทดแทนด้วยเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญที่เคยใช้ความสามารถเฉพาะตัวขั้นสูงกลับทดแทนได้ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ง่ายจนใครๆก็ใช้ได้ คนเก่งแบบนี้จะเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้ม “ตกงาน” ค่อนข้างแน่นอน ดังนั้น เราต้องลองวิเคราะห์ ดูว่าอาชีพของเราจะไม่จำ เป็นอีกต่อไปหากเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ทำงานแทนได้

การคาดการณ์อนาคตอาชีพของเราช่วยให้เรามีเวลาในการเตรียมแผนสำรอง หรือหาทางเลือกใหม่ๆให้กับชีวิตการทำงานในอนาคต ซึ่งเป็นอาชีพที่เทคโนโลยีทดแทนไม่ได้ อาชีพที่คนสาขาอื่นทดแทนไม่ได้ และทำให้เราเป็นที่ต้องการเสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://bobackcommercialgroup.files.wordpress.com/2010/10/up-or-down.jpg