โลกาภิวัตน์ : ฮาร์วาร์ดสร้างความร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษาคิวบา

โลกกำลังเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) เข้มข้นที่เชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ผมเคยนำเสนอความคิด การศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ (Globalization-based Education) หรือการเชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกันเพื่อการศึกษาเอาไว้ในหลายเวที โดยการศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในหลักปรัชญาการพัฒนาคน 9 ประการ1 ของผม อันหมายถึงการศึกษาที่เรียนรู้และนำทรัพยากรหรือประเด็นทางการศึกษาที่มีอยู่ทั่วโลกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้แก่ผู้เรียน

ปัจจุบันการจัดการศึกษาทั่วโลกมีการเกาะเกี่ยวกับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างแพร่หลายและกว้างขวางมากยิ่งกว่ายุคใดในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายนำทรัพยากรทางการศึกษามาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้แก่ผู้เรียนร่วมกัน เช่น การสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก เป็นต้น

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวอย่างมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดมีการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือและเครือข่ายจำนวนมากทั้งกับสถาบันการศึกษา หน่วยงาน/องค์กร ชุมชน สังคม ภายในมหาวิทยาลัยและต่างประเทศทั่วโลก อันส่งผลเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและการทำวิจัยของมหาวิทยาลัย เช่น การมีศูนย์วิจัยกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 100 ศูนย์2 สำหรับเป็นศูนย์กลางการสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญสนับสนุนการเรียนรู้ของประชาคมมหาวิทยาลัยและเป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติ เป็นต้น

เช่นเดียวกันล่าสุดที่ผ่านมา จากข้อมูลเว็บไซต์ของฮาร์วาร์ดระบุตัวแทนของฮาร์วาร์ดได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา (Ministry of Higher Education) ของประเทศคิวบา โดยการลงนามครั้งนี้เป็นการทำสัญญาระหว่าง 12 วิทยาลัยของฮาร์วาร์ดและกระทรวงอุดมศึกษาของประเทศคิวบาในการสนับสนุนคณาจารย์และนักศึกษาของฮาร์วาร์ดทำวิจัยและศึกษาเรียนรู้ในประเทศคิวบา อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อคณาจารย์และนักศึกษาของฮาร์วาร์ด

การลงนามข้อตกลงระหว่างฮาร์วาร์ดและกระทรวงอุดมศึกษาของประเทศคิวบาครั้งนี้ถือเป็นการขยายโอกาสทางด้านการวิจัยและการทำงานร่วมกันระหว่างฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศคิวบาที่สำคัญ เช่น การเปิดหลักสูตรระยะสั้น การฝึกงาน การตีพิมพ์บทความวิจัย และการประชุมและการปฏิบัติการเชิงวิชาการ) เป็นต้น อีกทั้งข้อตกลงดังกล่าวยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนของประเทศคิวบาสมัครเข้าศึกษาต่อที่ฮาร์วาร์ดและโปรแกรมต่าง ๆ ของฮาร์วาร์ดด้วยเช่นเดียวกัน

การสร้างความร่วมมือระหว่างฮาร์วาร์ดและกระทรวงอุดมศึกษาของประเทศคิวบามีประโยชน์อยู่หลายประการ ซึ่งกระแสโลกาภิวัตน์อันเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง นับว่ามีบทบาทสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการร่วมมือดังกล่าวนี้ อันเป็นการทะลายกำแพงพรมแดนทำให้การเชื่อมต่อระหว่างกันสามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การศึกษาและการสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ ต้องอาศัยการพัฒนาต่อยอดระหว่างกัน

ในบริบทของการจัดการศึกษาและการสร้างองค์ความรู้เช่นเดียวกัน สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ในการพัฒนาผู้เรียนและต่อยอดองค์ความรู้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถเป็นไปได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและการสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญอีกทางหนึ่ง ครับ

 

[1] หลักปรัชญาการพัฒนาคน 9 ประการ ประกอบด้วย การศึกษาบนฐานปรัชญา (Philosophy based Education) การศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ (Globalization based Education) การศึกษาบนฐานการบูรณาการ (Integration based Education) การศึกษาบนฐานสมรรถนะ (Competency based Education) การศึกษาบนฐานการเมือง (Politics based Education) การศึกษาบนฐานเศรษฐกิจ (Economic based Education) การศึกษาบนฐานเทคโนโลยี (Technology based Education) การศึกษาบนฐานวัฒนธรรม (Culture based Education) และการศึกษาบนฐานมนุษย์ (Human based Education).

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.harvard.edu/on-campus/research

 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 32 วันศุกร์ 20 – พฤหัสบดี 26 เมษายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *