โรฮิงญา: ช่วยเหลือได้ด้วยมนุษยธรรมอย่างชาญฉลาด

นับตั้งแต่ชาวโรฮิงญาอพยพออกจากรัฐยะไข่ ในเมียนมา หรือจากค็อกซ์ บาซาร์ บังกลาเทศ ในห้วงปี 2558 และมีการยุติไประยะหนึ่ง จนกระทั่งช่วงต้นเดือนเมษายน 2561 นี้ ได้มีชาวโรฮิงญาหนีออกจากถิ่นฐานเดิมมายังประเทศไทยโดยทางเรืออีกครั้ง หลังจากรัฐบาลเมียนมาเริ่มกวาดล้างชาวโรฮิงญาขนานใหญ่ในเดือนสิงหาคม 2560 จนมีชาวโรฮิงญาอพยพไปยังประเทศบังกลาเทศราว 600,000 – 700,000 คน ขณะเดียวกันบังกลาเทศเรียกร้องโลกกดดันเมียนมารับโรฮิงญากลับประเทศ

แม้บังกลาเทศระบุว่าได้บรรลุข้อตกลงกับเมียนมาในช่วงเดือนต้นปี 2561 และเตรียมส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับประเทศ 1,500 คนต่อสัปดาห์ จากความต้องการของบังกลาเทศ 15,000 คนต่อสัปดาห์ โดยคาดว่าจะมีการส่งคืนผู้ลี้ภัยกลับประเทศราว 156,000 คน ภายใน 2 ปี

ล่าสุด มีการรายงานว่ามีครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญา 5 คนเดินทางถึงค่ายพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้คืนถิ่นในเมืองหล่าโปข่อง ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่แล้ว ทว่ายังไม่ได้บัตรมอบสัญชาติความเป็นพลเรือนชาวเมียนมา เพราะต้องรอดำเนินการตามระบบส่งตัวกลับประเทศ ทำให้องค์กรช่วยเหลือต่าง ๆ ต่างแสดงความกังวลว่าผู้ลี้ภัยจะถูกบีบบังคับให้เดินทางกลับประเทศ เนื่องด้วยยังเป็นการยากที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับคืนประเทศอย่างปลอดภัยและมีเกียรติ การแบ่งแยกชาติพันธุ์ยังคงอยู่ ผู้ลี้ภัยควรจะเดินทางกลับประเทศก็ต่อเมื่อพวกเขารู้สึกปลอดภัย

หลังจากการพบเรือบรรทุกผู้อพยพชาวโรฮิงญา 56 ชีวิต ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังประเทศมาเลเซีย แต่ได้จอดแวะหลบพายุที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและมาเลเซียร่วมมือกัน ในการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงญาตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ กล่าวคือ การกำหนดมาตรการดูแลผู้อพยพให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ และไม่ควรใช้วิธีผลักดันออกไป เพราะเราไม่สามารถรับรองได้ว่า เขาจะถึงจุดหมายหรือเปล่า เขาจะต้องเผชิญอะไรบ้าง หากเดินทางในทะเลต่อไป

อย่างไรก็ตาม เราต้องเข้าใจในประการแรกว่า ต้นทางการอพยพของชาวโรฮิงญา มาจากทั้งประเทศเมียนมาและบังกลาเทศอย่างละครึ่ง และเกิดจากหลากหลายสาเหตุผสมผสานกัน ทั้งความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งทางศาสนา แรงกดดันจากรัฐบาล การถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพความเป็นมนุษย์ การกล่าวหาว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงข้อพิพาทระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศ เป้าหมายของการอพยพ คือ การย้ายไปยังประเทศที่สามที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือประเทศไทยก็เป็นได้

ประการต่อมา ความเข้าใจในบทบาทของประเทศไทย คือ การมีจุดยืนเป็นประเทศกลางทางหรือประเทศทางผ่านเท่านั้น ไม่ใช่ประเทศที่สาม รัฐบาลต้องยืนหยัดในบทบาทนี้ กล่าวคือ ไม่สามารถให้ผู้อพยพชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งหรือแผ่นดินไทยได้ แต่ต้องให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมตามกำลังและความสามารถของประเทศ

นอกจากนี้ ด้วยความต้องการอพยพของชาวโรฮิงญาไปประเทศที่สามมีจำนวนมาก ทำให้เป็นการยากในการลำเลียงหรืออพยพได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดเป็นช่องโหว่สำหรับกลุ่มคนที่หวังผลประโยชน์จากการอพยพของชาวโรฮิงญา โดยทำผ่านรูปแบบการค้ามนุษย์และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลเสียต่อประเทศไทยอย่างมาก รวมถึงเป็นสาเหตุและที่มาของความกดดันจากนานาประเทศ

ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางหลักและกรอบความคิดให้ครอบคลุม ครบถ้วน และชัดเจน เพื่อนำไปสู่การกำหนดวิธีปฏิบัติ ยุทธศาสตร์และแผนการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ในที่นี้ ผมขอแบ่งการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาตามมุมมองตามความคิดของผม เป็น 2 ระยะ ได้แก่ การแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว

  • การแก้ปัญหาระยะสั้น คือ การช่วยเหลือตามสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าให้สำเร็จและลุล่วงไปด้วยดีตามหลักมนุษยธรรมที่ทุกคนพึงมี กล่าวคือ การให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่บนเรือกลางทะเลอันดามัน ไม่ให้ได้รับอันตรายแก่ชีวิต โดยการช่วยเหลือนี้ เป็นความร่วมมือและการให้ความสนับสนุนจากทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเท็จจริง วิเคราะห์สถานการณ์ และแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ให้ความกดดันมาตกอยู่กับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ซึ่งคุณภาพและปริมาณเรือคงยากมากที่จะมีเพียงพอหากไม่ใช้ทุกประเทศช่วยร่วมมือกัน

ข้อเสนอแนะระยะสั้นสำหรับประเทศไทย คือ แสวงหาดินแดนหรือเกาะร้างในน่านน้ำสากล ที่ไม่เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับพักพิงแก่ชาวโรฮิงญา ในระหว่างเดินทางไปประเทศที่ 3 หรือหากไม่มีเกาะจริงๆ ควรร่วมกันหาเรือที่มีความปลอดภัยและขนาดที่ได้มาตรฐาน เป็นที่พักพิงแก่ชาวโรฮิงญา เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียแม้สักชีวิตเดียว

  • การแก้ปัญหาระยะยาว คือ จะต้องไม่มีการอพยพของชาวโรฮิงญาเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต กล่าวคือ จะทำอย่างไรไม่ให้ชาวโรฮิงญาที่ยังไม่ได้อพยพ ไม่ต้องอพยพออกมา โดยสามารถอยู่อาศัยที่ประเทศเมียนมาหรือบังกลาเทศต่อไปได้ ซึ่งสิ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ คือ ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน จากทุกฝ่าย ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 15 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ออสเตรเลีย เป็นต้น เพื่อช่วยในการถกแถลงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง  พร้อมทั้งวางกรอบกฎหมาย แผน ยุทธศาสตร์ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อชาวโรฮิงญาทุกรุ่นได้

ข้อเสนอแนะในระยะยาวสำหรับประเทศไทย คือ ประเทศไทยต้องฉลาดในการสร้างกระแสให้ทุกชาติมาร่วมกันให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญา โดยประเทศไทยอาจสวมบทบาทเป็นเจ้าภาพ และยินดีเป็นผู้ประสานงานต่างๆ หากทุกประเทศพร้อมที่จะร่วมมือกัน โดยเฉพาะการร่วมมือเพื่อกดดันให้ประเทศสหรัฐอเมริกายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและเจรจากับประเทศพม่า เพราะสหรัฐอเมริกามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองกับประเทศเมียนมา นอกจากนี้กลุ่มประเทศอาเซียนควรเข้ามามีบทบาทในการเจรจา ต่อรองกับประเทศเมียนมาเช่นกัน

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศต้นเหตุของปัญหาชาวโรฮิงญา ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การกลับไปแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาหรือที่ประเทศต้นน้ำ ผ่านความร่วมมือ การให้ความสนับสนุน และการมีส่วนร่วมจากทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มที่ประเทศเมียนมาควรแสดงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้บ้าง ประเทศมหาอำนาจต้องยืนอย่างมีสันหลัง คือ ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่าง รวมถึงองค์การหรือหน่วยงานช่วยเหลือระหว่างประเทศต่างๆ ต้องไม่ผลักภาระปัญหาให้ประเทศหนึ่งประเทศใดรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม จากกระแสเรื่องราวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นมากมาย สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น คือความเกลียดชังต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการปั่นกระแสข่าว ให้ข้อมูลเท็จจนเกิดความเข้าใจผิดหรือความไม่จริงทั้งมวลขึ้น เรื่องราวของชาวโรฮิงญาเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และในฐานะเพื่อนมนุษย์เราควรให้ความช่วยเหลือในระดับที่ทำได้ ด้วยการแสดงออกถึงการมีมนุษยธรรมอย่างชาญฉลาด

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *