ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในหนังสือ แหกคุกทางปัญญา : สะท้อนคิดฝ่าวิกฤตการศึกษาไทย ว่า ควรมีการปรับเนื้อหาหลักสูตรให้มีความสมดุลในด้านต่าง ๆ เช่น มีความสมดุลด้านการสอนภาคปฏิบัติกับภาคทฤษฎี เป็นต้น และในการศึกษาระดับอุดมศึกษาควรเป็นการศึกษาเพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาของสังคม ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการค้นคว้าด้วยตนเอง ส่งเสริมบทบาทนักศึกษาให้มีกิจกรรมเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้การศึกษาเป็นเรือนเพาะชำทางปัญญาอย่างแท้จริง
- การปรับเนื้อหาให้มีความสมดุลด้านการสอนและภาคปฏิบัติกับภาคทฤษฎี
- การให้นักศึกษามีโอกาสค้นคว้าด้วยตนเอง และ
- การส่งเสริมบทบาทนักศึกษาให้มีกิจกรรมเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นดังกล่าวนี้
เป็นแนวทางส่งเสริมให้นักศึกษาได้รับการพัฒนาความเจริญงอกงามทางด้านสติปัญญาที่สำคัญ ทำให้เกิดการตกผลึกทางความรู้และความคิด มีความเข้าใจที่แจ่มกระจ่าง ลึกซึ้ง ถ่องแท้ ด้วยว่าผ่านกระบวนการเรียนรู้ ทดลอง และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญกับแนวทางการจัดการศึกษาเช่นว่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังตัวอย่างกิจกรรมของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เรียกว่า โครงการความเห็นของสาธารณชนของฮาร์วาร์ด (Harvard Public Opinion Project) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีฮาร์วาร์ดจากหลากหลายสาขาวิชามีส่วนร่วมทำการสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของพลเมืองท่ามกลางกลุ่มเยาวชนอเมริกันอายุ 18 ถึง 29 ปี จำนวนระหว่าง 2,000 – 3,000 คน เป็นประจำปีละ 2 ครั้งตามแต่ละภาคการศึกษา โดยมีผู้อำนวยการการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันการเมือง ณ วิทยาลัยเคนเนดี้สคูล เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา
การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว สมาชิกที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีจะร่วมกันระดมความคิดเห็นและเขียนข้อคำถามสำหรับการสำรวจความคิดเห็น วิเคราะห์การเก็บรวบรวมข้อมูล และนำเสนอผลต่อสื่อมวลชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 โครงการความเห็นของสาธารณชนของฮาร์วาร์ดจัดให้มีการสำรวจความคิดเห็นและนำเสนอผลผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น นิวยอร์กไทมส์ (New York Times) วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) วอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ยูเอสเอทูเดย์ (USA Today) สถานีวิทยุสาธารณะของอเมริกา (NPR) ฟ็อกซ์นิวส์ (Fox News) โปลิติโค (POLITICO)
ตัวอย่างผลการสำรวจความคิดเห็นบางส่วนของโครงการความเห็นของสาธารณชนของฮาร์วาร์ดช่วงที่ผ่านมา เช่น เกือบ 2 ใน 3 ของเยาวชนอเมริกันกลัวเกี่ยวกับอนาคตประชาธิปไตยในอเมริกา เยาวชนอเมริกันไว้วางใจการบริหารจัดการวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมากที่สุด เป็นต้น
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 35 วันศุกร์ 11 พฤษภาคม – พฤหัสบดี 17 พฤษภาคม 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com