แลนด์มาร์คเจ้าพระยา เดินหน้าอย่างไรให้ได้มากกว่าเสีย?

         ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปแสดงความคิดเห็นในรายการ “เถียงให้รู้เรื่อง” ทางช่อง Thai PBS ในหัวข้อ “เดินหน้าแลนด์มาร์คเจ้าพระยา ได้คุ้มเสียจริงหรือ?” ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของคนไทยจำนวนมาก หลังจากรัฐบาลพยายามผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะแรก 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม7 ถึงสะพานปิ่นกล้าทั้งสองฝั่ง มูลค่า 14,000 ล้านบาท จากทั้งโครงการ 57 กิโลเมตร 

         โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นจุดพักผ่อนชมวิวและมีเลนสำหรับขี่จักรยาน และเพื่อเป็นสัญลักษณ์หรือแลนด์มาร์คใหม่ให้แก่ประเทศไทยและคนกรุงเทพฯ รวมทั้งเพื่อให้ใช้ประโยชน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างคุ้มค่า ทั่วถึง และเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศให้เกิดทัศนียภาพสวยงามเหมือนต่างประเทศ
         การดำเนินโครงการนี้มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นกังวลถึงการทำโครงการที่ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ และไม่ได้มีการออกแบบให้เหมาะสม อาจทำให้เกิดผลกระทบทางลบแก่ชุมชนโดยรอบ ทำลายประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบริเวณริมแม่น้ำ รวมทั้งสร้างผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม จากการสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ความสามารถในการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง 
         โดยความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่าการทำโครงการแลนด์มาร์คเจ้าพระยานี้น่าจะทำให้เกิดผลดีในระยะยาวต่อประเทศ ดังเห็นได้จากตัวอย่างของหลายประเทศที่มีโครงการลักษณะเดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ หรือ ฝรั่งเศส เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดการดำเนินการที่เหมาะสมตั้งแต่ขั้นตอนการคิดและออกแบบโครงการอาจทำให้โครงการนี้ล้มเหลวได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากมีส่วนในการเสนอแนะความคิดเห็นต่อการพัฒนาแลนด์มาร์คเจ้าพระยาให้เดินหน้าแบบได้มากกว่าเสีย ดังต่อไปนี้
         ไม่เพียงคำนึงถึงประชาชนบริเวณริมแม่น้ำเท่านั้น แต่การออกแบบโครงการควรคำนึงถึงคนกรุงเทพทั้งหมด รวมทั้งคนไทยทั้ง 77 จังหวัด 57 เผ่าพันธุ์ และคนทั่วโลก 244 ประเทศ
         โดยส่วนใหญ่เมื่อกล่าวถึงโครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่ชาวบ้านริมแม่น้ำและคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคนกลุ่มหลักที่ควรคำนึงถึง เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ผมเห็นว่าหากจะทำโครงการนี้ให้สำเร็จในระยะยาวต้องคำนึงถึงกลุ่มคนที่กว้างกว่านั้น คือ ต้องคำนึงถึงคนไทยทั้งหมด 77 จังหวัด 57 เผ่าพันธุ์ในประเทศไทยด้วย เนื่องจากคนเหล่านี้มีมรดกทางความคิดและมีตัวแทนอยู่ในกรุงเทพฯ อีกทั้งงบประมาณที่นำมาใช้ในการลงทุนในโครงการนี้เป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ผลตอบแทนที่ได้จากการทำโครงการควรกระจายไปยังประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะเพียงบางกลุ่ม
         นอกจากนี้กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองมหานครที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน (cosmopolitan city) เป็นเมืองที่เกี่ยวโยงกับโลก กับคนอีก 244 ประเทศ ที่มีตัวแทนอยู่ในกรุงเทพฯ มาค้าขาย มาอยู่อาศัยร่วมกันกับเรา ดังนั้นการออกแบบพื้นที่บริเวณนี้ในเชิงแนวคิดแล้วควรคำนึงถึงคนอีก 244 ประเทศจากทั่วโลกด้วย
         ไม่เพียงคำนึงถึงเฉพาะมิติเศรษฐกิจ แต่ต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่ละมิติอย่างครบถ้วนและรอบด้าน 
         วัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งของโครงการนี้ คือ การพัฒนาแลนด์มาร์คให้แก่ประเทศไทยและคนกรุงเทพฯ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้จากโครงการนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องการท่องเที่ยวเท่านั้น ต้องคำนึงด้วยว่าจะออกแบบโครงการอย่างไรให้เศรษฐกิจในมิติอื่นได้ประโยชน์ด้วย เช่น โลจิสติกส์ทางน้ำ การขนส่งจะได้ประโยชน์อย่างไร เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนัก
         ขณะที่มิติทางด้านสังคมเป็นด้านที่ได้รับความสนใจมากว่า โครงการนี้ต้องทำให้สิ่งแวดล้อมต้องดีขึ้น ไม่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมมากขึ้นอย่างที่ฝ่ายคัดค้านกังวล และต้องทำให้วัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านริมแม่น้ำได้รับการอนุรักษ์ ผลกระทบทางสังคมที่วัดไม่ได้ด้วยเงิน เช่น วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ศาสนสถานหรือโรงเรียนที่ต้องเคลื่อนย้ายต้องได้รับการดูแล ซึ่งประเด็นเหล่านี้หลายฝ่ายให้ความสำคัญอยู่แล้ว
         อย่างไรก็ตามมิติสำคัญที่ไม่มีใครกล่าวถึงเลยในการทำโครงการนี้ คือ มิติทางการเมือง ซึ่งผมคิดว่าควรจะต้องพิจารณาด้วยว่าการทำโครงการนี้จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างไรในมิติการเมือง เช่น จะทำให้คนมีพื้นที่สาธารณะสามารถแสดงความเห็นในการกำหนดทิศทางประเทศได้มากขึ้นหรือไม่ เป็นต้น
         ไม่เพียงเป็นบทบาทของรัฐ แต่ต้องร่วมมือกันระหว่างรัฐกิจ ประชากิจ และธุรกิจ
         หลายฝ่ายเห็นด้วยกับแนวคิดในการดำเนินโครงการ แต่คัดค้านในเรื่องของรูปแบบและวิธีการดำเนินโครงการ เนื่องจากภาครัฐแสดงถึงความต้องการจากโครงการนี้และดำเนินการโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเพียงพอ โดยเดินหน้าไปก่อนและฟังความเห็นของประชาชนภายหลัง  
         รูปแบบและการดำเนินการในโครงการไม่ควรมาจากภาครัฐเป็นหลัก แต่ควรมีตัวแทนชุมชนในพื้นที่และตัวแทนภาคประชาสังคมนอกพื้นที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น ที่สำคัญ คือ ภาคธุรกิจ ซึ่งยังไม่มีคำอธิบายจากภาครัฐว่าจะให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้ในจุดไหนอย่างไร ทั้งที่ภาคธุรกิจมีศักยภาพ และมีจำนวนมากที่ต้องการทำเพื่อสังคม รวมทั้งมีเงินทุนที่อาจเข้ามามีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐได้ ภาครัฐควรจะดึงประชาชนและภาคธุรกิจเข้ามาเป็นพันธมิตรและดำเนินการอย่างใกล้ชิดในโครงการนี้ 
         นอกจากประเด็นต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นแล้ว ภาครัฐไม่ควรเพียงคำนึงถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณนั้นเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงปัจจุบันและคาดการณ์ไปในอนาคตว่ากรุงเทพฯ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ทันสมัยและยังรักษามรดกทางประวัติศาสตร์ไปด้วยในขณะเดียวกัน
         ผมคิดว่าการดำเนินการโครงการใดก็ตามให้สำเร็จ จะต้องมีความชัดเจนในเชิงหลักคิดเสียก่อน ผมหวังว่าแนวคิดที่ผมเสนอแนะบางส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โครงการแลนด์มาร์คเจ้าพระยาเดินหน้าและได้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติอย่างแท้จริง

ภาพที่ 1 โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

99bhhhabbckb8ae95dkeb
ที่มา: http://daily.bangkokbiznews.com/detail/209342

ภาพที่ 2 หลักการแนวคิดโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

I229-U18
ที่มา: www.buildernews.in.th 4 เม.ย. 59

ภาพที่ 3 TOR โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

capture-20160623-112626
ที่มา: www.buildernews.in.th 4 เม.ย. 59

ที่มา: Mix Magazine
ISSUE 115 June 2016

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://img.tnews.co.th/tnews_1459258786_6996.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *