แนวคิดประสิทธิภาพ : ฮาร์วาร์ดบริหารเน้นประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด

ผมนำเสนอความคิดเกี่ยวกับ โมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E หรือ Dr. Dan Can Do 8E Management Strategy Model ในหลายบทความก่อนหน้านี้ โดยแบ่งแยกย่อยเป็นแต่ละยุทธศาสตร์ บทความครั้งนี้เช่นเดียวกันผมขอเสนอยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิภาพ (Efficiency) หรือยุทธศาสตร์การบริหารปัจจัยนำเข้า (Input) ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้ปัจจัยนำเข้าน้อยที่สุด แต่เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด อันเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในโมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E ของผม

ประสิทธิภาพเกิดมาจากคำ 2 คำ คือ “ประสิทธิ” + “ภาพ” โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า ประสิทธิ” หมายถึง ความสำเร็จหรือทำให้สำเร็จ ขณะที่คำว่า “ภาพ” หมายความถึง ความมี ความเป็น

เมื่อนำคำ 2 คำมารวมเข้าด้วยกัน ผมจึงให้ความหมายใหม่ว่าคือ การบริหารจัดการปัจจัยนำเข้า เช่น คน ทุน เวลา วัสดุอุปกรณ์ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้ปัจจัยนำเข้าน้อยที่สุด แต่เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด

ประสิทธิภาพเป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการปัจจัยนำเข้าให้ประสบความสำเร็จ อันจะส่งผลช่วยลดความสูญเปล่าของทรัพยากรในระบบ ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

หากพิจารณากรณีของฮาร์วาร์ด ผมเห็นว่าสะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิภาพของผมดังกล่าวนี้หลายกรณีด้วยกัน เช่น การขับเคลื่อนผลักดันมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ทั้งการปรับปรุงอาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน เช่น การนำกระจกมาใช้เป็นส่วนประกอบของตัวอาคารสำหรับเพิ่มปริมาณแสงสว่าง การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์สำหรับนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ในการต้มน้ำ รวมถึงการปรับปรุงระบบการขนส่งภายในมหาวิทยาลัย ด้วยการส่งเสริมการใช้จักรยาน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ เช่น การนำน้ำฝนมาใช้ในห้องน้ำ การติดตั้งหัวฝักบัวและก๊อกน้ำรุ่นประหยัดน้ำในหอพัก ห้องเรียน อาคาร และการปรับปรุงภูมิทัศน์แบบออแกนิค ลดการใช้น้ำตลอดทั่วมหาวิทยาลัย ทั้งนี้จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุในปีแรกที่นำวิธีการดังกล่าวนี้มาใช้ ณ ลานฮาร์วาร์ด (Harvard Yard) สามารถลดการใช้น้ำถึงร้อยละ 30 หรือมากกว่า 2,000,000 แกลลอนต่อปี

ท่ามกลางโลกที่มีความสลับซับซ้อนและความจำกัดของทรัพยากร การนำยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิภาพมาใช้จะเป็นประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยลดความจำกัด เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร ทำให้ทรัพยากรต่าง ๆ ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อันจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง

มหาวิทยาลัยไทยเราสามารถนำยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิภาพดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนามหาวิทยาลัยด้วยหลากหลายวิธีการ เช่น การบริหารทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ให้ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ การพัฒนารูปแบบใหม่ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยหรือระหว่างคณะ อันจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตที่ทรัพยากรต่าง ๆ คาดว่าจะมีความจำกัดมากยิ่งขึ้น

 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ 27 ตุลาคม – พฤหัสบดี 2 พฤศจิกายน 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *