ผมนำเสนอความคิดเกี่ยวกับ โมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E หรือ Dr. Dan Can Do 8E Management Strategy Model ในหลายบทความก่อนหน้านี้ บทความครั้งนี้เช่นเดียวกันผมขอเสนอยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคุณ (Esteemed–Valuableness) หรือยุทธศาสตร์การบริหารที่ขับเคลื่อนด้วยระบบคุณค่าแท้จริง อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอีกยุทธศาสตร์หนึ่งของโมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E ของผม
ประสิทธิคุณเป็นศัพท์ที่ผมบัญญัติขึ้นอันเกิดมาจากคำ 2 คำ คือ “ประสิทธิ” + “คุณ” โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า ประสิทธิ หมายถึง ความสำเร็จหรือทำให้สำเร็จ ขณะที่คำว่า คุณ หมายความถึง ความดีที่มีประจำอยู่ในสิ่งนั้น ๆ ความดีที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำคำ 2 คำมารวมเข้าด้วยกัน ผมจึงให้ความหมายว่า การทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จอย่างมีประโยชน์และเกิดคุณค่าแท้จริง
"ประสิทธิคุณ"
เป็นการบริหารจัดการผลลัพธ์หรือความสำเร็จของงานที่ขับเคลื่อนด้วยระบบคุณค่าที่ถูกต้องหรือคุณค่าที่แท้จริง
ที่มิเพียงมุ่งให้ความสำคัญกับผลผลิต (output) หรือสิ่งที่ได้ออกมาจากกระบวนการผลิตที่เป็นรูปธรรมหรือรับรู้ได้เท่านั้น
แต่มุ่งให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ (outcome) หรือผลประโยชน์ที่ได้จากผลผลิตนั้นด้วย
โดยที่ผลลัพธ์ดังกล่าวนั้นมีประโยชน์หรือคุณค่าแท้จริง
การนำยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคุณมาประยุกต์ใช้จึงจะเป็นประโยชน์ช่วยให้การดำเนินงานมิเพียงหยุดอยู่เฉพาะเป้าหมายของผลผลิต เช่น จำนวนโครงการที่ผ่านการอนุมัติ จำนวนคนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวนบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา แต่มุ่งให้ความสำคัญกับเป้าหมายของผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตนั้นด้วย เช่น ปัญหาสังคมและชุมชนท้องถิ่นได้รับการจัดการแก้ไขภายหลังจากการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีคุณภาพและสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น
หากพิจารณากรณีของฮาร์วาร์ด ผมเห็นว่าสะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคุณของผมดังกล่าวนี้หลายกรณีด้วยกัน เช่น การที่ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญอย่างมากกับคุณภาพการศึกษา แต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาจากรั้วฮาร์วาร์ดเป็นจำนวนหลายพันคน ข้อมูลล่าสุดของฮาร์วาร์ดระบุเฉพาะพิธีรับปริญญาครั้งที่ผ่านมามีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาเข้าร่วมทั้งหมดกว่า 7,066 คน ผู้สำเร็จการศึกษาเหล่านี้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะหล่อหลอมให้เป็นคนคุณภาพ มีสมรรถนะเป็นที่ต้องการ ของหน่วยงาน องค์กร สะท้อนบางส่วนผ่านข้อมูลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของสำนักการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก Quacquarelli Symonds หรือ QS ปีล่าสุดที่ระบุถึงผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยต่อผู้จ้างงาน (Employer Reputation) ของฮาร์วาร์ดพบว่าอยู่ที่ร้อยละ 100 ขณะที่อัตราการจ้างงานบัณฑิตอยู่ที่ร้อยละ 86.1
Community Enterprise Project เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญของยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคุณของผมดังกล่าวนี้ จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุออกแบบให้นักศึกษาของวิทยาลัยกฎหมายฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) มีส่วนร่วมให้บริการความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้รับบริการรายบุคคล และที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ประกอบการ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และองค์กรฐานชุมชน ในการริเริ่มธุรกิจ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวครอบคลุมประเด็นสำคัญทางด้านกฎหมาย เช่น การทบทวนข้อตกลงและการเจรจาต่อรอง การบริการเช่าทรัพย์สินทุกประเภท การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินทางปัญญา การอนุญาตและใบอนุญาต ทั้งนี้นอกจากนักศึกษาที่เข้าร่วมจะได้ฝึกปฏิบัติทางด้านกฎหมายแล้วยังมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นไปด้วยพร้อมกัน ด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ในการดำเนินธุรกิจของตนเอง
มากยิ่งไปกว่านั้น ฮาร์วาร์ดยังมีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่บริหารจัดการโดยนักศึกษาชื่อว่า Phillips Brooks House Association เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคมตามประเด็นที่ตนเองสนใจ จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดแต่ละปีมีอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ดจำนวนกว่า 1,500 คน ทำงานร่วมกับหุ้นส่วนชุมชนขององค์กรดังกล่าวนี้ในการขับเคลื่อนโปรแกรมบริการและปฏิบัติการทางสังคม มากกว่า 80 โปรแกรม สร้างผลกระทบนำการพัฒนามาสู่เศรษฐกิจสังคมของชุมชนท้องถิ่น เช่น การมีส่วนช่วยพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนท้องถิ่นในบอสตันและเคมบริดจ์
กรณีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สะท้อนตัวอย่างบางส่วนของแนวทางการบริหารจัดการที่มุ่งให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ขับเคลื่อนด้วยระบบคุณค่าที่ถูกต้องหรือคุณค่าที่แท้จริงของฮาร์วาร์ด อันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อมหาวิทยาลัยไทยในการศึกษาเรียนรู้
ท้ายที่สุดนี้ ผมคิดว่า ยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิคุณจะเป็นประโยชน์สำหรับมหาวิทยาลัยไทย จะส่งผลช่วยให้การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยมุ่งให้ความสำคัญกับเป้าหมายของผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตมากกว่าการหยุดอยู่เพียงเป้าหมายของผลผลิตที่ผลิตออกมาแต่เพียงเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้ผมเห็นว่าจึงจะทำให้การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยก่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าแท้จริงครับ
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 2 วันศุกร์ 22 – พฤหัสบดี 28 กันยายน 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com