แนวคิดประสิทธิกาล : ฮาร์วาร์ดบริหารเน้นความคงทน ผลที่ยั่งยืน

“หาก…เห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้น

อาจ…บั่นความสำเร็จระยะยาว”

ผมนำเสนอความคิดเกี่ยวกับ โมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E หรือ Dr. Dan Can Do 8E Management Strategy Model ในหลายบทความก่อนหน้านี้ โดยแบ่งแยกย่อยเป็นแต่ละยุทธศาสตร์ บทความครั้งนี้เช่นเดียวกันผมขอเสนอยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิกาล (Eschatonicity) หรือยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่เน้นความคงทน ผลที่ยั่งยืน ทะลุมิติข้ามกาลเวลา อันเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในโมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E ของผม

ในกระบวนการการบริหารจัดการหากหวังแต่ผลลัพธ์ระยะสั้นเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอกับการรักษาความสำเร็จจำเป็นต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวด้วยเช่นเดียวกัน

ประสิทธิกาลเป็นศัพท์ที่ผมบัญญัติขึ้นอันเกิดมาจากคำ 2 คำ คือ “ประสิทธิ” + “กาล” โดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามคำว่า ประสิทธิ หมายถึง ความสำเร็จหรือทำให้สำเร็จ ขณะที่คำว่า “กาล” หรือ “กาละ” หมายความถึง เวลา ครั้ง คราว หน เมื่อนำคำ 2 คำมารวมเข้าด้วยกัน ผมจึงให้ความหมายใหม่ว่า การเน้นความคงทน ผลที่ยั่งยืน ทะลุมิติข้ามกาลเวลา เป็นการคำนึงถึงอนาคตและผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

ประสิทธิกาลเป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการผลลัพธ์ให้ประสบความสำเร็จ อันจะส่งผลช่วยให้เกิดผลยั่งยืนนาน ยืนยาวสุดปลายปริมณฑลกรอบเวลา จนนำถึงความยั่งยืนที่แท้จริง เกิดผลดีมิเพียงเฉพาะกาลนี้ แต่มีประโยชน์ถึงอนาคต ข้ามกาลเวลา โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารคือ การทำให้ผลลัพธ์ที่เลอค่ายั่งยืนยาวนาน เช่น ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกานับรวมระยะเวลาแล้วเป็นเวลาเกือบ 400 ปี

หากพิจารณากรณีของฮาร์วาร์ด ผมเห็นว่าสะท้อนความคิดยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิกาลของผมดังกล่าวนี้หลายกรณีด้วยกัน เช่น จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุ ปัจจุบันฮาร์วาร์ดมีเงินกองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย (Endowment fund) มากกว่า 37.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ อันเป็นผลิตผลจากการบริหารจัดการการเงินและการระดมทุนจากหลายแหล่ง เช่น การระดมทุนและรับเงินบริจาคจากศิษย์เก่า การเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา และอื่น ๆ ส่งผลสนับสนุนให้ฮาร์วาร์ดสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การนำมาใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนสติปัญญาเลิศจากทั่วโลก โดยลดอุปสรรคทางการเงินและเพิ่มโอกาสการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกให้แก่เด็กนักเรียนเหล่านี้ คุณภาพการศึกษาของฮาร์วาร์ดส่วนหนึ่งสะท้อนจากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลกของสำนักการจัดอันดับทั่วโลก โดยในที่นี้ฮาร์วาร์ดถูกจัดให้อยู่อันดับต้นของโลกติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานหลายปี

นอกจากนี้ ข้อมูลของฮาร์วาร์ดยังระบุอีกด้วยว่า ปัจจุบันฮาร์วาร์ดมีศิษย์เก่าที่ยังมีชีวิตอยู่ยึดโยงเป็นเครือข่ายเกาะเกี่ยวกันอย่างเหนียวแน่นมากกว่า 371,000 คน ในจำนวนนี้มากกว่า 279,000 คน อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และมากกว่า 59,000 คน อาศัยอยู่ใน 202 ประเทศทั่วโลก กลุ่มศิษย์เก่าเหล่านี้มีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัย และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรักษาความสำเร็จอย่างยั่งยืนของฮาร์วาร์ด เช่น การมีส่วนร่วมสนับสนุนทางการเงินและการสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย การมีส่วนร่วมในกิจกรรมสนับสนุนทางวิชาการ การมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยให้แก่กลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายตามโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันโลกกำลังให้ความสำคัญกับมิติของความยั่งยืนมากขึ้น การนำยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิกาลดังกล่าวนี้มาใช้จะส่งผลช่วยให้การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยมิเพียงมุ่งหวังผลที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น แต่จะคำนึงถึงอนาคตและผลที่จะเกิดขึ้นระยะยาวเป็นสำคัญ

มหาวิทยาลัยไทยเราสามารถนำยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิกาลดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนามหาวิทยาลัยหลากหลายวิธี เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรเชิงรุก มุ่งสู่การพึ่งตนเองระยะยาวอย่างยั่งยืน อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อการพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมด้วยอีกทางหนึ่ง

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดคำคมของผมที่ว่า “คนมีวิสัยทัศน์ไม่ทำอะไรเพื่อวันนี้ แต่จะทำให้ดีเพื่อพรุ่งนี้และวันข้างหน้า”  ครับ

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ 13 – พฤหัสบดี 19 ตุลาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *