โลกวันนี้วันสุข
คอลัมน์ :?HR Tips
ความสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อนมีหลายระดับ บางคนเป็นเพียงเพื่อนกิน เพื่อนเที่ยว เพื่อนคุย เพื่อนที่คบเพื่อหวังผลประโยชน์ เพื่อนที่ดีแต่พูด เพื่อนที่ตีตัวออกห่างยามยากลำบาก เพื่อนที่ไว้ใจไม่ได้ ฯลฯ
ขณะเดียวกันก็มีเพื่อน ที่เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนรัก เพื่อนตาย มิตรแท้ สหายสนิท ที่หยิบยื่นมิตรภาพให้เพื่อนทั้งในยามสุขยามทุกข์ คอยช่วยเหลือเกื้อกูล
ในที่ทำงาน เราควรเป็นเพื่อนร่วมงานแบบใด?
เราอาจเลือกงานได้ แต่ถ้าไม่ใช่เจ้าขององค์กรย่อมไม่สามารถเลือกเพื่อนร่วมงานได้ เราจึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับคนที่อาจมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การที่เราจะร่วมงานกันอย่างมีความสุขควรยินดีและพร้อมที่จะเป็นผู้ริเริ่มการเป็นเพื่อนแท้ หรือเป็น “อารยมิตร” ที่สามารถมอบความเป็นเพื่อนให้กับทุกคน
การเป็นอารยมิตรมี 3 ลักษณะ ได้แก่ กัลยาณมิตร ปิยมิตร และชีวมิตร
“กัลยาณมิตร” หรือ “มิตร ที่ดีงาม” การที่เราจะเป็นเพื่อนแท้กับใครนั้นจำเป็นต้องมีปรัช ญาปัจเจกอารยะ หรือความดีแท้ ความงามแท้ และความจริง แท้ กำกับความเป็นมิตร ส่งผลให้เราเป็น “มิตรที่จริง” ไม่ใช่เพียงเพื่อนกิน เพื่อนเล่น เพื่อเที่ยวไปวันๆ แต่เป็นเพื่อนจริงๆที่มีเป้าหมายความสำเร็จของงานร่วมกัน และมีภารกิจที่ ต้องทำให้สำเร็จร่วมกัน เป็น “อุปการมิตร” หรือเป็นเพื่อนที่งดงาม คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ ปกป้องคุ้มครองเพื่อน ไม่ทอดทิ้งเพื่อน ที่สำคัญเป็น “ธรรมมิตร” ที่เมื่อคบกันแล้วต่างช่วยส่งเสริมชักชวนกันในทางที่ถูกต้อง คอยห้ามปรามเตือนสติ มิให้เพื่อนทำในสิ่งผิด และชม เชยเมื่อเพื่อนทำในสิ่งที่ถูกต้อง
“ปิยมิตร” หรือ “มิตรที่รักกัน” สัมพันธภาพเมื่อผ่านกาลเวลาจะต้องเพิ่มพูนความรักและความผูกพันระหว่างกัน ทำให้เรายินดีให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เพื่อนเสมอ ยินดีร่วมทุกข์ร่วมสุข เห็นอกเห็นใจกัน ห่วงใยกัน มีความไว้วางใจกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน เชื่อมั่นในส่วนดีของเพื่อน ให้กำลังใจกัน และพร้อมที่จะให้อภัยเพื่อน
“ชีวมิตร” หรือ”มิตรที่ร่วมชีวิต” เป็นการแสดงออกของความเป็นเพื่อนที่ลึกซึ้งที่สุด เป็นมิตรที่มีความรักความผูกพันและมีสัมพันธภาพทางใจต่อกันอย่างลึกซึ้งจนไม่มีวันที่จะทรยศหักหลังให้ร้ายกันได้ สามารถสละสิ่งที่มีค่า ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เวลา สติปัญ ญา แรงกาย เพื่อเพื่อนได้ เป็นเพื่อนแท้ที่มี “คุณค่า”สูงสุด
หากเราเป็นฝ่ายริเริ่มมิตรภาพที่ดี และพร้อมที่จะเป็นอารยมิตร ย่อมสัม ผัสคุณค่าของมิตรแท้หรือเพื่อนกันตลอดชีวิต
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http://www.kriengsak.com