เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ประเทศเนเธอร์แลนด์กับธนาคารโลก (World Bank Group) ร่วมลงนามในข้อตกลง “Food for All” เพื่อเพิ่มพูนความรู้ สนับสนุนการสร้างงาน และ การช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาให้มีความมั่นคงในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคการเกษตรได้อย่างยาวนานและยั่งยืน
เนเธอร์แลนด์ นับว่าเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญอย่างโดดเด่นในภาคการเกษตรและอาหารของโลก ซึ่งต้นแบบความรู้และนวัตกรรมทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของเนเธอร์แลนด์ คือ
(1) การปลูกพืชในเรือนกระจก ที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เพื่อให้สามารถปลูกพืชพันธุ์ที่ปลูกไม่ได้ในอากาศหนาว ทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการเกษตรแบบเรือนกระจกที่หนาแน่นที่สุดในโลก และ
(2) โครงการหุบเขาแห่งอาหารหรือ Food Valley Model ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2540
เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ประสบปัญหาปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง ทำให้ภาคการเกษตรไม่เป็นที่สนใจของนักธุรกิจและคนวัยทำงาน อีกทั้งผลงานวิจัยด้านเกษตรยังไม่สะท้อนความต้องการของผู้บริโภคได้จริง จึงมีการริเริ่มส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างนวัตกรรมและธุรกิจ ซึ่งเป็นการผลักดันผลงานวิจัยให้เป็นสินค้าหรือบริการเชิงพาณิชย์และออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด ภายใต้วิสัยทัศน์ของเนเธอร์แลนด์ที่ว่า ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง เน้นการพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ และพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ด้วยการร่วมผนึกกำลังในทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศ สถาบันศึกษารวมถึงสถาบันวิจัย ทำโครงการดังกล่าวจัดตั้งบนพื้นที่เหมาะสม คือ เมือง Wageningen (วาฮิงเกน) ซึ่งรายล้อมไปด้วยแหล่งวัตถุดิบ โรงงานและอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่มีผู้เชี่ยวชาญมีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านมากกว่า 100,000 คน
ประเทศเนเธอร์แลนด์มีความชำนาญเรื่องประสิทธิภาพในการผลิตเนื้อวัวและนมวัวอันดับต้น ๆ ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร และเป็นประเทศที่มีตลาดประมูลดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่า เนเธอร์แลนด์มีจีดีพีภาคการเกษตรในปี พ.ศ. 2557 คิดเป็นร้อยละ 2.8 มีการจ้างงานในภาคการเกษตรมากกว่า 660,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 ของแรงงานทั้งหมด (เป็นชาวไร่ชาวสวนเพียง 50,000 คน) แต่มีการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 80.7 พันล้านยูโร โดย 5 อันดับแรกการส่งออกของเนเธอร์แลนด์ คือ
(1) ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับสูงที่มากที่สุดในโลก คิดเป็นเป็นมูลค่า 8.1 พันล้านยูโร
(2) เนื้อสัตว์ ส่งออกมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากอเมริกา บราซิล และเยอรมัน คิดเป็นมูลค่า 8 พันล้านยูโร
(3) กลุ่มนมและชีส ส่งออกมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมันและนิวซีแลนด์ คิดเป็นมูลค่า 7.7 พันล้านยูโร
(4) ผัก ส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 6.1 พันล้านยูโร
(5) น้ำมันและไขมัน ส่งออกมาเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอาร์เจติน่า คิดเป็นมูลค่า 4.9 พันล้านยูโร
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผลผลิตการเกษตรของเนเธอร์แลนด์มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ได้แก่
หนึ่ง การวิจัยสาขาการเกษตรและชีวเทคโนโลยี โดยที่เนเธอร์แลนด์มีมหาวิทยาลัยที่เน้นด้านการเกษตรและอาหารถึงสองแห่ง ที่ติด 10 อันดับแรกของโลกในด้านนี้ นอกจากยังมีสถาบันวิจัยทางการเกษตรและอาหารโดยเฉพาะทั้งในและต่างประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาและการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง เกิดเป็นนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่อยู่เสมอ โดยเอกชนมีการลงทุนใน R&D ด้านการเกษตรสูงเป็นอันดับ 2 ของยุโรป ทำให้การทำเกษตรกรรมที่เนเธอร์แลนด์จึงนิยมใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากกว่าแรงงานมนุษย์
สอง การวางระบบเครือข่ายน้ำ เขื่อน และทำนบกั้นน้ำไว้เป็นอย่างดี เนื่องจากประเทศเนเธอร์แลนด์ มีพื้นที่ 1 ใน 5 ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่คิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่ที่ให้ผลผลิตทางผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมตลอดเวลา กุญแจแห่งความสำเร็จของประเทศเนเธอร์แลนด์ คือ การรวมกันวางแผนในระยะยาวและมาตรการเร่งด่วน ใช้กลยุทธ์ที่แข็งแกร่งแต่มีความยืดหยุ่น เน้นการผสมผสานและการบริหารเชิงบูรณาการแบบหลากหลาย ทั้งการวางแผนเชิงพื้นที่ เรื่องคุณภาพน้ำ การถมที่ ความปลอดภัยของน้ำ และมีการเชื่อมโยงและผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและสถาบัน จนเกิดเป็นโครงการ Delta Flood อันเป็นต้นแบบการจัดการระบบน้ำของสิงคโปร์ ฮ่องกง และหลากหลายประเทศทั่วโลก
สาม ระบบขนส่งทั้งทางถนน ระบบรางและทางน้ำ หรือสาธารณูปโภคด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพสูงของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเอื้อต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอย่างมาก โดยมีท่าเรือรอตเทอร์ดาม ซึ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป สามารถขนส่ง ถ่ายโอนสินค้าไปยังผู้บริโภคหลายร้อยล้านคนทั่วยุโรป ได้อย่างรวดเร็ว
สี่ การสนับสนุนจากภาครัฐ คือ ภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายด้านการเกษตร รัฐเป็นผู้เอื้อให้เอกชนให้มีสภาพแวดล้อมในการธุรกิจ ผ่านการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง และร่วมดำเนินการกับเอกชนในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP)
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า การที่ประเทศกำลังพัฒนาจะก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจรายได้สูงนั้น กุญแจสำคัญ คือ ระบบการผลิตหรือกระบวนการผลิต ซึ่งเนเธอร์แลนด์สามารถพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และผลิตนวัตกรรมทางการเกษตรออกมาได้ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากผลิตภัณฑ์การเกษตรที่นำไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารได้ ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งหนึ่งเป้าหมายที่ท้าทายของเนเธอร์แลนด์ คือ ทำอย่างไรให้สามารถผลิตได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า คุณภาพดีขึ้นเป็น 2 เท่า แต่ใช้ทรัพยากรลดลง 2 เท่า เป็นต้น
ประเทศไทย ในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ควรนำความรู้และประสบการณ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศและทรัพยากรทางการเกษตร คือ ควรมีการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขระบบชลประทาน โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การจัดโซนการทำการเกษตร และแผนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร รวมถึงให้การสนับสนุน ส่งเสริมการทำงานวิจัยในด้านการเกษตรอย่างจริงจัง โดยสามารถพัฒนาต่อยอด ปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและค้นหาจุดเด่นหรืออัตลักษณ์ในผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทยที่สามารถผลักดันไปสู่ตลาดโลก และเป็นที่ยอมรับทั่วโลกได้
วันนี้ หากประเทศไทยจะให้เนเธอร์แลนด์เป็นต้นแบบความรู้และนวัตกรรมทางการเกษตร คงดีไม่น้อย การศึกษาบทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จแล้ว ย่อมมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะประสบความสำเร็จจากการเริ่มต้นนับศูนย์ใหม่ด้วยตัวเอง ดังโครงการ Thailand Food Valley ที่ประเทศไทยเคยทำ และมีต้นแบบมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://hollandfoodpartner.com/wp-content/uploads/sweet-peppers.jpg