งานวันนี้
อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาที่มีชื่อเสียง กล่าวถึงอีโก้ไว้ว่า ?อีโก้ คือ ?ตัวตนเล็ก ๆ ของเราที่มีค่าสูง?
อีโก้ คือ อัตตา หรือ ตัวตน ที่ตัวเองคิดว่า เราเป็นใคร อาจหมายถึง ตัวเราที่เป็นจริง หรือ เป็นเพียงการรับรู้ตนเอง หรือคิดว่าตัวเองเป็นอย่างไร
อีโก้ของเราแต่ละคน เป็นส่วนผสมผสาน ระหว่าง ความรู้สึกนึกคิด (mind) ร่างกาย (body) และจิตวิญญาณ (soul) ทำให้เราตระหนักรู้ว่า ตัวเรามีอยู่ เราเป็นใคร ต้องการอะไร และควรตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างไร
อีโก้มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเรามากน้อยต่างกัน เพราะส่วนผสมสามส่วนนี้
– ความรู้สึกนึกคิด (mind) เป็นการใช้สติปัญญา การใช้เหตุผล และอารมณ์ ในการประเมินและตัดสินใจ
– ร่างกาย (body) เป็นการตอบสนองตามสัญชาตญาณ มีความปรารถนา ความต้องการ ความอยาก – อยากมี อยากเป็น อยากได้ เพื่อเติมเต็มความพึงพอใจของร่างกายและจิตใจ
– จิตวิญญาณ (soul) เป็นเรื่องของมโนสำนึก หรือคุณธรรมในใจ ความสำนึกในความผิดชอบชั่วดี กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม คุณธรรมจริยธรรมของสังคม
ถ้าทั้งสามส่วนนี้สามารถทำงานประสานกันเป็นอย่างดี โดยมีมโนธรรมที่ถูกต้องเป็นแกนหลัก ในการช่วยยับยั้งความต้องการของร่างกาย และมีสติปัญญาช่วยหาเหตุผลและตัดสินใจด้วยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ ไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่จะคำนึงถึงผู้อื่น ส่วนรวม ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว จึงไม่ด่วนตัดสินใจตามอารมณ์ แต่จะตอบสนองสิ่งต่างๆ หลังจากประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่า เป็นเรื่องที่ส่งผลดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
อีโก้ในตัวมันเองมีทั้งพลังด้านบวก และพลังด้านลบ ขึ้นอยู่กับเรานำมาใช้ ถ้าเราควบคุมมันได้ ไม่ได้ให้มันควบคุมเรา อีโก้จะแสดงพลังบวกออกมา ซึ่งพลังบวกของอีโก้ ได้แก่
พลังเชื่อมั่นในตนเอง ? ต้องการคว้าชัยชนะ อีโก้ช่วยให้เรามีระดับความเชื่อมั่น ความเคารพนับถือตัวเอง และความทะเยอทะยานที่จำเป็น ช่วยเพิ่มพลังทัศนคติเชิงบวก ขับไล่ความรู้สึกไม่มั่นคง ความกลัว และการขาดความกระตือรือร้นออกไป และทำให้มีแรงผลักดันตัวเองไปสู่ชัยชนะและประสบความสำเร็จได้
ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำที่มีอีโก้ที่ดี จะมีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ และมีความทะเยอทะยาน ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองและทีมงานว่า จะสามารถทำให้วิสัยทัศน์นั้นเกิดขึ้นเป็นจริงได้ และจะเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจแก่ทีมงาน และจูงใจคนให้เห็นคุณค่าและมีส่วนร่วมในวิสัยทัศน์นั้น
มีการวิเคราะห์ว่า คนทำงานที่มีสมรรถนะสูง มักจะมีความทะยานอยากอันยิ่งใหญ่ มีพรสวรรค์ มีไอเดียที่บรรเจิด และมีพลังอีโก้ ซึ่งเมื่อผสมผสานระหว่าง ความทะเยอทะยาน + พรสวรรค์ + ไอเดีย + พลังอีโก้ ผนวกกับเวลาที่เหมาะสม และการช่วยเหลือของผู้อื่น สิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็สามารถเกิดขึ้น และขับเคลื่อนบุคคลนั้นไปสู่ความสำเร็จได้
พลังยืนหยัด – ไม่สูญเสียความนับถือตัวเอง คนที่มีอีโก้ที่ดีจะเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่รู้สึกสูญเสียตัวตน เมื่อมีคนไม่ยอมรับ ไม่เห็นคุณค่า หรือถูกดูหมิ่นดูแคลน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกสบประมาท จะไม่มีคำว่า ?เสีย self? ไม่มุ่งปกป้องตัวเอง โกรธเคือง หรือน้อยเนื้อต่ำใจ แต่สามารถเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นเป็นพลังผลักดันให้เอาชนะ ลบคำสบประมาทเหล่านั้นได้
บุคคลที่ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพต่าง ๆ มีจำนวนไม่น้อยที่เคยถูกดูถูกดูแคลนมาก่อน แต่สามารถเอาชนะได้ ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) พิธีกรรายการทีวีที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เป็นผู้หญิงที่ร่ำรวยและประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในโลก แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ในวัยเด็กของเธอต้องเผชิญกับความยากลำบาก และเคยถูกไล่ออกจากงานนักข่าวทางทีวี ด้วยเหตุผลว่า “เธอดูไม่เหมาะกับรายการทีวี” แต่ทุกวันนี้เธอได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถทำได้
พลังปกป้องตนเอง ? ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ พลังบวกของอีโก้ จะผลักดันให้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิและความยุติธรรมให้กับตนเอง ไม่ปล่อยให้ใครมาละเมิดโดยมิชอบ หรือมาปฏิบัติกับเราอย่างไม่ยุติธรรม ไม่ยอมให้ตนเองเสียเปรียบ หรือเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างไม่สมควร ทั้งนี้ เพื่อรักษาความอยู่รอดของตนเอง เช่น เมื่อมีคนมาลอกเลียนงานที่เราคิดริเริ่มขึ้น ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา จะฟ้องร้องไม่ปล่อยไว้ เพื่อให้คนผิดรู้ว่าได้ทำผิดลงไป หรือจะฟ้องหมิ่นประมาท เมื่อดูถูกเหยียดหยาม หรือถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างไม่เป็นธรรม ฯลฯ
อีโก้ตอบสนองธรรมชาติมนุษย์ ที่ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น และการเคารพตนเอง จึงส่งผลให้คนที่มีอีโก้ในมุมบวก จะเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานสูง มีความต้องการเป็นผู้ชนะและประสบความสำเร็จ ซึ่งอีโก้จะช่วยรักษาระดับของการเคารพนับถือ ความเชื่อมั่นในตนเอง ช่วยเพิ่มพลังทัศนคติเชิงบวก ช่วยเปลี่ยนคำสบประมาท ความผิดพลาด ความพ่ายแพ้เป็นพลัง ซึ่งช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง มีแรงผลักดันตนเองไปสู่ความสำเร็จ และไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : https://tibilis.com/site/uploads/products/0eb810a29620b2db85b2219ba942bde026b4ee12.jpg