ฮาร์วาร์ดสร้าง ?ความรู้สด? พบมลพิษทางอากาศฆ่าคนตาย 3.3 ล้านคนต่อปี

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (Research university) ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภารกิจหลักด้านการวิจัยอย่างจริงจังในรูปแบบและแนวทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทำวิจัยผลิตองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง โดยฮาร์วาร์ดสนับสนุนเงินทุนทำวิจัยมากกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแต่ละปี มีศูนย์วิจัยมากกว่า 100 ศูนย์ กระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั้งภายในรั้วฮาร์วาร์ดเองและทั่วโลก2  รวมถึงการใช้ผลงานวิจัยและวิธีวิจัยเข้าไปอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนและการเรียนรู้ โดยบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก อาทิ การสร้างบริบทการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะการทำวิจัย การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าและแสวงหาองค์ความรู้ด้วยตนเอง และการใช้การวิจัยแบบกรณีศึกษาเป็นตัวแบบในการสอน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นฮาร์วาร์ดสร้างวิจัยผลิตองค์ความรู้ใหม่ในทุกสาขาวิชาออกมาอยู่ต่อเนื่อง อาทิ องค์ความรู้ทางด้านสเต็มเซลล์ นาโนเทคโนโลยี เป็นต้น อีกทั้ง บรรยากาศการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังมีชีวิตชีวา น่าตื่นเต้น ทั้งคณาจารย์และนักศึกษากระตือรือร้นค้นคว้าแสวงหาองค์ความรู้ใหม่กันอย่างจริงจัง จนกลายเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เลยทีเดียว

การทำวิจัยผลิตองค์ความรู้ใหม่จำนวนมากดังกล่าว สนับสนุนให้ฮาร์วาร์ดเป็นแหล่งวิทยาการความรู้ที่สำคัญที่สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นในทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก ยกตัวอย่าง ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดของวิทยาลัยสาธารณสุข ที เฮช ชาน ฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health) เขียนโดยศาสตราจารย์วุฒิคุณทางด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม ของวิทยาลัยสาธารณสุข ที เฮช ชาน ฮาร์วาร์ด ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ในเยอรมัน ไซปรัส และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถูกตีพิมพ์เผยแพร่แบบออนไลน์ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา 

ผลงานวิจัยชิ้นนี้นำเสนอข้อมูลใหม่ที่น่าตกใจว่า มลพิษทางอากาศ เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรโลกกว่า 3.3 ล้านคนเสียชีวิตในแต่ละปี โดยการศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้สถิติสุขภาพและแบบจำลองคอมพิวเตอร์  สร้างแผนภาพการตายก่อนกำหนดที่มีสาเหตุจากมลพิษทางอากาศทั่วโลกอย่างละเอียดที่สุด ซึ่งผลการวิจัยได้ฉายภาพให้เห็นว่า หากการปล่อยมลพิษทางอากาศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัดส่วนเท่าเดิมดังเช่นในปัจจุบัน จะเป็นเหตุให้มีการตายก่อนกำหนดด้วยมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี พ.ศ. 25933  

ผลงานวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้มีลักษณะที่น่าสนใจบางประการที่มหาวิทยาลัยไทยสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเรียนรู้และนำมาปรับประยุกต์ใช้ ดังนี้

สร้างความรู้สดหรือผลิตความรู้ใหม่บริจาคให้แก่โลก นอกจากการนำเสนอข้อมูลใหม่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังพบอีกว่า ภาคการเกษตรปล่อยมลพิษทางอากาศที่เป็นสาเหตุของการตายก่อนกำหนดด้วยมลพิษทางอากาศสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นสาเหตุของการตายก่อนกำหนดด้วยมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อันเป็นผลมาจากแอมโมเนียจากปุ๋ยและของเสียจากสัตว์ รวมกับสารมลพิษจากโรงไฟฟ้า และไอเสียรถยนต์ ก่อให้เกิดเขม่าควันที่เป็นอันตรายสุขภาพ 

สาเหตุของการตายก่อนกำหนดด้วยมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกพบว่า เป็นผลมาจากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อการทำอาหารภายในอาคารบ้านเรือนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยในที่นี้จีนมีอัตราการตายก่อนกำหนดด้วยมลพิษทางอากาศสูงที่สุด (1.4 ล้านคนใน 1 ปี) ขณะที่สหรัฐฯ อยู่ในอันดับ 7 คือ จำนวน 54,905 คน4  
ทำวิจัยสร้างผลกระทบระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดเลือกประเด็นและการสร้างความร่วมมือการวิจัยกับภาคีระดับโลก ด้วยการใช้ตัวแบบภูมิอากาศเชิงเคมี ในการสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างอัตราการตายก่อนกำหนด และประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ 7 ประเภท ในสิ่งแวดล้อมเมืองและสิ่งแวดล้อมชนบท ซึ่งผลการคำนวณพบว่า มลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร เป็นสาเหตุทำให้เกิดการตายก่อนกำหนดทั่วโลกกว่า 3.3 ล้านคนในแต่ละปีตามที่กล่าวมา โดยมีความโดดเด่นอย่างมากในเอเชีย5  ส่งผลให้ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงมีคุณูปการต่อแวดวงวิชาการและการเรียนรู้ทางด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก  

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมให้บุคลากรทำวิจัยอย่างมีเป้าหมาย โดยเฉพาะคณาจารย์ผู้สอนควรมี “จิตวิญญาณการวิจัย” (Spirit of research)6  ที่ทำวิจัยเป็นชีวิต มิใช่เป็นเพียงบทบาทหน้าที่ หรือ ทำตามระบบ หรือ ทำวิจัยเพียงเพื่อการขอเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการเท่านั้น 

การวิจัย (research) ตามนิยามของผม หมายถึง การผลิตองค์ความรู้ใหม่ หรือที่ผมเรียกว่า “ความรู้สด”7   โดยในที่นี้มีนักวิจัยเป็นผู้ผลิตองค์ความรู้ ผู้เรียนเป็นผู้บริโภคความรู้ และคณาจารย์เป็นผู้กระจายองค์ความรู้ การกระจายความรู้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์หากคณาจารย์ไม่มีความรู้ใหม่ นั่นหมายความว่า คณาจารย์มหาวิทยาลัยทุกคนต้องทำวิจัย มิใช่ใช้ความรู้แบบที่เรียกว่า “ความรู้กระป๋อง” หรือ “ความรู้สำเร็จรูป”อาทิ การยำตำราฝรั่งเข้าหากัน ด้วยว่าความรู้เช่นนี้จะทำให้ขาดงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของเราเองและทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนขาดชีวิตชีวา

ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้และพัฒนาตนเองสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่เดินอย่างสมดุลระหว่างการสอนและการวิจัย เพื่อทำให้ทั้งการสอนและการวิจัยมีคุณภาพ ด้วยการส่งเสริมและกระตุ้นให้คณาจารย์มหาวิทยาลัยทำวิจัยกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก ตามศักยภาพและตามจุดแกร่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มุ่งการวิจัยทางด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งการวิจัยทางด้านการแพทย์ เป็นต้น อันจะไม่เป็นประโยชน์เฉพาะต่อการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยและตัวผู้ทำวิจัยเองเท่านั้น แต่ยังจะมีส่วนพัฒนาชุมชนและสังคมประเทศชาติ ด้วยอีกทางหนึ่ง 


1เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นำเสนอครั้งแรกในการอภิปรายประเด็นหัวข้อ “การปฏิรูปการเรียนรู้และการศึกษาของประเทศ : ฐานความรู้จากงานวิจัยที่มีคุณภาพ” ในงานมหกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2558 Thailand Research Expo 2015 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558.
2Harvard University, Research [Online], accessed October 28, 2015, available from http://www.harvard.edu/on-campus/research
3Harvard gazette, Air pollution killing 3.3 million people a year [Online], accessed October 28, 2015, available from http://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/air-pollution-killing-3-3-million-people-a-year/
4Ibid.
5Nature, The contribution of outdoor air pollution sources to premature on a global scale [Online], accessed October 29, 2015, available from http://www.nature.com/nature/journal/v525/n7569/full/nature15371.html
6เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นำเสนอครั้งแรกในการอภิปรายประเด็นหัวข้อ “การปฏิรูปการเรียนรู้และการศึกษาของประเทศ : ฐานความรู้จากงานวิจัยที่มีคุณภาพ”. 
7เรื่องเดียวกัน.    
8เรื่องเดียวกัน.


ที่มา: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ปีที่ 63 ฉบับที่ 9 วันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ : http://www.siamsafety.com/images/27022014_thc.jpg