ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้เอาไว้ในหลายเวที ด้วยตระหนักถึงความสำคัญและการเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทโลกอนาคตที่คาดว่าการเรียนรู้จะเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น อันจะมีส่วนสนับสนุนให้สังคมเกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการและเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคล
การบูรณาการการเรียนรู้หลากหลายลักษณะอย่างสมดุลจะส่งเสริมสนับสนุนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีการเรียนรู้เกิดขึ้นทุกระดับ โดยการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ควรให้มีความครอบคลุมทุกบริบท ประกอบด้วย
- การเรียนรู้ทุกวัตถุประสงค์
- การเรียนรู้ทุกสมรรถนะ
- การเรียนรู้ทุกกาละ
- การเรียนรู้ทุกเทศะ
- การเรียนรู้ทุกภาคีการสร้างคน
- การเรียนรู้ทุกรูปแบบ
- การเรียนรู้ทุกคน
- การเรียนรู้ทุกมิติ
- การเรียนรู้ทุกศิลปะวิทยาการ และ
- การเรียนรู้ทุกภารกิจ[1]
ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน จนถึงสังคมประเทศชาติ
สถานศึกษาในฐานะองค์กรหลักทำหน้าที่พัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ผ่านการจัดการศึกษาในระบบอย่างเป็นทางการ ควรสร้างสะพานเชื่อมต่อการเรียนรู้กับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อทำให้เกิดการถ่ายโอนข้อมูลความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเป็นช่องทางเสริมจุดแกร่ง ถ่วงดุลจุดอ่อน ระหว่างกัน
ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยการสร้างบรรยากาศส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มบุคคลต่าง ๆ เข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ในที่นี้รวมถึงสมาชิกการทหารและทหารผ่านศึกด้วยเช่นเดียวกัน
ล่าสุดที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดเป็นเจ้าภาพจัดโปรแกรมฤดูร้อน (summertime program) โดยโปรแกรมดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนักรบ-นักวิชาการ (Warrior-Scholar Project) อันเป็นค่ายวิชาการเข้มข้นที่จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือสมาชิกของกำลังรบหรือคนเหล่านั้นที่ปลดประจำการให้มีทักษะและความมั่นใจในการเข้าศึกษาในวิทยาลัยชั้นนำระดับสูง เช่น
- การเข้าร่วมกิจกรรมการสัมมนาเกี่ยวกับประชาธิปไตยและความเป็นพลเมือง
- การเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะการเรียน ชั้นเรียนการเขียน เป็นต้น
สำหรับครั้งนี้เป็นปีที่ 5 ที่ฮาร์วาร์ดเป็นเจ้าภาพ โครงการนักรบ-นักวิชาการดังกล่าวนี้มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกว่า 17 แห่งทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในปี ค.ศ. 2012 มีลักษณะเป็นโปรแกรมศิลปศาสตร์ 1 สัปดาห์ ต่อมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 บางแคมปัสได้เปิดให้มีสัปดาห์สะเต็ม (STEM) (science, technology, engineering, math) ด้วย ขณะที่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 ฮาร์วาร์ดได้เริ่มให้มีโปรแกรมศิลปศาสตร์ 1 สัปดาห์และตามด้วยสัปดาห์สะเต็มที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology)[2]
สมาชิกของกำลังรบและทหารผ่านศึกที่เข้าร่วมจะมีส่วนร่วมทางวิชาการอย่างเข้มข้นผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยจัดให้มีขึ้น อันเป็นช่องทางให้มีโอกาสเรียนรู้และร่วมแลกเปลี่ยนกับคณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย มีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมสู่การเรียนในวิทยาลัยให้แก่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ในอนาคต
การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนักรบ-นักวิชาการของฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างการสร้างสะพานเชื่อมต่อการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากอีกกลุ่มบุคคลหนึ่ง อันเป็นตัวอย่างแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทุกกลุ่มคนตามที่ผมกล่าวมา เป็นกรณีศึกษาที่มหาวิทยาลัยไทยสามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการจัดการศึกษาของตนเอง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันอีกทางหนึ่ง
[1] ผมนำเสนอครั้งแรกในงานเสวนาหัวข้อ การรู้หนังสือกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน งานที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ จัดโดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ณ ห้องมหกรรม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต จังหวัดปทุมธานี (คลอง 6) วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558.
[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/07/academic-boot-camp-aims-to-prep-veterans-for-college/
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 49 วันศุกร์ 17 – พฤหัสบดี 23 สิงหาคม 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com