ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการมีส่วนร่วมจัดการและสร้างผลกระทบต่อประเด็นปัญหาความจำเป็นของสังคมบนพื้นฐานจุดแกร่งการเป็นองค์กรแห่งความรู้และวิจัย โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีทรัพยากรด้านการวิจัยที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญของฮาร์วาร์ด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้สู่มวลมนุษยชาติ
ตัวอย่างล่าสุดที่ผ่านมา โจ บลัท (Joe Blatt) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อเด็กของฮาร์วาร์ดได้แบ่งปันผลการศึกษาที่ใช้ระยะเวลามากกว่า 20 ปี เกี่ยวกับผลกระทบของเนื้อหาสื่อและเทคโนโลยีต่อการพัฒนาเด็ก การเรียนรู้ และพฤติกรรมพลเมือง ภายใต้หัวข้อที่ชื่อว่า “การเจริญเติบโตในโลกของสื่อ” โดยแบ่งการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นออกเป็น 4 หมวด ประกอบด้วย โทรทัศน์ วิดีโอเกม ภาพยนตร์ และเครือข่ายสังคม อันส่งผลกระทบต่อเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น (Blackwell, 2017) ภายใต้โลกยุคสมัยปัจจุบันที่สื่อและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนมากขึ้น เฉพาะวัยเด็กพบว่า มีการใช้เวลาอยู่หน้าโทรทัศน์และหน้าจออื่น ๆ โดยเฉลี่ยมากถึง 30 ชั่วโมงทุกสัปดาห์ (Harvard Ed Portal, 2017) สำหรับครั้งนี้ อาจารย์บลัท ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ทางความคิด ด้วยการผลิตสื่ออันเป็นโอกาสการเรียนรู้ให้แก่เด็ก และการกระตุ้นให้เด็กรู้จักการแบ่งเวลาอย่างเหมาะสมระหว่างการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี การเล่นอย่างอิสระ และกลุ่มเพื่อน (Blackwell, 2017)
การศึกษาดังกล่าวเป็นประโยชน์ช่วยเปิดโลกทัศน์และกระตุ้นให้แก่กลุ่มพ่อแม่ ครู และผู้ที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมสำหรับการดูแลเด็กและเยาวชนในยุคสมัยที่สื่อและเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากเช่นปัจจุบันและอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กให้เป็นคนมีคุณภาพ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสื่อและเทคโนโลยีได้อย่างมีความสุข ฉลาดรู้จักเลือกใช้สื่อและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
มหาวิทยาลัยในฐานะเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรมีส่วนร่วมสนับสนุนและเตรียมพร้อมการดูแลเด็กและเยาวชนให้แก่กลุ่มพ่อแม่ด้วยเช่นเดียวกัน เน้นเป็นพิเศษในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องและประเด็นที่เป็นความท้าทายสำหรับการเป็นพ่อแม่และการเลี้ยงดูลูกในยุคอนาคต อาทิ การทำวิจัยผลิตองค์ความรู้ เป็นต้น โดยในกระบวนการดังกล่าวนี้ควรเปิดโอกาสให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อตัวพ่อแม่เองเท่านั้น แต่ยังจะมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนกระบวนการสร้างให้เกิดคนคุณภาพแก่สังคม ช่วยเตรียมกำลังคนรุ่นใหม่ให้พร้อมสำหรับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคอนาคตอีกทางหนึ่ง
ในเรื่องดังกล่าวนี้ ผมเคยนำเสนอความคิดมานานสนับสนุนให้มีการพัฒนาสถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่1 (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2543, น. 40-41) สำหรับเป็นสถาบันต้นแบบของการสร้างพ่อแม่ที่พึงประสงค์อย่างครบถ้วนตลอดทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การเลือกคู่สำหรับคนโสดที่ยังไม่ได้แต่งงานจนถึงการมีครอบครัวและการเลี้ยงดูลูก การพัฒนาความรู้ความเข้าใจและเสริมสร้างบุคลิกลักษณะที่ดีให้แก่พ่อแม่เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวัยเด็กที่ต้องการการวางรากฐานที่ดี ด้วยว่าพ่อแม่หรือครอบครัวถือเป็นครูคนแรกและเป็นครู “ผู้สร้างและปลูกฝัง” ความคิดในสังคมที่มีอิทธิพลมากที่สุด (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2542, น. 107) การเป็นต้นแบบที่ดีของพ่อแม่จะเป็นต้นทุนสำคัญและเป็นประโยชน์ยิ่งต่อบ่มเพาะ หล่อหลอมบุคลิกลักษณะนิสัยที่ดีให้แก่เด็ก ช่วยให้เด็กเติบโตเป็นคนมีคุณภาพ เป็นผู้ใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ในอนาคต
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2542). แหกคุกทางปัญญา : สะท้อนคิดฝ่าวิกฤตการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย.
________. (2543). ปั้นสมองของชาติ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย.
Blackwell, Deborah. (2017, March 10). Tips on guiding parents though media maze. Expert shares research on ever-changing technology, media’s impact on children. Retrieved from http://news.harvard.edu/gazette/story/2017/03/medias-impact-on-children-crux-of-ed-portal-talk/
Harvard Ed Portal. (2017, February 28). Faculty Speaker : Growing up in a Media World. Retrieved from http://edportal.harvard.edu/event/faculty-speaker-growing-media-world
1เดิมใช้คำว่า สถาบันฝึกอบรมพ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก โรงเรียนพ่อแม่ และพัฒนาเป็นสถาบันศาสตร์การเป็นพ่อแม่ในที่สุด.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 30 วันศุกร์ 7 – พฤหัสบดี 14 เมษายน 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : https://2.bp.blogspot.com/-7S8VAaasQgY/V1A4X3lhfpI/AAAAAAAAAOA/Hjb9N1xsyOIHo5Z7p90X1KXf2AWvrmGNgCLcB/s1600/052611_PhotoJournal_940_19.jpg