ความอยู่ดีมีสุขเป็นประเด็นที่ถูกให้ความสนใจในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเราให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวนี้เช่นเดียวกันอันสะท้อนผ่านผลงานวิจัยและการจัดทำดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุขมิติต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับหน่วยงานหรือองค์กร
ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่ให้ความสนใจกับประเด็นความอยู่ดีมีสุขนี้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ล่าสุดที่ผ่านมานักวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด หรือ Harvard T.H. Chan School of Public Health ร่วมกับนักวิจัยของเอ็ทน่า (Aetna) ได้เริ่มต้นทำวิจัยเกี่ยวกับความอยู่ดีมีสุข (well-being) ร่วมกัน เพื่อค้นหาความหมายของการมีสุขภาพดีที่แท้จริง โดยนักวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ดวางแผนที่จะพัฒนาการประเมินแบบครอบคลุม (a comprehensive assessment) หลากหลายมิติ
ประกอบด้วย
- มิติทางด้านสุขภาพร่างกาย (physical health)
- มิติทางด้านสุขภาพจิต (emotional health)
- มิติทางด้านวัตถุประสงค์ของชีวิต (purpose)
- มิติทางด้านความแข็งแกร่งของลักษณะนิสัย (character strength)
- มิติทางด้านความเชื่อมโยงทางสังคม (social connectedness) และ
- มิติทางด้านความมั่นคงทางการเงิน (financial security)
รวมถึงการแปลความรู้สู่การปฏิบัติ โดยการดำเนินการการประเมินดังกล่าวนี้คาดว่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาพื้นที่การศึกษาของการวิจัยทางด้านความอยู่ดีมีสุข รวมถึงวิธีการที่สถาบันหรือบริษัทต่าง ๆ สามารถให้การช่วยเหลือแก่พนักงานในการมีความอยู่ดีมีสุข
การวิจัยดังกล่าวนี้เกิดจากการมีส่วนร่วมของพนักงานและสมาชิกของเอ็ทน่าจำนวนหลายพันคนและการแบ่งปันข้อมูลที่ตัดตัวบ่งชี้ (de-identified data) ให้กับฮาร์วาร์ด โดยการประเมินความอยู่ดีมีสุขดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความคิดการพัฒนาที่นำเสนอในบทความปี ค.ศ. 2017 ของศาสตราจารย์ไทเลอร์ แวนเดอร์วีลี (Tyler VanderWeele) ศาสตราจารย์ทางด้านระบาดวิทยาของวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด ที่นำเสนอในเอกสารของสถาบันวิทยาการสหรัฐอเมริกา (National Academy of Sciences หรือ NAS)[1]
กรณีของประเทศไทยเรา ก่อนหน้านี้ผมเคยนำเสนอความคิดให้มี “ดัชนีวัดความอยู่ดีมีสุข”[2] (National Well-Being Index) เป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างครอบคลุมทุกงานการพัฒนาประเทศอย่างครบถ้วน ครอบคลุมทุกกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานสถิติแห่งชาติและหน่วยงานเก็บสถิติทุกกระทรวง กรม กอง เก็บในมาตรฐานเดียวกันและสอดรับกัน เพื่อวัดและกำกับพัฒนาระบบการทำงานในประเทศทุกเรื่อง ทุกด้าน ทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนกระทั่งถึงเรื่องเล็ก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศโดยรวมขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง[3]
มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรมีส่วนร่วมศึกษาและพัฒนาดัชนีกำกับการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม อุดมด้วยความรู้สุดพรมแดนในเรื่องดังกล่าวนี้ ด้วยว่ามหาวิทยาลัยมีบุคลากร ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรสนับสนุน ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาดัชนีชี้วัดที่มีประสิทธิภาพ สามารถวัดได้จริง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของประเทศอีกทางหนึ่ง
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. สยามอรยานุสติ รักชาติแบบอารยะ. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2557.
[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/what-makes-us-truly-happy-and-healthy/
[2] ผมได้เสนอแนะให้มีการจัดทำดัชนีวัดความอยู่ดีมีสุข (National Well-Being Index) เพื่อกำกับการทำงานของประเทศในทุกเรื่องและทุกหน่วยงาน เป็นเวลานานหลายปีมาแล้ว ในการบรรยายตามที่ต่าง ๆ เพราะต้องการเห็นประเทศถูกขับเคลื่อนไปในทุกมิติอย่างแท้จริง เขียนเป็นบทความเรื่อง “คนไทยมีความสุขน้อยลง” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และนำเสนอการจัดทำดัชนีความก้าวหน้าของชาติ ทางบทความเรื่อง “การจัดทำดัชนีความก้าวหน้าของประเทศ” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โกลบอลบิซิเนส ฉบับวันที่ 24-30 เมษายน พ.ศ. 2552.
[3] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, สยามอรยานุสติ รักชาติแบบอารยะ (กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย, 2557), หน้า 146.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 3 วันศุกร์ 28 กันยายน – พฤหัสบดี 4 ตุลาคม 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com