มหาวิทยาลัยในฐานะภาคส่วนของการสร้างคนและเตรียมกำลังคนป้อนสู่สังคมควรบูรณาการภารกิจทางการศึกษาสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมสร้างผู้นำที่มีคุณภาพทุกระดับสนองตอบความต้องการของชุมชนและสังคมท้องถิ่น อันจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของชุมชนและสังคมท้องถิ่นเองเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสังคมส่วนรวมด้วยอีกทางหนึ่ง ด้วยว่าผู้นำที่มีคุณภาพจะเป็นแกนนำสำคัญทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้นำดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกันตามที่ผมเคยนำเสนอเป็นบทความก่อนหน้านี้ การมีส่วนร่วมพัฒนาผู้นำของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้นำเมืองผ่านโครงการที่เรียกว่า โครงการผู้นำเมืองบลูมเบอร์ก-ฮาร์วาร์ด (Bloomberg Harvard City Leadership Initiative) อันเป็นความร่วมมือกันระหว่างวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ (Harvard Kennedy School) วิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) และองค์กรไม่แสวงกำไรบลูมเบอร์ก (Bloomberg Philanthropies)
โครงการผู้นำเมืองบลูมเบอร์ก-ฮาร์วาร์ด มีภารกิจพัฒนาผู้นำที่มีคุณภาพให้สามารถทำหน้าที่ปกครองเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกัน สร้างสะพานเชื่อมต่อทฤษฎีสู่การปฏิบัติ และใช้วิธีการเรียนรู้หลากหลายในการพัฒนาคุณภาพผู้นำเมือง เช่น การใช้กรณีศึกษาเป็นตุ๊กตาการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้นำเมือง เป็นต้น
โดยอนาคตประมาณ 3-4 ปีข้างหน้า โครงการผู้นำเมืองบลูมเบอร์ก-ฮาร์วาร์ดคาดว่าจะมีส่วนช่วยเหลือผู้นำเมืองจำนวน 300 คนและบุคลากรอาวุโสจำนวน 400 คนทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ[1]
โครงการผู้นำเมืองบลูมเบอร์ก-ฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างของการสร้างสะพานเชื่อมต่อทฤษฎีสู่การปฏิบัติ เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนวิชาการและผู้ปฏิบัติจริงในการสร้างผู้นำเมืองที่มีคุณภาพและมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเพิ่มพูนความรู้และความเป็นมืออาชีพให้แก่กลุ่มผู้นำดังกล่าวนี้อีกทางหนึ่ง
กรณีของประเทศไทยเรา ที่ผ่านมา ผมเคยนำเสนอความคิดของผม เรื่อง “โมเดลไตรภาวะ” ว่าประกอบด้วย ภาวะการนำ ภาวะการบริหาร ภาวะคุณธรรม[2] โดยโมเดลดังกล่าวนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาและเป็นมาตรฐานสร้างผู้นำทุกระดับ อันจะส่งผลทำให้การปกครองและการบริหารจัดการองค์กรหรือหน่วยงานประสบความสำเร็จ
มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรวิชาการและองค์กรวิชาชีพชั้นสูงควรมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมพัฒนาผู้นำที่มีทั้ง 3 ภาวะดังกล่าวนี้อย่างครบถ้วน โดยประยุกต์เข้ากับการออกแบบหลักสูตรและการพัฒนาการเรียนการสอน เช่น การพัฒนาผู้นำท้องถิ่นให้มีความเป็นมืออาชีพในการปฏิบัติหน้าที่ มีความเป็นผู้นำ มีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เป็นต้น
[1] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://news.harvard.edu/gazette/story/2017/07/bloomberg-harvard-mayoral-education-program-launches-in-nyc/
[2] ผมนำเสนอแนวคิดไตรภาวะอย่างเป็นทางการ ในการปาฐกถา ณ ที่ประชุมสมัชชาสยามอารยะ วันอังคารที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 48 วันศุกร์ 10 – พฤหัสบดี 16 สิงหาคม 2561
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com