ฮาร์วาร์ดพัฒนากรอบคิดการประเมินเพื่อการลงทุนที่ยั่งยืนที่นำไปปฏิบัติได้

การจัดการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยควรมีส่วนพัฒนาหรือแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรมบนพื้นฐานการเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยของตนเอง โดยการพัฒนาหรือแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ควรให้มีความครอบคลุมสมดุลครบถ้วนทั้ง 3 ภาคกิจ ประกอบด้วย รัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ (ประชาสังคม) มีมิติความเชื่อมโยงและมีอิทธิพลสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ของประเทศตามที่ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในหลายเวที เช่น การสร้างนวัตกรรมทางสังคม (social innovation) นำเสนอโมเดลหรือรูปแบบการแก้ปัญหาสังคมแบบใหม่สนองตอบโจทย์ความต้องการของสังคม เป็นต้น

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการให้ความสำคัญดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations’ Sustainable Development Goals) 17 เป้าหมาย อันเป็นเป้าหมายที่ประชาคมโลกตกลงร่วมกันสำหรับใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านพัฒนา เป็นต้น

ที่ผ่านมานักวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุข ที. เฮช. ชาน (Harvard T.H. Chan School of Public Health) และมหาวิทยาลัยเมืองแห่งนิวยอร์ก (City University of New York) ร่วมกับบริษัทการบริหารจัดการทรัพย์สินยูเอสบี (USB Asset Management) ประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินการพัฒนากรอบคิด (a science framework) ช่วยเหลือนักลงทุนประเมินการปฏิบัติงานของบริษัท ผลิตภัณฑ์ และบริการสนับสนุนทางด้านสิ่งแวดล้อมและความอยู่ดีมีสุข โดยกรอบคิดดังกล่าวนี้เป็นการแสวงหาตัวบ่งชี้การลงทุนที่สนับสนุน 4 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) อันประกอบด้วย การเข้าถึงน้ำสะอาด (access to clean water) การรักษาสุขภาพ (maintaining human health) ความมั่นคงทางด้านอาหาร (food security) และการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (reducing climate change)

ทั้งนี้การพัฒนากรอบคิดดังกล่าวคาดว่าจะสร้างผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อการดำเนินงานของบริษัท ด้วยการสนับสนุนกรอบคิดการประเมินการลงทุนอย่างยั่งยืนที่มีมาตรฐานให้แก่สถาบันการเงิน อันจะสนับสนุนให้การดำเนินงานของสถาบันการเงินเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีส่วนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่สังคมการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง ดังที่นักวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุข ที. เฮช. ชาน ระบุ
นิตยสารฟอบส์ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหนึ่งในห้าของการลงทุนทั้งหมดในประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ภาคส่วนดังกล่าวนี้ต้องเผชิญคือ การขาดข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทและผลกระทบจากการดำเนินงาน อีกทั้งข้อมูลจำนวนมากมาจากบริษัทเองจึงมีแนวโน้มที่บริษัทจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตนเอง การทำวิจัยครั้งนี้ทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง ประกอบด้วย การสำรวจโลก ระบาดวิทยาและสาธารณสุข และการเชื่อมโยงข้อมูลที่รวบรวมไว้กับข้อมูลทางการเงินและข้อมูลของบริษัท อันจะส่งผลต่อการพัฒนากรอบคิดการประเมินดังกล่าวให้มีมาตรฐาน

มหาวิทยาลัยในฐานะเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรเป็นต้นแบบหรือเป็นแบบอย่างของการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมทั้งทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ ทำให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่มากที่สุดจากการจัดการศึกษาและการพัฒนาองค์ความรู้ของตนเองตามที่ผมเคยนำเสนอเอาไว้ในหลายเวที อันจะเป็นแนวทางการบูรณาการสร้างสะพานเชื่อมต่อการจัดการศึกษากับการพัฒนาและแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญอีกทางหนึ่ง

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดของผมที่เขียนเอาไว้ในหนังสือ “มหาวิทยาลัยที่ทางแยก : จุดประกายวิสัยทัศน์อุดมศึกษาไทยในอนาคต” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 อันสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยที่ว่า

“…มหาวิทยาลัยจึงควรเป็นแหล่งผลิตงานวิจัยครอบคลุมด้านต่าง ๆ ให้มากที่สุด

และเป็นแหล่งในการผลิตและสร้างสรรค์องค์ความรู้

โดยเป็นที่ที่ใกล้ชิดกับพรมแดนความรู้ในสาขาวิทยาการต่าง ๆ

นความจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่

มหาวิทยาลัยต้องมุ่งเน้นในการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อีกทั้งยังต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น

เพื่อให้ท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ได้รับประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อมด้วย”

 

 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 31 วันศุกร์ 13 – พฤหัสบดี 19 เมษายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *