ฮาร์วาร์ดจัดกิจกรรมสัปดาห์ทั่วโลก (Worldwide Week)

ผมเคยนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาฐานโลกาภิวัตน์ (Globalization based education) หรือการเชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกันเพื่อการศึกษา เรียนรู้และนำทรัพยากรหรือประเด็นทางการศึกษาที่แผ่ขยายหรือกระจายอย่างกว้างขวางทั่วโลกมาเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน[1] เอาไว้ในบทความก่อนหน้านี้ ด้วยตระหนักว่าปัจจุบันทั้งโลกกำลังเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์หรือโลกไร้พรมแดนเข้มข้นและสถาบันการศึกษาจำนวนมากกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคดังกล่าวนี้   

ตัวอย่างล่าสุด แหล่งข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุ ฮาร์วาร์ดได้จัดให้มีกิจกรรมสัปดาห์ทั่วโลก (Worldwide Week) ขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 20-27 ตุลาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา โดยฮาร์วาร์ดเป็นเจ้าภาพจัดการบรรยายและการสัมมนาในประเด็นที่เกี่ยวกับทั่วโลก มีหลากหลายประเทศและมากกว่า 20 สำนักงาน อาจารย์ นักศึกษา พนักงาน และสมาชิกอื่น ๆ ของชุมชนฮาร์วาร์ดผลิตการวิจัย ทั้งในห้องปฏิบัติการ ออนไลน์ และในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อหาคำตอบของคำถามที่เป็นประเด็นความท้าทายที่สำคัญของโลก เช่น การใช้การวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ในการขับเคลื่อนการพัฒนานโยบาย : การเรียนรู้ผลลัพธ์ในระบบการศึกษาของปากีสถาน  เสรีภาพสื่อในเอเชีย (Press Freedoms in Asia) สตรีและกำลังแรงงานสุขภาพโลก (Women and the Global Health Workforce)

ทั้งนี้บรรยากาศภายในงานฮาร์วาร์ดได้จัดให้มีกิจกรรมหลากหลาย โดยวิทยาลัยต่าง ๆ แผนก ศูนย์วิจัย องค์กรนักศึกษา สำนักงานธุรการ ของฮาร์วาร์ด เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมมากกว่า 50 กิจกรรม เช่น การบรรยาย/การอภิปรายทางวิชาการ ฮาร์วาร์ดจัดให้มีกิจกรรมสัปดาห์ทั่วโลกดังกล่าวนี้เป็นปีที่ 2[2] ดึงประเด็นสำคัญระดับโลกมาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด ซึ่งนอกจากจะเปิดให้ประชาคมมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแล้วยังเปิดกว้างให้แก่กลุ่มบุคคลทั่วไปที่สนใจด้วยเช่นเดียวกัน

กรณีมหาวิทยาลัยไทย ปัจจุบันด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลทำให้การเคลื่อนย้ายบุคลากรและข้อมูลองค์ความรู้ระหว่างประเทศเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งกว่ายุคใดในอดีตที่ผ่านมาและมีแนวโน้มจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในอนาคต มหาวิทยาลัยควรฉวยโอกาสจากกระแสโลกไร้พรมแดนดังกล่าวนี้เป็นสะพานพัฒนาความเป็นทั่วโลกให้แก่ประชาคมมหาวิทยาลัย เริ่มต้นจากในภูมิภาคอาเซียนและขยายขอบเขตสู่ทั่วโลกในที่สุด เป็นศูนย์กลางดึงดูดนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการ จากทั่วโลก สนับสนุนบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการระหว่างกัน อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาคมมหาวิทยาลัยและประเทศชาติสังคมส่วนรวมด้วยอีกทางหนึ่ง

[1] หลักปรัชญาการพัฒนาคน 9 ประการ ประกอบด้วย 1) การศึกษาบนฐานปรัชญา (Philosophy-based education) 2) การศึกษาบนฐานปรัชญาสมรรถนะ (Competency-based education) 3) การศึกษาบนฐานมนุษย์ (Human-based education) 4) การศึกษาบนฐานเศรษฐกิจ (Economic-based education) 5) การศึกษาบนฐานโลกาภิวัตน์ (Globalization-based education) 6) การศึกษาบนฐานการบูรณาการ (Integration-based education) 7) การศึกษาบนฐานการเมือง (Politics based education) 8) การศึกษาบนฐานเทคโนโลยี (Technology-based education) และ 9) การศึกษาบนฐานวัฒนธรรม (Culture-based education)

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/2018/10/worldwide-week-extends-its-influence-into-arts-politics-research/

 

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 66 ฉบับที่ 11 วันศุกร์ 23 – พฤหัสบดี 29 พฤศจิกายน 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *