ผมเคยพูดเอาไว้ในหลายเวทีว่า
“คนที่มีสมรรถนะมากที่สุดจะไม่ต้องสมัครงานเลยตลอดชีวิต”
(เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์)
โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตและรวดเร็ว หากเราต้องการให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในชีวิต เราจำเป็นต้องพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นครบถ้วนให้แก่ผู้เรียน ด้วยว่าการมีสมรรถนะจะช่วยเพิ่มโอกาสการมีงานทำ ทำให้ผู้เรียนของเราเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มบริบทโลกอนาคตที่การแข่งขันทางด้านแรงงานจะมิได้ขึ้นอยู่กับค่าจ้างที่ถูกอีกต่อไป แต่จะขึ้นอยู่กับคุณภาพและสมรรถนะของกำลังแรงงานเป็นสำคัญ ปัจจุบันเราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้บางระดับเกิดขึ้นในประเทศไทยเรา
การจัดการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาของเราโดยมากให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ให้แก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่ยังมิได้มีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมและพัฒนาสมรรถนะให้แก่ผู้เรียนเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการทำงานและการประกอบอาชีพ ส่งผลทำให้ผู้เรียนที่จบการศึกษาของเราจำนวนหนึ่งจึงมีสมรรถนะไม่สอดคล้องตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ด้วยบริบทการทำงานแห่งโลกยุคอนาคต การจัดการศึกษาทุกระดับของเราควรมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ การสร้างสมรรถนะให้แก่กำลังคนจนไม่ต้องสมัครงานตลอดชีวิต พัฒนาเป็นกระบวนการทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย มีการเติมศักยภาพตลอดทาง เป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต การศึกษาต้องทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเปลี่ยนผ่านสมรรถนะให้แก่กำลังคน อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
ในส่วนของการศึกษาในระบบ ผมเห็นว่า ควรปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการวัดและประเมินผลผู้เรียนที่มิใช่แค่บางมุมหรือบางด้าน แต่ควรครอบคลุมครบถ้วนทุกด้านทั้งด้านความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิต (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2541, น. 196 – 197) พัฒนาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต อาทิ ยุคอดีตการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีให้แก่ผู้เรียนอาจไม่สำคัญจำเป็นมากเท่ากับยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต ด้วยว่าความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังมีความจำกัดอยู่มาก ปัจจุบันการมีทักษะการใช้เทคโนโลยีจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้เรียนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก เป็นต้น
กรณีฮาร์วาร์ด
ฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างการศึกษาในระบบที่จัดการศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความคิดการศึกษาครบ 3 องค์ประกอบ อันได้แก่ ความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิต ตามที่ผมได้นำเสนอเอาไว้ในหนังสือ คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม : สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2541, น. 196 – 197) และนำเสนออีกครั้งใน โมเดลสมรรถนะ KSL 31220[1] (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2559) บางระดับแบบไม่จงใจ ดังนี้
ด้านความรู้ การจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ กระบวนการเรียนการสอนมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ความเข้าใจทั้งในศาสตร์สาขาวิชาของตนเองและองค์ความรู้ในศาสตร์สาขาวิชาอื่น สนับสนุนให้ผู้เรียนมีความรู้ลึกซึ้งและกว้างไกลจนสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง อาทิ การส่งเสริมการจัดการศึกษาแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ร่วมกับวิชาการความรู้อื่น โดยให้เป็นทิศทางการจัดการศึกษาที่สำคัญของมหาวิทยาลัย การใช้การวิจัยเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนเริ่มตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ผู้เรียนมีส่วนร่วมทำวิจัยกับคณาจารย์ เป็นโอกาสเพิ่มพูนองค์ความรู้ ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความรู้ลึกสุดขอบพรมแดนความรู้จนสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเอง เป็นต้น
ด้านทักษะ นอกจากการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้แล้ว การพัฒนาทักษะให้แก่ผู้เรียนยังเป็นสิ่งที่ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน อาทิ การให้ผู้เรียนทำโครงงานแก้ปัญหาสถานการณ์ในโลกจริง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นอาสาสมัครนำความรู้ความสามารถจากการศึกษาเล่าเรียนมามีส่วนรับใช้ท้องถิ่นและสังคม นอกจากจะเป็นการเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนแล้ว ยังมีส่วนช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่สำคัญจำเป็น อาทิ ทักษะการคิด ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
ด้านลักษณะชีวิต การเรียนการสอนของฮาร์วาร์ดมีส่วนสำคัญต่อการช่วยพัฒนาลักษณะชีวิตที่ดีงามให้แก่ผู้เรียน พัฒนาผู้เรียนให้พร้อมสู่การเป็นคนที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อาทิ การส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยหลากหลายลักษณะ ให้ผู้เรียนเลือกตามความถนัดและความสนใจของตนเอง เป็นประโยชน์ไม่เฉพาะช่วยพัฒนาจิตสาธารณะให้แก่ผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยฝึกฝนพัฒนาผู้เรียนให้มีวินัย มีความรับผิดชอบ เอาจริงเอาจัง มีมนุษยสัมพันธ์ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น
การจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดดังที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างของการพัฒนาสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นให้แก่ผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ มีเป้าหมายสร้างผู้เรียนที่มีคุณภาพและมีสมรรถนะเป็นที่ต้องการป้อนสู่สังคม เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญอีกทางหนึ่ง
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2538). ลักษณะชีวิตสู่ความสำเร็จ 1. กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย.
________. (2539). ลักษณะชีวิตสู่ความสำเร็จ 2. กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย.
________. (2541). คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม : สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ : ซัค
เซส มีเดีย.
________. (11 มิถุนายน พ.ศ. 2559). การบรรยายหัวข้อ การพัฒนาสมรรถนะ KSL 31220 การเรียน
หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สอนภายใต้วิชา การส่งเสริมคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน 1065103.
[1] โมเดลสมรรถนะ KSL 31220 ประกอบด้วย ความรู้ 3 มิติ ได้แก่ รู้ลึก รู้กว้าง รู้ไกล (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2541, น. 200-201) ทักษะอย่างน้อย 12 หมวด ได้แก่ ทักษะการคิด 10 มิติ ทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะการสร้างเครือข่าย ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการบริหารจัดการ ทักษะการใช้เหตุผล ทักษะการจัดระบบ ทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และลักษณะชีวิต 20 ประการ ได้แก่ การมีวิสัยทัศน์ การมีความซื่อสัตย์ การรักษาคำพูด การมีวินัย การเอาจริงเอาจัง การอดทนพากเพียร การกระทำดีเลิศทุกเวลา การไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น การมีมนุษย์สัมพันธ์ การมุ่งมั่นขยันพากเพียร การรู้จักบังคับตน การซื่อตรงและเที่ยงธรรม การมีความรับผิดชอบ การมีคำพูดและความคิดแง่บวก การมีความยุติธรรม การมีความกล้าหาญ การมีความเสียสละ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีความรอบคอบ และการมีความถ่อมใจ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2538 และ 2539).
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 49 วันศุกร์ 18 – พฤหัสบดี 24 สิงหาคม 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com