เศรษฐกิจศรีลังกาประสบความสำเร็จที่น่าประทับใจ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 6-8 ต่อปีอย่างต่อเนื่องสัดส่วนคนยากจนลดลงจากร้อยละ 23 เหลือร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรระหว่างปี 2002 ถึง 2009 ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร (GDP per capita) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1,241 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2005 เป็น 3,280 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2013
หลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมานานถึงสามทศวรรษ รัฐบาลศรีลังกาได้กำหนดวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน โดยตั้งเป้าหมายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบนในปี 2016 และกำหนดยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเล (maritime hub) ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาคเอเชียกับตะวันออกกลางและยุโรป
จุดแข็งของศรีลังกา คือ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางมหาสมุทรอินเดีย บนเส้นทางเดินเรือสมุทรที่สำคัญและคับคั่งที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการคาดหมายว่าจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกภายในศตวรรษนี้
ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ทำให้ศรีลังกากลายเป็นที่สนใจของมหาอำนาจ ซึ่งแข่งขันกันเพื่อเข้ามามีอิทธิพลในศรีลังกา โดยเฉพาะจีน อินเดียและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นดังคำกล่าวที่ว่า ?ใครก็ตามที่ควบคุมมหาสมุทรอินเดียได้ จะสามารถควบคุมเอเชียได้? (Patrick Mendis)
จีนรุกคืบเข้าควบคุมมหาสมุทรอินเดีย
รัฐบาลปักกิ่งพยายามรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยดำเนินบทบาทในการรักษาความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือของตน ปัจจุบัน จีนมีกองทัพเรือที่คอยปกป้องเส้นทางเดินเรือสำคัญ ทั้งในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่จีนนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลางและแอฟริกา
ปี 2011 จีนตั้งฐานทัพเรือนอกประเทศเป็นแห่งแรกในประเทศเซเชลส์ ในมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ จีนยังผลักดันโครงการพัฒนาท่าเรือในประเทศต่างๆ ทั้งในปากีสถาน บังคลาเทศ เมียนมาร์ และอินโดนีเซีย
จีนอาศัยช่วงเวลาที่ตะวันตกกดดันศรีลังกา ในกรณีที่รัฐบาลศรีลังกาใช้กองกำลังทหารเข้าทำลายล้างกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยจีนรุกคืบเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับศรีลังกาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งด้วยการให้เงินช่วยเหลือ การให้เงินกู้ และการเข้าไปลงทุนในศรีลังกา
นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองจบลงในปี 2009 เป็นต้นมา จีนกลายเป็นผู้ให้กู้แก่ศรีลังกามากที่สุด อาทิ การให้เงินกู้กว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ประกอบด้วยถนน ทางรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ และโรงไฟฟ้า
ยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกันของจีนและศรีลังกา ทำให้จีนสนับสนุนเงินกู้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการเดินเรือในภูมิภาคของศรีลังกา โดยเฉพาะโครงการขยายท่าเรือโคลัมโบ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้
อีกโครงการที่จีนให้การสนับสนุน คือ Colombo Port City ซึ่งเป็นการสร้างเมืองใหม่โดยการถมทะเลพื้นที่กว่า 576 เอเคอร์ หรือเกือบ 1.5 พันไร่ นับเป็นโครงการลงทุนของต่างชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในศรีลังกา และเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนอิทธิพลของจีนในศรีลังกา เพราะพื้นที่ในโครงการนี้มีบริษัทของจีนเป็นเจ้าของถึงร้อยละ 37.8 และอีกร้อยละ 8.6 ให้จีนเช่าเป็นเวลา 99 ปี
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ให้กู้และนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในศรีลังกาแทนที่อินเดีย จีนกำลังจะเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดในศรีลังกาแทนอินเดีย เนื่องจากศรีลังกานำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 ในปี 2008 เป็นร้อยละ 16 ในปี 2013 ขณะที่การนำเข้าจากอินเดียลดลงจากร้อยละ 24 เหลือร้อยละ 18 และข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างจีนและศรีลังกาที่จะลงนามในช่วงกลางปีนี้จะยิ่งทำให้จีนมีอิทธิพลต่อศรีลังกามากขึ้นอีก
การตอบโต้ของอินเดียต่อภัยคุกคามจากจีน
รัฐบาลอินเดียตระหนักถึงภัยคุกคามจากจีน โดยมองว่าจีนกำลังพยายามใช้ศรีลังกาและประเทศเอเชียใต้อื่นๆ จำกัดและปิดล้อมอิทธิพลของอินเดีย ทั้งด้วยการที่จีนให้เงินทุนในการพัฒนาประเทศรอบบ้านของอินเดีย และการมีอยู่ของกองเรือและฐานทัพของจีนในมหาสมุทรอินเดีย
การที่จีนเข้าไปมีอิทธิพลในท่าเรือโคลัมโบอาจส่งผลกระทบต่ออินเดีย เพราะร้อยละ 70 ของการขนถ่ายสินค้าในท่าเรือแห่งนี้ มีความเกี่ยวข้องกับการค้าของอินเดีย ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ที่สร้างความกังวลแก่อินเดียมาก คือ การที่ศรีลังกาอนุญาตให้เรือดำน้ำและเรือรบของกองทัพจีนเข้าเทียบท่าที่เมืองโคลัมโบในปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภัยคุกคามจากจีนกำลังมาถึงที่หน้าประตูบ้าน
การที่อินเดียทำการทดลองขีปนาวุธพิสัยไกลซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ และมีระยะทำการได้ถึงเมืองหลวงของจีน เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความไม่พอใจของอินเดียที่มีต่อจีน และต้องการส่งสัญญาณให้ปักกิ่งให้ระมัดระวังการกระทำที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงในภูมิภาค
รัฐบาลนิวเดลียังพยายามถ่วงดุลอำนาจของจีนในศรีลังกา โดยการเข้าร่วมในโครงการสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ 2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาช่องทางเดินเรือในช่องแคบพาล์ค ซึ่งอยู่ระหว่างอินเดียและศรีลังกา และการพัฒนาท่าเรือบริเวณชายฝั่งตะวันออกของศรีลังกา
หลังจากที่ศรีลังกาได้รัฐบาลใหม่ อินเดียพยายามกระชับความสัมพันธ์กับศรีลังกาให้เข้มแข็งมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลใหม่ของศรีลังกามีท่าทีแตกต่างจากรัฐบาลเดิม โดยมองว่าอินเดียเป็นโอกาสสำหรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของศรีลังกา
นอกจากนี้ อินเดียยังพยายามฝ่าการปิดล้อมของจีน โดยการพัฒนาความร่วมมือในสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (IORA) ให้เข้มแข็งมากขึ้น และการผลักดันความร่วมมือต่างๆ ภายใต้นโยบายมองตะวันออก (Look East policy) เพื่อเชื่อมโยงทางการค้าและการขนส่งระหว่างอินเดียกับอาเซียน
การกลับมาของสหรัฐในศรีลังกา
ในยุคของประธานาธิบดี มหินทรา ราชปักษา ซึ่งมีท่าทีฝักใฝ่จีน สหรัฐ ได้พยายามกดดันรัฐบาลศรีลังกาให้ยุติการสานความสัมพันธ์กับจีน โดยเดินเกมให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) สอบสวนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงสงครามกลางเมืองของศรีลังกา แต่การกดดันดังกล่าวไม่สามารถหยุดการรุกคืบของจีนในศรีลังกาได้
รัฐบาลวอชิงตันจึงเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ คือ การหันไปสนับสนุนนายไมตรีปาลา ศิริเสนา และพรรคฝ่ายค้านที่มีนโยบายนิยมสหรัฐ ให้ได้รับชัยชนะเหนืออดีตประธานาธิบดี มหินทรา ราชปักษา ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา
หลังการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองศรีลังกาได้รัฐบาลใหม่ที่ฝักใฝ่สหรัฐ ทำให้รัฐบาลสหรัฐเปลี่ยนท่าทีกลับมาเป็นหุ้นส่วนกับศรีลังกาอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากการเยือนของผู้ช่วยเลขานุการของรัฐในกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของสหรัฐ และได้กล่าวว่า ?ศรีลังกาสามารถนับสหรัฐเป็นหุ้นส่วนและเพื่อนในหนทางข้างหน้าได้?
ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลใหม่ของศรีลังกาได้หันไปสานสัมพันธ์กับสหรัฐ และอินเดีย และตีตัวออกห่างจากจีน สังเกตได้จากการเดินทางของรัฐมนตรีต่างประเทศศรีลังกาไปเยือนอินเดียและสหรัฐ และรัฐบาลได้ส่งสัญญาณแล้วว่าจะทบทวนนโยบายของประธานาธิบดีราชปักษา โดยเฉพาะการให้สัมปทานในโครงการสำคัญทางเศรษฐกิจและเชิงยุทธศาสตร์แก่จีน
ด้วยท่าทีและนโยบายของรัฐบาลใหม่ศรีลังกา สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยแวดล้อมกำลังเป็นใจให้สหรัฐ สามารถดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมเส้นทางออกสู่ทะเลเพื่อจำกัดอิทธิพลของจีนในเอเชียแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยการผนวกศรีลังกาเข้าเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคนี้
ศรีลังกาเปรียบเหมือนสาวสวยที่หนุ่มๆ เข้ามารุมจีบ ทำให้ศรีลังกามีโอกาสได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ จากประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ดี ความไม่สมดุลในการดำเนินยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอาจส่งผลเสียต่อศรีลังกาเอง เพราะถึงอย่างไรโครงสร้างเศรษฐกิจของศรีลังกายังต้องพึ่งพาเงินทุนจากจีน ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากอินเดีย และต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐ
เมื่อหันมามองประเทศไทย รัฐบาลไทยอยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากรัฐบาลในอดีตของศรีลังกาซึ่งถูกกดดันจากตะวันตก ในขณะที่จีนพยายามเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย การเดินหมากความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในช่วงเวลานี้จึงมีความสำคัญมาก หากไม่ระวัง ประเทศไทยจะกลายเป็นสมรภูมิในสงครามเศรษฐกิจและการเมืองของมหาอำนาจ จนไม่สามารถควบคุมทิศทางการพัฒนาของเราได้เช่นกัน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com,?http:// www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ :?http://www.mfa.go.th/business/contents/images/text_editor/images/sri-lanka.jpg