วิสัยทัศน์ โอกาส และการต่อยอดของสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยสู่ธุรกิจ Wellness โลก

“สมุนไพรไทย” เป็นภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีเอกลักษณ์ สะท้อนถึงวัฒนธรรมไทย และยังเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตที่อยู่คู่สังคมไทยมาโดยตลอด จะเห็นได้จากการนำสมุนไพรมาประกอบในอาหาร เป็นยารักษาโรค ใช้ในการบำบัดดูแลและฟื้นฟูสุขสภาพ รวมถึงสมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาของแพทย์แผนไทยด้วยเช่นกัน ภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ได้รับการสั่งสม สืบทอด และพัฒนามาอย่างยาวนาน
.
ประเทศไทยยังมีพืชสมุนไพรที่ชุมชนรู้จักสรรพคุณและนำมาใช้ประโยชน์กว่า 1,800 ชนิด รวมทั้งองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรอง ขึ้นทะเบียนนวดไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีขุมทรัพย์ มีของดีอยู่ใกล้ตัว
.
ปัจจุบันประเทศไทยหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมุนไพรและแพทย์แผนไทยมากขึ้น แนวโน้มการบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560-2563 มีอัตราการขยายตัว ประมาณ ร้อยละ 10 ต่อปี และพื้นที่ปลูกสมุนไพรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความต้องการของตลาดที่สูงขึ้นและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลของรัฐนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้น
.
จากแนวโน้มดังกล่าว ผมจึงขอนำเสนอวิสัยทัศน์ โอกาส และการต่อยอดของสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงสุขสภาพโลก ดังนี้
.

1. จัดตั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยสุขสภาพ (Wellness University)
ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรและแพทย์แผนไทย จำนวนมากยังเป็นกล่องดำ (black box) กล่าวคือ รู้ว่าต้องใช้สมุนไพรอะไร รักษาโรคอะไร แต่ไม่รู้ว่าทำไมจึงสามารถรักษาได้ ไม่สามารถอธิบายกลไกในการรักษาได้ จะเห็นว่าองค์ความรู้ เกี่ยวกับสมุนไพร และแพทย์แผนไทย มีหลายขนาน หมอแผนโบราณแต่ละคน มีสูตรยา หรือวิธีรักษาที่แตกต่างกัน จึงทำให้องค์ความรู้กระจัดกระจาย ขาดการจัดระเบียบองค์ความรู้ ซึ่งอาจเป็นปัญหาทำให้ไม่รู้ว่าควรใช้ สมุนไพรตัวไหนในการรักษา
.
ผมจึงเสนอว่าควรส่งเสริมธุรกิจสุขสภาพ (Wellness) จากสมุนไพรและแพทย์แผนไทย โดยมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยระดับโลก เฉพาะทางด้านสุขสภาพ เพื่อรวบรวมและจัดระบบระเบียบองค์ความรู้ด้านสมุนไพรและแพทย์แผนไทยเป็นศูนย์รวมความรู้ด้านนี้อย่างครบถ้วน จากทั่วประเทศไทยและทั่วโลก ส่งบุคลากรไปศึกษาด้านสุขสภาพทั่วโลกอย่างลงลึก รวมทั้งดึงผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาทำการสอนและพัฒนาหลักสูตรบูรณาการกับศาสตร์อื่น ๆ โดยเฉพาะแพทย์แผนปัจจุบัน บูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุน ศาสตร์สมุนไพรและแพทย์แผนไทย เพื่อการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทย สมุนไพร
.
2. สร้างระบบนิเวศน์สุขสภาพครอบคลุม ครบวงจร (Wellness Ecosystem)
อุตสาหกรรมสุขสภาพ ยังไม่สมดุล ขาดความเชื่อมโยง หรือสนับสนุนกัน ทำให้การพัฒนาสุขสภาพ (wellness) ในประเทศไทย ไม่ครบวงจรเพราะไม่ครอบคลุมกิจกรรมอื่น ๆ ประเทศไทยควรตั้งเป้าพัฒนาระบบนิเวศของสุขสภาพอย่างครอบคลุม
.
ทุกขั้นตอน (Stage) ตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน ตรวจ รักษา ฟื้นฟู ดูแลสุขสภาพ
ทุกรูปแบบ (Pattern) ทั้งแพทย์แผนไทย แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือกทุกแผน
ทุกมิติ (Dimension) ไม่ว่าจะเป็นระดับปัจเจกบุคคล (จุลภาค) หรือระดับสังคม (มหภาค)
ทุกกิจกรรม (Activity) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
.
โดยส่งเสริมผู้ประกอบการ และองค์กรต่าง ๆ ให้ร่วมพัฒนากิจกรรมสุขสภาพ ทั้งการลงทุน การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ และพัฒนาแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจสุขสภาพ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับบริการสุขสภาพรูปแบบใหม่ เช่น ศาสนสถาน พัฒนากิจกรรมทาง (spiritual wellness) หรือ ผู้ประกอบการสถาบันการศึกษา พัฒนากิจกรรม (intellectual wellness) เป็นต้น
.

3. สร้างอุปสงค์ทางสุขสภาพ (Wellness Demand)
การแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ยอมรับการใช้สมุนไพรและแพทย์แผนไทยมากนัก ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในโรงพยาบาล เนื่องจากผู้สั่งจ่ายยาไม่รู้จักขนานยาและสรรพคุณยา ไม่ทราบปริมาณที่จำเป็น และปัจจัยส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรที่ผู้สั่งยามีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับยา ผู้สั่งยาไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของยาสมุนไพร ในขณะที่พฤติกรรมของผู้คนมักจะไปรับบริการด้านสุขสภาพ เมื่อมีปัญหาเท่านั้น แต่คนส่วนน้อยที่เน้นการป้องกัน การดูแล และเสริมสร้างสุขสภาพ
.
ผมจึงเสนอแนวทางในการที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเป็นวิทยาศาสตร์ของกิจกรรมสุขสภาพ (Wellness Scientification) โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการวิจัย การทดสอบมาตรฐาน และออกตรารับรอง (Wellness Standardization) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสินค้าและบริการด้านสุขสภาพ และประสานพลังความรู้ด้านสุขสภาพที่ได้มาตรฐานแล้ว (Wellness Synergization) ให้บุคลากรทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาแก่คนไข้ รวมถึงเปิดพื้นที่ในโรงพยาบาลเพื่อให้บริการด้านสุขสภาพมากขึ้น
.
รวมทั้งบรรจุความรู้ สมุนไทยและแพทย์แผนไทย ในหลักสูตรแพทย์แผนปัจจุบันด้วย สร้างการยอมรับจากนานาประเทศโดยผลักดันให้องค์การอนามัยโลกรับรองแพทย์แผนไทย ว่าเป็นศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่รักษาได้จริง อันเป็นการส่งสัญญาณถึงมาตรฐานด้านสุขสภาพ (Wellness Signaling) ที่ประเทศไทยมีอยู่
.
4. บูรณาการด้านสุขสภาพกับจุดแกร่งด้านอื่น ๆ (Wellness Integration)
สินค้าและบริการด้านสุขสภาพ ยังไม่ได้บูรณาการกับอุตสาหกรรมอื่นมากนัก ยกเว้นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่มีการขยายตัวขึ้น แต่ธุรกิจสุขสภาพ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากจุดแกร่งด้านอื่น ๆ อย่างเต็มที่ ไทยจึงควรพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจ โดยเชื่อมโยงจุดแกร่งของประเทศ ได้แก่ อาหาร การท่องเที่ยว และการดูแลผู้สูงอายุ เหล่านี้เข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถพัฒนากิจกรรมได้อย่างน้อย 7 แบบหลัก ได้แก่
.
(1) Food Wellness: อาหารเพื่อสุขสภาพ นำความรู้ด้านสมุนไพร ไปเพิ่มคุณค่าให้กับอาหาร
(2) Wellness Tourism: นำความรู้แพทย์แผนไทยและสมุนไพร ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว
(3) Elderly Wellness: กิจกรรมสุขสภาพเพื่อผู้สูงอายุ โดยใช้สมุนไพรและแพทย์แผนไทย
(4) Food Wellness Tourism: การท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อสุขสภาพ
(5) Food Wellness for Senior: อาหารเพื่อสุขสภาพสำหรับผู้สูงอายุโดยใช้สมุนไพร
(6) Wellness Tourism for Senior: การท่องเที่ยวเชิงสุขสภาพสำหรับผู้สูงอายุ
(7) Food Wellness Tourism for Senior: การท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อสุขสภาพสำหรับผู้สูงอายุ
.
ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีมรดกภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาการแพทย์แผนจีน โดยยาจำเป็นทั้งหมด 520 ชนิดของจีน เป็นยาแผนโบราณถึง 203 ชนิด อุตสาหกรรมยาแผนโบราณ มีมูลค่า 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมยาทั้งหมดของจีน จีนยังให้การส่งเสริมการส่งออกการแพทย์แผนจีน ทั้ง การส่งออกยาแผนโบราณของจีน
.
ทำให้มูลค่าการส่งออกยาจีนขยายตัว ร้อยละ 8.2 ต่อปี ระหว่างปี (2016-2020) และส่งเสริมการบรรจุการแพทย์แผนจีน ในหลักสูตรการแพทย์ของหลายประเทศ รัฐบาลจีนยังมีนโยบาย “Healthy China 2030” โดยมีมาตรการในการส่งเสริมยาและแพทย์แผนจีน ตั้งเป้าให้คนจีนทุกคน เข้าถึงบริการพื้นฐานของการแพทย์แผนจีน
.
ในทำนองเดียวกัน ประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิม หากให้ความสำคัญ และพัฒนาอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าการแพทย์แผนไทยจะเป็นจุดขายที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ที่ประเทศอื่นเลียนแบบได้ยาก และจะทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์ไทยได้รับการยกระดับ และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อทำให้ประชาชนมีสุขสภาพที่ดี มีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *