ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมไทยในปัจจุบัน ผมเห็นว่ามีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากกระบวนการบริหารที่ยังไม่ครบถ้วนทุกมิติ ผมได้ทบทวนเรื่องกรอบความคิดในการบริหารและพัฒนาไปสู่การสร้างโมเดลใหม่ “ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E โมเดล” เมื่อหลายปีที่แล้ว
ในบทความนี้ ผมจะกล่าวถึง E ตัวที่ 4 ซึ่งผมขอสร้างคำเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Esteemed Valuableness” และสร้างคำเป็นภาษาไทยว่า “ประสิทธิคุณ”
ประสิทธิคุณ เป็นคำที่ผมสร้างขึ้นมา ประกอบด้วยคำว่า ประสิทธิ+คุณ ซึ่งคำว่า ประสิทธิ หรือ ประสิทธิ์ หมายถึง การทำให้สำเร็จหรือเกิดความสำเร็จ ส่วนคำว่า คุณ มาจากคำว่า คุณค่า หมายถึง ความดีที่มีประจำในสิ่งนั้นๆ
คำว่า ประสิทธิคุณ จึงหมายความว่า การทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดสำเร็จอย่างมีประโยชน์และเกิดคุณค่า ความดีงามขึ้น โดยสิ่งที่ควรทำให้สำเร็จในที่นี้ คือ “ผลลัพธ์” ผลผลิตและผลลัพธ์มีความหมายแตกต่างกัน ผลผลิต คือ สิ่งที่ได้ออกมาจากกระบวนการผลิตที่เป็นรูปธรรมหรือรับรู้ได้ ส่วนผลลัพธ์ คือ ผลประโยชน์ที่ได้จากผลผลิตนั้น
คำถามสำคัญ คือ จะบริหารผลลัพธ์อย่างไรให้มีคุณค่า? ผลลัพธ์ที่ดีย่อมมาจากผลผลิตที่ดี ผลผลิตที่ดีย่อมมาจากกระบวนการผลิตที่ดี และกระบวนการที่ดีส่วนหนึ่งก็ย่อมมาจากการมีปัจจัยการผลิตที่ดี ดังที่ผมเคยกล่าวไว้ในบทความเรื่องยุทธศาสตร์การบริหาร 8E โมเดลตอนที่ 1-3
สาเหตุที่ต้องมียุทธศาสตร์การบริหารเพื่อผลลัพธ์ที่มีคุณค่า เนื่องจาก
(1) ในบางครั้ง การผลิตทำให้ได้เฉพาะผลผลิต แต่ไม่ได้ผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์สุดท้ายที่ต้องการ เช่น มหาวิทยาลัยเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณอาจารย์ และเพิ่มความเข้มข้นของหลักสูตร ซึ่งได้ผลผลิตคือ บัณฑิตที่จบการศึกษา แต่ไม่เคยตรวจสอบหรือประเมินว่าผลลัพธ์ว่า ผู้ที่จบการศึกษาออกไปมีสมรรถนะจริงหรือไม่ หรือในการทำกิจกรรม CSR ของหน่วยงานภาคเอกชน ที่มุ่งเน้นนับจำนวนคนและชั่วโมงที่ลงไปทำกิจกรรม แต่อาจไม่ได้พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงหลังจากลงไปทำกิจกรรมนั้น
(2) ผลสัมฤทธิ์มีหลายลักษณะ ผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ทั้งที่มีมูลค่าและคุณค่า ผมแบ่งผลลัพธ์ไว้ 3 ประเภท คือ ผลลัพธ์ที่มีมูลค่า คุณค่า และเลอค่า (ซึ่งเลอค่าจะอธิบายในบทความตอนต่อไป) โดยผลลัพธ์ที่มีมูลค่า เช่น ธุรกิจมีกำไรจากการทำธุรกิจ ซึ่งกำไรเป็นสิ่งที่มี “มูลค่า” แต่อาจไม่ใช่ที่มี “คุณค่า” ผลลัพธ์ที่มีคุณค่า เช่น การทำให้สังคมดีขึ้นจากธุรกิจของเรา การมีส่วนในการช่วยลดปัญหาสังคม ช่วยสร้างงานในชุมชน ช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งที่มี “มูลค่า” อาจไม่มี “คุณค่า” หรือ สิ่งที่มี “คุณค่า” อาจไม่มี “มูลค่า”
แนวทางบริหารที่จะช่วยให้เกิดการบริหารอย่างมีประสิทธิคุณ
1. Dr. Dan can do strategy law (Strategy + Priority + Focus) เป็นกฎที่ผมพัฒนาต่อยอดจากกฎของพาเรโต ซึ่งอธิบายว่า ความสำเร็จ (ผลลัพธ์) ร้อยละ 80 มาจากปัจจัย เพียงร้อยละ 20 แต่หากยกกำลัง 2 ผลลัพธ์ที่ได้ร้อยละ 64 จะมาจากปัจจัยเพียงร้อยละ 4 และถ้าหากยกกำลัง 3 จะเกิดการใช้ปัจจัยเพียงร้อยละ 0.8 และทำให้เกิดผล 80 x 80 x 80 เท่ากับ ร้อยละ 51.2 หรือประมาณค่าได้ว่า หากใช้ปัจจัยเพียงราวร้อยละ 1 จะทำให้เกิดผลลัพธ์เกินกว่าร้อยละ 50
ตัวอย่างเช่น หลังจาก สตีฟ จ๊อบส์ กลับมาเป็น CEO ของบริษัทแอปเปิ้ลอีกครั้งในช่วงต้นปี 1997 ซึ่งเป็นช่วงที่แอปเปิ้ลกำลังมีปัญหาในการต่อสู้กับไมโครซอฟท์ สตีฟ จ๊อบส์ จึงปรับโครงสร้างองค์กร โดยการลดผลิตภัณฑ์ที่ผลิต จาก 350 ชนิด เหลือเพียง 10 ชนิดที่ทำได้ดีเยี่ยมจริงๆ เท่านั้น และหลังจากปรับโครงสร้าง บริษัทแอปเปิ้ลกลับมามีกำไรอีกครั้ง ในไตรมาสที่ 4 ของปี 1997 หลังจากขาดทุนมายาวนาน
2. Balanced KPI Mix เป็นแนวคิดของผมซึ่งครอบคลุมทุกมิติอย่างพลวัตต่อประเด็นกว่าแนวคิด Balanced Scorecard ผมเห็นด้วยกับหลักคิดของ Balanced Scorecard ที่มองว่าการควบคุมองค์กรต้องพิจารณารอบด้าน ไม่เพียงแต่ผลลัพธ์หรือผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น แต่สิ่งที่ผมเห็นแตกต่างไป คือ การกำหนดตัวชี้วัดอาจไม่จำเป็นต้องกำหนด 4 ด้าน (ด้านการเงิน ลูกค้า กระบวนการภายใน การเรียนรู้และเติบโต) ตายตัวเสมอไป โดยผู้บริหารต้องกำหนด KPI ที่สะท้อนผลลัพธ์ที่มีคุณค่า รวมถึงคิดวิธีวัดผลลัพธ์ที่มีคุณค่าตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มโครงการและมีประเด็นครอบคลุม ให้ครบโดยคิดว่าโจทย์นี้ควรมีประเด็นกี่ด้านและควรพิจารณาตามประเด็นพิจารณาที่เจาะจงและพลวัตเวลาที่เปลี่ยนไปด้วย
3. CSR + SE
CSR คือ การรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ โดยทุกองค์กรทำดี และจะได้ไม่ใช่องค์กรทำดี “เพื่อ” จะได้ ที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดเรื่อง CSR คือ ทำ “เพื่อจะได้” เช่น ได้ภาพลักษณ์ ได้การนับถือ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ไม่มีพลังและไม่มีคุณค่า แต่หากทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบจริงใจ ไม่ได้คิดว่าจะได้ ก็จะเกิดพลังและองค์กรจะได้ประโยชน์กลับมาเอง ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่า
ส่วน SE (Social Enterprise) คือ การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม โดยเลือกเอาปัญหาสังคมเป็นที่ตั้ง และใช้ธุรกิจเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลัก เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน BEP เป็นกิจการเพื่อสังคมในประเทศอินโดนีเซีย ส่งเสริมให้ชาวบ้านนำขยะในชุมชนมาขาย เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงงาน และจำหน่ายไฟฟ้าคืนสู่ชุมชนในราคาถูกกว่าภาครัฐ กิจการนี้ผลลัพธ์อาจไม่มี “มูลค่า” สูง แต่มี “คุณค่า” มาก
ทุกคนสามารถบริหารอย่างมีประสิทธิคุณได้ โดยจัดสรรทรัพยากรโดยเฉพาะคนที่ดีที่สุดไปกับกิจกรรมที่จะสร้างผลลัพธ์สูงสุด ทุ่มเทพลังกับกิจกรรมที่สร้างผลลัพธ์ที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง รวมทั้งควบคุมต้นทุนในจุดที่จะลดต้นทุนและเพิ่มผลลัพธ์ที่มีคุณค่าทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.grupobmais.com.br/wp-content/uploads/2015/02/Franchising-960×530.jpg