มื้ออาหาร 9 มื้อ: พิธีกรรมความสัมพันธ์ (9 Meals: Relationship Ritual)

“หากคุณต้องการสร้างมิตรภาพอย่างแท้จริง ไปที่บ้านของใครบางคนและรับประทานอาหารร่วมกันกับเขา…คนที่แบ่งปันอาหารของพวกเขาให้แก่คุณ เขาเหล่านั้นให้หัวใจแก่คุณ” ซีซาร์ ชาเวช (“If you really want to make a friend, go to someone’s house and eat with him…The people who give you their food give you their heart” Cesar Chavez”
.
ข้อความของ ซีซาร์ ชาเวช ดังกล่าวข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการรับประทานอาหารและการสร้างมิตรภาพระหว่างกัน อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต มนุษย์ทุกคนต้องรับประทานอาหาร บางคนรับประทานอาหารวันละ 1 มื้อ บางคนรับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ อาทิ พระภิกษุสงฆ์ฉันอาหารวันละ 2 มื้ออาหาร เป็นต้น บางคนรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ บางคนรับประทานอาหารมากกว่าวันละ 3 มื้อ บางคนรับประทานอาหารทุกวัน บางคนเว้นรับประทานอาหารบางวัน แต่โดยปกติทั่วไปมักมีมื้ออาหารหลักประจำวัน วันละ 3 มื้ออาหาร ประกอบด้วย อาหารมื้อเช้า อาหารมื้อกลางวัน และอาหารมื้อเย็น
.
ตั้งแต่อดีตการรับประทานอาหารมิเพียงมีประโยชน์เฉพาะต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ในการวิเคราะห์ของผมมื้ออาหารยังถูกแปลงเป็นพิธีกรรม (ritual) หลายอย่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง วิธีคิด คุณค่า ความดีงาม ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละสังคมหรือชุมชน อาทิ มุสลิมมีเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนแห่งการถือศีลอดและเดือนแห่งโอกาสในการทำความดี วิถีชีวิตปกติละเว้นการรับประทานสัตว์มลทิน เช่น เนื้อหมู แต่รับประทานอาหารฮาลาล (Halal Food) สังคมจีนมีอาหารประจำเทศกาลต่าง ๆ สังคมตะวันตกมีอาหารพิเศษในงานเลี้ยงเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส เป็นต้น การเข้าใจพิธีกรรมการรับประทานอาหารเหล่านี้เป็นประโยชน์และช่วยให้สามารถประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อันจะมีผลทำให้เกิดความประทับใจและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
.
ท่ามกลางพิธีกรรมการรับประทานอาหารที่มีอยู่หลากหลายในสังคม มีพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ พิธีกรรมการสร้างความสัมพันธ์ผ่านทางการรับประทานอาหารด้วยกัน อันเป็นสัญลักษณ์สะท้อนถึงการเห็นคุณค่า การให้เกียรติ ดังจะเห็นได้ว่ามีพิธีกรรมลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและหลากหลายในสังคม อาทิ งานเลี้ยงอาหารค่ำกลุ่มบุคคลสำคัญหรือผู้นำประเทศ งานเลี้ยงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง งานเลี้ยงสังสรรค์เนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น ตามคำที่ผมกล่าวเอาไว้ว่า “ปากเปิด ใจเปิด” ด้วยว่าช่วงเวลาของการรับประทานอาหารเป็นเวลาของการผ่อนคลายจึงเหมาะสำหรับใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยใช้การรับประทานอาหารด้วยกันสร้างความสัมพันธ์ประเภทต่าง ๆ อาทิ นักธุรกิจใช้การรับประทานอาหารเป็นโอกาสพูดคุยทางธุรกิจ นักการเมืองใช้การรับประทานอาหารเป็นโอกาสพูดคุยทางการเมือง หนุ่มสาวใช้การรับประทานอาหารเป็นโอกาสในการเกี้ยวพาราสี เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและด้วยความจำกัดทางด้านเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ ประกอบกับกิจกรรมการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่มนุษย์เราจำเป็นต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอ ผมจึงเสนอว่า ควรจัดพิธีกรรมการรับประทานอาหาร 3 มื้ออาหารเสียใหม่ เพราะการรับประทานอาหารมิใช่มีวัตถุประสงค์เพื่อความอิ่มท้องหรือบรรเทาความหิวเท่านั้น แต่รับประทานอาหารเพื่อเป็นการให้เกียรติ แสดงออกถึงการเห็นคุณค่า เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ความต้องการสร้างความสัมพันธ์เป็นหลักอีกด้วย โดยมิเพียงจำกัดอยู่เฉพาะ 3 มื้ออาหารต่อวัน อาจแบ่งเป็น 9 มื้ออาหารต่อวัน หากหาเวลารับประทานอาหารตรงกันไม่ได้หรือหาได้ลำบาก แต่ละวันในแต่ละมื้ออาหารอาจจะรับประทานอาหารน้อยลง แต่เพิ่มจำนวนครั้งให้มีความถี่หรือความบ่อยมากขึ้น เพื่อให้สามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนได้มากขึ้น
.
ผมจึงขอบัญญัติศัพท์เสนอแบ่งมื้ออาหารทางเลือกตามความสะดวกในการสร้างสัมพันธ์เป็น 9 มื้อ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน เป็นพิธีกรรมการรับประทานอาหารแบบใหม่ในสังคม โดยแต่ละมื้ออาหารคำนึงถึงกิจกรรมระหว่างวันที่สอดคล้องกัน ดังนี้
.
มื้อที่ 1 Preakfast ( pre+breakfast: เวลา 05.00-07.00 น.) เป็นช่วงก่อนอาหารมื้อเช้าของวัน เขยิบเวลารับประทานอาหารของวันให้เร็วขึ้น การรับประทานอาหารมื้อนี้อาจเป็นมื้ออาหารหลัก เหมาะสำหรับการใช้เวลากับบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นทางด้านเวลา ด้วยว่าเป็นเวลาช่วงเช้าเริ่มต้นกิจกรรมของวัน อาทิ เป็นเวลารับประทานอาหารกับสมาชิกในครอบครัวที่อาจจะหาเวลาตรงกันลำบาก ก่อนแยกย้ายกันไปทำงานหรือทำภารกิจของตนเอง เป็นต้น
.
มื้อที่ 2 Breakfast (เวลา 07.00-09.00 น.) ปกติเป็นช่วงเวลารับประทานอาหารมื้อเช้าของวัน ก่อนเริ่มต้นการทำงานหรือเข้าเรียน การรับประทานอาหารมื้อนี้โดยส่วนใหญ่เป็นมื้ออาหารหลัก แต่สำหรับบางคนอาจเป็นช่วงเวลาของการเดินทาง จึงเหมาะสำหรับเป็นเวลารับประทานอาหารกับกลุ่มนักธุรกิจที่มีเวลาน้อยหรือกับเพื่อนร่วมงาน หรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่เดียวกันหรือบริเวณเดียวกัน อาทิ เป็นเวลาพบปะพูดคุยกับทีมงานหรือเพื่อนร่วมงานก่อนแยกย้ายกันไปทำงาน เป็นต้น
.
มื้อที่ 3 Postreakfast (post+breakfast: เวลา 09.00-10.30 น.) เป็นอาหารมื้อหลังอาหารมื้อเช้าของวัน เป็นช่วงเวลาของการทำงานหรือการเข้างาน สำหรับบางคนอาจเป็นช่วงเวลาของการรับประทานอาหารมื้อเช้าของวัน การรับประทานอาหารมื้อนี้จึงเหมาะสำหรับการพบปะนัดหมายกับบุคคลที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นทางด้านเวลา อาทิ การพบปะพูดคุยกันทางธุรกิจ เป็นต้น
.
มื้อที่ 4 Brunch (breakfast+lunch: เวลา 10.30-12.00 น.) เป็นช่วงเวลาระหว่างอาหารมื้อเช้าและอาหารมื้อกลางวันของวัน สำหรับบางคนอาจเป็นช่วงเวลาของการรับประทานอาหารมื้อเช้าหรือมื้อกลางวัน การรับประทานอาหารมื้อนี้จึงเหมาะสำหรับการพบปะนัดหมายกับบุคคลที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นทางด้านเวลา อาทิ การพบปะพูดคุยกันทางธุรกิจ การติดต่อพบปะลูกค้า เป็นต้น
.
มื้อที่ 5 Lunch (เวลา 12.00-14.00 น.) เป็นอาหารมื้อกลางวันของวัน ปกติเป็นช่วงเวลาของการพักจากการทำงานและการเรียน เป็นช่วงเวลาของการผ่อนคลาย การรับประทานอาหารมื้อนี้จึงเหมาะสำหรับการพบปะนัดหมายพูดคุยธุรกิจการงานและกับบุคคลที่ค่อนข้างมีความจำกัดทางด้านเวลา หรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่เดียวกันหรือบริเวณเดียวกัน อาทิ เป็นเวลาพบปะพูดคุยกับทีมงานหรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อนนักเรียนนักศึกษาด้วยกัน เป็นต้น
.
มื้อที่ 6 Dunch (lunch+dinner: เวลา 14.00-16.00 น.) เป็นอาหารมื้อหลังอาหารมื้อกลางวันของวัน และใกล้กับอาหารมื้อกลางวันของวัน ส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาของการทำงาน การรับประทานอาหารมื้อนี้จึงเหมาะสำหรับการพบปะนัดหมายกับบุคคลที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นทางด้านเวลา อาทิ การพบปะติดต่อลูกค้า การพูดคุยกันทางธุรกิจ เป็นต้น
.
มื้อที่ 7 Linner (dinner+lunch: เวลา 16.00-18.00 น.) เป็นอาหารมื้อหลังอาหารมื้อหลังอาหารมื้อกลางวันของวัน และใกล้กับอาหารมื้อเย็นของวัน ปกติเป็นช่วงเวลาของการเลิกงานหรือเลิกเรียนหรือการเดินทางกลับบ้านจึงเหมาะสำหรับการพบปะนัดหมายกับบุคคลที่ไม่ติดขัดหรือมีความคล่องตัวทางด้านเวลา อาทิ การพบปะพูดคุยกับทีมงานหรือเพื่อนร่วมงานนอกเวลาทำงาน เป็นต้น
.
มื้อที่ 8 Dinner (เวลา 18.00-20.00 น.) เป็นอาหารมื้อเย็นของวัน การรับประทานอาหารมื้อนี้ปกติเป็นมื้ออาหารหลัก แต่สำหรับบางคนอาจยังเป็นช่วงเวลาของการทำงาน การเรียน หรือการเดินทาง การรับประทานอาหารมื้อนี้จึงเหมาะสำหรับเป็นช่วงเวลาของการพบปะนัดหมายกับบุคคลที่สามารถปรับเปลี่ยนเวลาได้หรือมีเวลาว่าง อาทิ การพบปะพูดคุยกับเพื่อนสนิทมิตรสหาย คนรู้จัก เป็นต้น และ
.
มื้อที่ 9 Postinner (post+dinner: เวลา 20.00-22.00 น.) เป็นอาหารมื้อหลังอาหารมื้อเย็น และเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับบางคน ส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนและการเข้านอน จึงเหมาะสำหรับเป็นช่วงเวลาของการพบปะนัดหมายกับบุคคลที่มีความสะดวกทางด้านเวลาและบุคคลใกล้ชิด อาทิ การพบปะพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว งานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น
.
การรับประทานอาหารแต่ละมื้ออาจจะลดปริมาณลง แต่เพิ่มจำนวนมื้ออาหารมากขึ้นตามความเหมาะสม คำนึงถึงสุขภาพและวัตถุประสงค์ความต้องการเป็นหลัก โดยแต่ละวันเราคงมิได้รับประทานอาหารทั้ง 9 มื้ออาหาร มีหลายมื้ออาหารที่เพิ่มเข้ามาเพื่อเป็นการนำเสนอเปิดช่องการทานอาหารร่วมกันให้เป็นพิธีกรรมในสังคมยอมรับการยืดหยุ่นเวลาให้เหมาะสมกับกิจกรรมการสร้างความสัมพันธ์ลักษณะต่าง ๆ
.
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายหรือสิ้นสุดลง ผู้คนเริ่มกลับมามีวิถีชีวิตปกติ การรับประทานอาหารควรถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์พิธีกรรมการสร้างความสัมพันธ์มากขึ้น การรับประทานอาหารประจำวันสำหรับชีวิตและความอยู่รอดอาจต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ให้สอดคล้องกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคม และปรับเปลี่ยนนำมาใช้เป็นกลยุทธ์สร้างความสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น
.
สุดท้ายนี้ อยากจะทิ้งท้ายด้วย โมเดลสัญชาตญาณ 3ก : ถูก vs ผิด (กิน กาม เกียรติ) ของผม กินถูกคือ กินสุขภาพหรือกินเพื่ออยู่ เป็นการกินที่คำนึงมิติสุขภาพ อันเป็นหลักคิดพื้นฐานของการกินที่ถูกต้อง นอกจากกินถูกนี้แล้วการกินยังสามารถนำมาใช้เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การสร้างความสัมพันธ์ได้ด้วยอีกทางหนึ่ง
.

ที่มา : นิตยสาร MIX
รายการอ้างอิง
อิบนุมะฮฺดี, 12 ความพิเศษของเดือนเราะมะฎอน เข้าถึงได้จาก
12 ความพิเศษของเดือนเราะมะฎอน (islammore)
Biography, Cesar Chavez Available from
Cesar Chavez – Quotes, Facts & Death – Biography

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *