“มองโลกปี 2012”

คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกเชื่อมโยงกันมากขึ้นทุกวัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่ง อาจกระทบต่ออีกซีกโลกหนึ่งอย่างรวดเร็ว จนแทบจะเหมือนกับว่าเหตุการณ์เกิดขึ้น ณ จุดเดียวกันแม้ว่าจะอยู่ห่างกันคนละซีกโลก จึงเป็นความสำคัญ ความจำเป็นที่ควรให้ความสนใจกับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อที่จะสามารถปรับตัวหรือแก้ไขอย่างทันท่วงที

โลกในปี 2012 นี้ประเด็นทางเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของกลุ่มสหภาพยุโรป แม้ผู้นำประเทศเหล่านี้จะรับทราบปัญหาและพยายามแก้ไข สุดท้ายจบลงตรงประโยคที่

ว่า ?ต้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตน? กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ส่งผลให้การแก้ไขมีความคืบหน้าน้อย แต่ด้วยประโยคนี้เช่นกันท้ายที่สุดกลุ่มประเทศเหล่านี้ จะต้องหาทางออกทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน กระบวนการเจรจาต่อรองของประเทศกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปจะดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น

ปีใหม่นี้ หลายรัฐบาลใน กลุ่มสหภาพยุโรป จะออกนโยบายรัดเข็มขัด เริ่มแผนการปฏิรูปต่างๆ เราได้แต่เอาใจช่วยให้แผนเหล่านี้ ประสบความสำเร็จตามเป้า ไม่เป็นอย่างปีที่ผ่านมา ที่นโยบายหรือแผนเหล่านี้ไม่ประสบผลเท่าที่ควร เช่น กรีซ สเปน อีกทั้งน่าติดตามว่า ด้วยผลพวงจากพิษเศรษฐกิจจะกระทบต่อการเมืองและสังคมในประเทศเหล่านี้อย่างไร ประเทศเหล่านี้จะมีทิศทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในแนวทางใหม่หรือไม่ ความเป็นไปที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนให้กับประเทศอื่นๆ ต่อไป

ข้ามจากทวีปยุโรปผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก สหรัฐอเมริกา เข้าสู่รอบการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง สื่ออเมริกันได้โหมโรงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และสื่อทั่วโลกจะนำเสนอเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนสิ้นสุดการเลือกตั้ง การเลือกประธานาธิบดีครั้งนี้ จะได้ข้อสรุปแนวนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชาชนชาวอเมริกันจะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางของพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกัน และผลการเลือกตั้งจะกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศของประเทศต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้ามมาที่ ภูมิภาคตะวันออกกลาง สถานการณ์การลุกฮือของประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลในหมู่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามยังอยู่ในความสนใจของโลกต่อไป ความสำคัญในเรื่องนี้ นอกจากเรื่องความเป็นไปทางการเมืองภายในประเทศเหล่านี้แล้ว ส่วนที่ประเทศตะวันตกให้ความสำคัญ คือ ประเทศนั้นเกี่ยวข้องกับการผลิตหรือขนส่งน้ำมันดิบ เพราะหากอุปทานน้ำมันลดลงจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกทันที ยิ่งในยามที่ประเทศตะวันตกต้องการการฟื้นฟูเศรษฐกิจย่อมคาดหวังให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำหรือระดับราคาที่ไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

ส่วนประเด็นรองลงมา ได้แก่ เรื่อง โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่รัฐบาลอิหร่านยืนกรานมาตลอดว่าเป็นโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติ ในขณะที่หลายประเทศโดยเฉพาะฝั่งสหรัฐตั้งข้อสงสัยและพยายามหาทางยุติโครงการดังกล่าว ความขัดแย้งนี้จะยังคงดำเนินต่อไปและอาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

เรื่องโครงการนิวเคลียร์ในอีกฟากฝั่งหนึ่ง คือ โครงการของประเทศเกาหลีเหนือ ที่เพิ่งจะได้ผู้นำประเทศคนใหม่ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออก เกี่ยวข้องกับสมดุลอำนาจในแถบนั้น และความจริงแล้วเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประเทศมหาอำนาจใช้เป็นเวทีแสดงบทบาทของตนเสมอมา

นอกเหนือจากประเด็นการเมือง การทหาร เศรษฐกิจดังกล่าว ประเด็นที่อาจสำคัญกว่า แต่มักถูกพูดถึงน้อยกว่า คือ ประเด็นสิ่งแวดล้อมโลก พิบัติภัยขนาดใหญ่ ประเด็นผลพวงทางสังคมจากกระแสโลกาภิวัตน์ ปัญหาความยากจน ความอดอยาก เรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ เชื้อโรคหรือโรคติดต่อร้ายแรงที่ข้ามพรมแดนได้โดยง่าย เหล่านี้ยังอยู่กับโลกในปี 2012 และยังรอการแก้ไข รอความร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนระดับประเทศ เพื่อนบ้านของไทย พัฒนาการทางการเมืองในประเทศเมียนมาร์หรือพม่า กับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ยังอยู่ในความสนใจ แต่ เรื่องที่มีความสำคัญต่ออนาคตประเทศไทยมากที่สุด คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC ซึ่งจะก่อผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อคนไทยทั้งประเทศ เกิดคำถามว่าคนไทยเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

ภาพรวม โลกในปี 2012 ส่วนใหญ่เป็นผลพวงสืบเนื่องจากโลกในปีที่ผ่านมา หลายเรื่องกำลังพัฒนาในทางที่ดีขึ้น หลายเรื่องเป็นความท้าทายที่รออยู่ ทั้งหมดนี้ เราควรจะเฝ้ามองเฝ้าติดตามเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก และมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โลกให้ดีขึ้น ให้เราเป็นดั่งตะเกียงดวงหนึ่งที่จะส่องสว่างโลก เพราะอย่างน้อยเราทุกคนคือส่วนหนึ่งของโลกใบนี้

?

“เรื่องที่มีความสำคัญต่ออนาคตประเทศไทยมากที่สุด คือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะก่อผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อคนไทยทั้งประเทศ”

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com