ภูเก็ต: ศูนย์กลางซุปเปอร์ยอชต์แห่งเอเชีย

ภูเก็ต: ศูนย์กลางซุปเปอร์ยอชต์แห่งเอเชีย

เนื่องจากข้อจำกัดในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของไทย เมื่อกว่า 30 ปีก่อนผมจึงเสนอเป็นครั้งแรกและย้ำมาตลอดถึงความจำเป็นที่ไทยต้องใช้ประโยชน์จากจุดแกร่งของประเทศ (Thailand’s Niches) เพื่อก้าวกระโดดเป็นประเทศรายได้สูงให้ได้ ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน คือ การเป็นเมืองหลวงอาหารโลก (Food Capital) เมืองหลวงอภิบาลคนชราโลก (Elderly Healthcare Capital) เมืองหลวงสุขสภาพโลก (Wellness Capital) และเมืองหลวงการท่องเที่ยวโลก (Tourism Capital)


แนวทางการดำเนินตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว ในระยะสั้นไทยจำเป็นต้องมีพื้นที่ต้นแบบ (Prototype) ที่เหมาะสมที่จะยกระดับเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ซึ่งปัจจุบันผมมองว่า “ภูเก็ต” มีองค์ประกอบที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นพื้นที่จะเป็นต้นแบบด้านการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันภาครัฐก็ให้ภูเก็ตเป็นแซนด์บ็อกซ์ (sandbox) ในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ก่อนเมืองอื่นจะทยอยเปิดในไตรมาสที่เหลือจนครบทั่วประเทศ


จุดแข็งสำคัญของภูเก็ต คือ การเป็นพื้นที่ปิด ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการควบคุมการระบาดของโควิด ที่มีแนวโน้มกลายพันธุ์และอยู่กับมนุษยชาติไปอีกหลายปี นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่นตลอดปี และไม่ได้อยู่ในพื้นที่มรสุมที่เสี่ยงกับวาตภัย ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน อย่างพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียน และเมดิเตอร์เรเนียนที่มักมีอากาศหนาวเย็น และมีฤดูมรสุมทำให้การท่องเที่ยวทำได้เพียงบางฤดู


นอกจากนั้น ภูเก็ตยังมีความคล้ายคลึงกับพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียน และเมดิเตอร์เรเนี่ยนในอีก 1 ประการสำคัญตามที่ผมเคยบรรยายและเสนอไว้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน กล่าวคือ การสามารถจะเป็นศูนย์กลางซุปเปอร์ยอชต์แห่งเอเชีย (Super Yacht Hub of Asia) ของภูมิภาค เนื่องจากมีองค์ประกอบ 3 ด้านสำคัญ คือ 1. มีเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการต่อเรือ 2. การบริการและการจัดการท่าเรือ 3. มีสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาสที่เหมาะแก่การเดินทางพักผ่อน ฉะนั้นด้วยความคล้ายคลึง และโอกาสจากความได้เปรียบทางภูมิอากาศและภูมิประเทศข้างต้น ผมจึงมองว่าภูเก็ตพร้อมแล้วที่จะรองรับการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางซุปเปอร์ยอชต์แห่งเอเชีย ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการที่ 1 สอดคล้องกับจุดแข็งของภูเก็ต
นอกจากความได้เปรียบทางสภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศแล้ว ภูเก็ตยังมีภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ดีในระดับโลก เนื่องจากมีทรัพยากรด้านท่องเที่ยวที่หลากหลาย อาทิ มีชายหาดมากกว่า 40 แห่ง มีชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีผู้คนที่เป็นมิตร และที่สำคัญ คือ มีการบริการที่เพียบพร้อมและมีเอกลักษณ์ อาทิ ผู้ประกอบการท่าเรือครบวงจร (Marina) จำนวนมาก ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันภูเก็ตมีท่าเรือครบวงจรระดับโลกหลายแห่ง และมีอู่ซ่อมบำรุงซุปเปอร์ยอชต์ที่พร้อมจะพัฒนาเป็นอู่ระดับโลก กระจายอยู่ทั่วทุกมุมของเกาะ

ประการที่ 2 ซุปเปอร์ยอชต์เป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเรือยอชต์ทั่วโลกมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 64.1 พันล้านดอลลาร์ โดยคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ.2570 จะมีมูลค่าถึง 84.7 พันล้านดอลลาร์ (ขยายตัวประมาณ 4.1% ต่อปี) โดยซุปเปอร์ยอชต์เป็นเรือยอชต์ที่มีขนาด ความหรูหรา และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มากกว่า ซึ่งระหว่างปีพ.ศ. 2549 – 2558 จำนวนซุปเปอร์ยอทช์ทั่วโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 54
ข้อมูลของไทยระบุว่าการเดินทางของซุปเปอร์ยอชต์ 1 ทริป จะมีการซื้ออาหารขึ้นเรือ 1 ล้านบาท เติมน้ำมัน 2 ล้านบาท จึงไม่น่าแปลกใจที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปีของซุปเปอร์ยอชต์ 1 ลำ จะสูงกว่า 7 ล้านบาท เพราะยังประกอบด้วยค่าประกันภัย ค่าบำรุงรักษา และค่าใช้จ่ายยังสามารถเพิ่มสูงขึ้นได้อีกจากการต่อเติมสิ่งอำนายความสะดวกสบายที่มีความหรูหรา โดยในเบื้องต้นคาดว่าธุรกิจนี้จะทำเงินให้กับภูเก็ตได้ถึงปีละ 21,600 ล้านบาท นอกจากนี้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมนี้ยังสามารถกระจายไปถึงอีก 5 จังหวัดอันดามันที่มีเขตติดต่อทางทะเลกับภูเก็ตเป็นอย่างน้อย เช่น พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ระนอง

ประการที่ 3 สอดคล้องกับแนวโน้มการท่องเที่ยวแบบปรกติใหม่ (New Normal) ในอนาคต
นับตั้งแต่การระบาดของโควิด ยอดขายของซุปเปอร์ยอชต์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ โดยในปีพ.ศ.2564 ยอดขายซุปเปอร์ยอชต์สูงถึง 4.4 หมื่นล้านบาท สาเหตุเนื่องจากภาวะปรกติใหม่ ทำให้พฤติกรรมการท่องเที่ยวของมหาเศรษฐีที่เปลี่ยนแปลงจากการนั่งเครื่องบินเป็นการเดินทางด้วยซุปเปอร์ยอชต์ แทน เพราะไม่ต้องเผชิญกับมาตรการล็อคดาวน์ และข้อจำกัดของการเดินทางที่มีเงื่อนไขมากขึ้น ซึ่งการเดินทางแต่ละครั้งกินเวลานานนับเดือน


แม้ดูแล้วการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางซุปเปอร์ยอชต์แห่งเอเชียจะมีความเป็นไปได้มาก แต่หากพิจารณาถึงศักยภาพของคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ที่มีประสบการณ์ในการเป็นซุปเปอร์ยอชต์แห่งเอเชียมายาวนานกว่า 20 ปี และฮ่องกงที่มีองค์ความรู้และวัฒนธรรมการเดินเรือ ซึ่งปัจจุบันพยายามก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางซุปเปอร์ยอชต์ของเอเชียแล้ว ไทยจำเป็นต้องบูรณาการจุดแกร่งที่เรามีให้โดดเด่น และมีประสิทธิภาพไปพร้อมกันเพื่อจะเอาชนะคู่แข่งอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งผมมีข้อเสนอเบื้องต้นดังนี้


1) เพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพของบริการ ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวก รู้สึกได้รับการต้อนรับ โดยไม่เสียเวลาในการเดินทางท่องเที่ยว เช่น ทำหรือขยายวีซ่าให้นักท่องเที่ยวระหว่างการเดินเรือ เป็นต้น


2) สร้างความหลากหลายของการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับรายได้จากการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ โดยการพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆ และการบูรณาการการท่องเที่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขสภาพ การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุน การท่องเที่ยวเชิงศาสนา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านจิตใจ จิตวิญญาณ เป็นต้น


3) บูรณาการกับจุดแข็งด้านอื่นของประเทศ เพราะ นอกจากการท่องเที่ยวยังมีจุดแข็งด้าน อาหาร การอภิบาลคนชรา สุขสภาพ ดังนั้นการจัดการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดกลุ่มซุปเปอร์ยอชต์ อาจทำได้โดยการบูรณาการการท่องเที่ยวกับกับจุดแข็งด้านอื่นๆ เช่น บูรณาการกับการแพทย์และสุขสภาพ เป็นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขสภาพ (Medical and Wellness Tourism) เพราะประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการแพทย์ หรือ เป็นการท่องเที่ยวเพื่ออภิบาลคนชรา (Elderly Tourism) เนื่องจากโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศรายได้สูง และประเทศไทยเป็นสถานที่ที่คนอยากมาใช้ชีวิตยามเกษียณ หรือ อาจจะบูรณาการให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Food Tourism) เพราะไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารลำดับต้นของโลก และอาหารไทยถือเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เป็นต้น


นอกจากนี้แล้วการผลิตองค์ความรู้และบุคลากรที่มีประสิทธิภาพสนับสนุนภาคท่องเที่ยวไทย และ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางซุปเปอร์ยอชต์แห่งเอเชียเป็นสิ่งที่จำเป็น ในอดีตที่ผ่านมาเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ผมได้เสนอให้พัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอาจจะยังไม่ได้ไปในทิศทางที่ผมเสนอ แต่ผมคิดว่าจำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัยการท่องเที่ยวสร้างชาติ ที่สถาบันการสร้างชาติดำริอยากให้เกิดขึ้นมารองรับ ซึ่งการเริ่มต้นในวันนี้ก็ยังไม่สายเกินไปและก็ยังทันต่อการเตรียมความพร้อมให้ภูเก็ตเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางซุปเปอร์ยอชต์แห่งเอเชียของภูเก็ตในปัจจุบันและอนาคตครับ

เรือซุปเปอร์ยอร์ช-ครุยเซอร์ 60 ลำ ขอจอดขึ้นฝั่งภูเก็ต หลัง ศบค.ไฟเขียว

ที่มา: https://www.prachachat.net/local-economy/news-543099

กรมศุลกากร ผลักดัน ‘เรือซุปเปอร์ยอร์ช’ สร้างรายได้เข้าประเทศ 155 ลบ.ต่อลำ

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/business/472825

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา(IFD)
kriengsak@kriengsak.com,www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *