บทเรียนการสร้างชาติ: ประเทศคาซัคสถาน (1) ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและตั้งเป้าเป็นฮับการขนส่งในทวีปยูเรเชีย

คาซัคสถาน เป็นสาธารณรัฐในอดีตสหภาพโซเวียต มีพรมแดนติดกับรัสเซีย จีน และประเทศในเอเชียกลาง ได้แก่ คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน
คาซัคสถาน เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ความน่าสนใจหลายประการ เช่น เป็นประเทศไม่ติดทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่ตั้งของมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียกลาง เป็นฐานยิงยานอวกาศใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแห่งแรกของโลก เป็นแหล่งผลิตแร่ยูเรเนียมมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก โดยมี “ธนาคารยูเรเนียม” แห่งแรกของโลก เพื่อสะสมปริมาณเชื้อเพลิงยูเรเนียมให้มีมากพอป้อนโรงไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง เป็นต้น

คาซัคสถานเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper-middle income) มี GNI per capita (Atlas method) ในปี 2017 ที่ 7,890 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี สูงกว่าประเทศไทยที่มี GNI per capita (Atlas method) ในปี 2017 อยู่ที่ 5,960 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี โดยรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมัน ซึ่งมีมูลค่ากว่าร้อยละ 60 ของการส่งออกทั้งหมด และถือเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในเอเชียกลาง

ปัจจุบันคาซัคสถานอยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตามแผนยุทธศาสตร์ 2050 (Kasakhstan 2050 strategy) ด้วยมีเป้าหมายคือ ทำให้คาซัคสถานมีขนาดเศรษฐกิจติดอันดับ “1 ใน 30 ของโลก” จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก (World Bank, 2017)

บทเรียนการสร้างชาติที่น่าสนใจของประเทศคาซัคสถาน
ประการแรก การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยลดการพึ่งพาน้ำมัน ทำให้คาซัคสถานสามารถลดส่วนแบ่ง GDP จากอุตสาหกรรมน้ำมัน ที่มีมูลค่าร้อยละ 26 ของ GDP ในปี 2012 เหลือร้อยละ 18.2 ของ GDP ในปี 2016

ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจาก การเพิ่มการลงทุนภาครัฐอย่างมหาศาลเพื่อสนับสนุนการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ตั้งแต่ ปี 2008 – 2015 ภาครัฐใช้เงินไปอย่างน้อย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างงาน บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานถนนทั้งในเมืองและในชนบท เพื่อฝึกคนและทำให้คนมีงานทำนอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมัน

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน คือ การย้ายคนจากภาคเกษตรไปยังภาคบริการมากขึ้น เพราะสัดส่วนของแรงงานในภาคเกษตรมากเกินไป โดยมีประชากรในภาคเกษตรถึงประมาณ 25 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 40 ของประชากรทั้งประเทศ แต่สร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 9 ของ GDP เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเป็นคนยากจน แม้ปัจจุบัน ผลิตภาพของภาคเกษตรจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีกมาก

ผมจึงขอเสนอแนวทางให้รัฐบาลต้องทุ่มลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อเปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างในภาคเกษตรโดยหันไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและหุ่นยนต์ให้มากที่สุด และย้ายแรงงานไปทำสิ่งที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ และสร้างกระแสให้ทุกคนหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และมุ่งเข้าสู่มาตรฐานสากล โดยเกษตรกรร้อยละ 1 ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ (specialized) ให้ทำเกษตรต่อไป แต่เกษตรกรที่เหลือกว่าร้อยละ 30 ควรสนับสนุนให้ทำกิจกรรมประเภทอื่น เช่น ท่องเที่ยว เป็นต้น

ประการต่อมา การตั้งเป้าเป็นฮับการขนส่งในทวีปยูเรเชีย (Eurasian continent) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันจะทำให้ประเทศมีน้ำหนักและอำนาจต่อรองมากขึ้นในเวทีโลก
สิ่งที่รัฐบาลคาซัคสถานดำเนินการ คือ
1. ตั้งเป้าเป็นฮับการขนส่ง โดยคาซัคสถานใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (ซึ่งประกอบด้วยเบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย) การเป็นพันธมิตรหลักของจีนใน Belt and Road Initiative และการแวดล้อมด้วยประเทศพันธมิตร เช่น อินเดีย อิหร่าน ปากีสถาน และตะวันออกกลาง เป็นต้น
2. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง โดยระหว่างปี 2003 – 2016 มีการลงทุนสร้างถนนเพิ่ม 7,000 กิโลเมตร ส่งผลให้จำนวนระยะของถนนทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้น อยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียกลาง อีกทั้งความหนาแน่นของประชากร 1,000 คนต่อระยะทางถนน 1 กิโลเมตรต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันและต่ำกว่าประเทศไทย (คาซัคสถาน 5.46 กม.ต่อ 1,000 คน ไทย 1.06 กม. ต่อ1,000 คน) นอกจากนี้ ยังลงทุนสร้างทางรถไฟเพิ่ม 800 กิโลเมตรภายใน 1 ปี คือจากปี 2015 – 2016 จากระยะทางที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด 1,450 กิโลเมตรในตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา
ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างมียุทธศาสตร์ ได้แก่

– สร้างถนนเชื่อมกับจีน ผ่านโครงการ ระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทางหลวง “ยุโรปตะวันตก-จีนตะวันตก” (International Corridor “Western Europe-Western China” highway)
– สร้างระบบรางเชื่อมระหว่างคาซัคสถาน – เติร์กเมนิสถาน – อิหร่าน เพื่อเชื่อมเอเชียกลางกับอ่าวเปอร์เซียและท่าเรือบันดาร์-แอ็บบาส (Bandar-Abbas port) ในอิหร่านตอนใต้ ซึ่งจะเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลของคาซัคสถาน
– พัฒนาเส้นทางเดินเรือ โดยพัฒนา “Khorgos—Eastern Gate” ณ ขอบชายแดนจีน – คาซัคสถานโดย Gate ฝั่งประเทศจีนคือเมือง Horgos เมืองใหม่มูลค่ากว่า 3.25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ฝั่งคาซัคสถาน จีนได้เข้าไปสร้างท่าเรือบก (Dry Port) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Khorgos Easst ทั้งยังเป็นพื้นที่การค้าปลอดภาษีที่กำกับร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ

ด้วยการเปิดตัวยุทธศาสตร์คาซัคสถาน 2050 ที่มีเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และความทะเยอทะยานในปี 2012 จากประธานาธิบดีที่มีความมุ่งมั่นปฏิรูปประเทศ จึงพยายามดึงทุกประเทศที่จะสามารถช่วยให้คาซัคสถานพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วเข้ามามีส่วนในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยเฉพาะการผูกมิตรและให้น้ำหนักด้านการลงทุนกับประเทศมหาอำนาจที่อยู่ใกล้เคียงอย่างประเทศจีนอย่างชัดเจน

ผู้นำคาซัคสถานได้เร่งสร้างและพัฒนาจุดแข็งและสลายจุดอ่อน โดยการพยายามสร้างความเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อสร้างความน่าเชื่อในการลงทุนและการทำธุรกิจ จุดดึงดูดการลงทุน คือ มีภาพลักษณ์ในเวทีต่างประเทศดี เป็นประเทศที่สามารถดำเนินการทางธุรกิจง่าย มีสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีค่าแรงต่ำ และมีภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่ใช้ระยะเวลาเพียง 5 ชั่วโมงเมื่อบินมาจากยุโรป

เมื่อมามองประเทศไทย หากเราต้องการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ภาครัฐต้องมุ่งมั่นตั้งใจ บริหารเชิงรุกให้ตรงจุด คือ เร่งทำโลจิสติกส์

  • ไทยให้เชื่อมโยง จีน (China) อินเดีย (India) และอาเซียน (ASEAN) ซึ่งผม ขอเรียกว่า CIA ใหม่
  • ไทยต้องเชื่อมโยงกับจีนตอนใต้ เพราะจีนตอนใต้ไม่มีทางออกทะเล
  • ไทยต้องเชื่อมโยงกับอินเดีย เพราะ อินเดียมีศักยภาพแซงจีนขึ้นเป็นอันดับ 1
  • ไทยต้องเชื่อมโยงกับอาเซียน โดยให้น้ำหนักกับอินโดนีเซีย แต่ไม่ละเลยประเทศอื่น เพราะ ไทยมีที่ตั้งที่ได้เปรียบ เป็นศูนย์กลางของอาเซียน และการเกาะกลุ่มกับอาเซียนทำให้ไทยได้ประโยชน์มาก โดยผลักดันให้ไทยเป็นฮับ เพราะศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asian-Pacific Century) เป็นภูมิภาคที่จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าส่วนอื่นของโลก
    ในการเชื่อมโยงกับอาเซียนมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลายประการ เช่น

1) ต้อง “ดำเนินการอย่างรวดเร็ว” ไม่เกิน 5 ปี เนื่องจาก ในอนาคต เศรษฐกิจไทยอาจจะกลายเป็นอันดับ 3 หรือ 4 ของอาเซียน ทำให้อำนาจต่อรองลดลง
2) ต้อง “พยายามที่จะเล่นบทนำ” เพราะทั้ง 10 ประเทศต่างมีวาระของตนเอง หากไทยไม่เล่นบทนำ ไทยจะไม่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการอยู่ในอาเซียน
3) “ต้องเป็น TCLMV ไม่ใช่ CLMVT” หมายความว่า ไทยต้องไม่ใช่เพียงหนึ่งในประเทศกลุ่มห้าประเทศนี้ (CLMVT) แต่ต้องเป็นตัวเชื่อมของประเทศที่เหลือ (TCLMV) เพราะประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นหนึ่งในภาคี (CLMVT) น้อยกว่าการเป็นศูนย์กลางของกลุ่ม (TCLMV) มาก

การศึกษาบทเรียนของประเทศต่างๆ การมองยุทธศาสตร์ประเทศอื่นๆ มากขึ้น จะทำให้เราเข้าใจสภาวการณ์ของโลก และสามารถกลับกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศเราได้ชัดเจน แม่นยำขึ้น
ทั้งนี้ คาซัคสถานยังมีบทเรียนที่น่าสนใจอีกหลายประการ ซึ่งผมจะนำเสนอในบทความครั้งต่อไป หากบทเรียนใดประสบความสำเร็จ น่าเลียนแบบ เราก็ควรเรียนรู้และนำมาปรับประยุกต์ใช้เหมะสมกับบริบทประเทศไทย หรือสิ่งใดที่ผิดพลาด ล้มเหลว เราก็เก็บไว้เป็นข้อมูล ข้อควรระวังเพื่อที่จะดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบมากขึ้น

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *