ผลจากสงครามเย็น ทำให้สหรัฐฯ เข้ามาควบคุมตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี โดยทางตอนเหนืออยู่ภายใต้การควบคุมของโซเวียต ซึ่งท้ายสุดแล้ว นำไปสู่การแยกประเทศเป็นเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ เมื่อ พ.ศ. 2491
ในอดีตที่ผ่านมา ทั้ง 2 ดินแดนพยายามสร้างกระบวนการให้เกาหลีทั้ง 2 กลับไปรวมกันเป็นดินแดนเดียวกันเหมือนช่วงก่อนสงครามเย็น แต่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการเจรจากันกว่า 630 ครั้ง รวมถึงการประชุมสุดยอด 4 ครั้ง และการเจรจาระดับนายกรัฐมนตรี 10 ครั้ง ทั้ง 2 ดินแดนก็ไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ สถานการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยกลไกระหว่างประเทศมาสนับสนุน โดยทุกฝ่ายต้องเชื่อว่าแม้จะมีความแตกต่าง แต่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เพื่อให้เกาหลีรวมกันเป็นหนึ่งเดียว (Unified Korea) เกิดขึ้นให้ได้
.
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปปาฐกถาช่วง opening session หัวข้อ Free and Unified Korea: A Catalyst for Regional and Global Peace and Development ในงาน International Forum on One Korea 2022 โดยวิเคราะห์ว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุด คือ ความแตกต่างทางอุดมการณ์ โดยไทย และอาเซียนสามารถมีบทบาทสำคัญต่อการรวมเกาหลีให้เห็นหนึ่งเดียว ซึ่งหากเกาหลีเดียวเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคเกาหลีหรืออาเซียนเท่านั้น แต่โลกจะได้ประโยชน์ในด้านสันติภาพครับ ซึ่งผมให้เหตุผลดังนี้ครับ
1. ไทย และ อาเซียน มีความใกล้ชิดกับเกาหลีทั้งสองมาก
ด้านเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ได้เข้าเป็นพันธมิตรหนึ่งของอาเซียน ผ่านการประชุม ASEAN+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และเป็นหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2536 ในช่วง 29 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้และอาเซียนได้เขียนประวัติศาสตร์อันดีร่วมกัน
.
ขณะที่เกาหลีเหนือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีเหนือได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนระดับภูมิภาค โดยเกาหลีเหนือสามารถมีส่วนร่วมในการเจรจาทวิภาคีโดยตรงกับทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและอีก 17 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือจึงไปเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนได้เพิ่มมากขึ้น
.
2. “เกาหลีเดียว” สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงแก่ไทย และ อาเซียน ได้อย่างมาก
.
1) ด้านเศรษฐกิจ
อาเซียนเป็นพันธมิตรสำคัญของเกาหลีใต้ โดยปัจจุบันนอกจากอาเซียนจะเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของเกาหลีใต้ และเป็นเป้าหมายการลงทุนอันดับ 3 ของเกาหลีทั้ง 2 แล้ว อาเซียนยังเป็นภูมิภาคสำคัญที่รับอิทธิพลต่าง ๆ จากวัฒนธรรมเกาหลีอีกด้วย
ตอนนี้เพียงแค่เกาหลีใต้ประเทศเดียวก็ส่งออกสินค้าเป็นอันดับ 5 ของโลก หากเกาหลีเดียวเกิดขึ้น จะกลายเป็นประเทศที่มีพื้นที่ 220,000 ตารางกิโลเมตร และประชากร 77 ล้านคน กลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากอันดับ 20 ของโลก ซึ่งอาจทำให้การส่งออกเติบโตแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยจะเป็นรองเพียงแค่ จีน สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี เท่านั้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยและอาเซียนในการเป็นฐานการผลิตสินค้าของนักลงทุนจากเกาหลีและได้โอกาสที่จะส่งออกไปยังเกาหลีเพิ่มขึ้น
.
2) ด้านความมั่นคง
การที่เกาหลีรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวจะทำให้เกิดเสถียรภาพ และความมั่นคงมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย เพราะจะลดโอกาสเกิดภัยร้ายแรงจากอาวุธสงครามที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง เช่น ขีปนาวุธ จากเกาหลีเหนือ ซึ่งยังส่งผลให้ประเทศในเอเชีย รวมทั้งอาเซียนมีพันธมิตรที่มีอำนาจ สามารถลดอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจที่เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคได้
3. ไทย และ อาเซียน สามารถสนับสนุนการรวมเกาหลีเป็นหนึ่งเดียวได้หลายด้าน
.
1) การสร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้างความไว้วางใจ
การสร้างพื้นที่ (platform) สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมที่มั่นคง ปลอดภัยมั่นคงในการรวมเกาหลีเป็นเรื่องสำคัญ การมีเวทีให้เกาหลีเหนือในการประชุมอาเซียน (ในฐานะผู้สมัครสังเกตการณ์) ถือเป็นก้าวแรกสำหรับการสร้างความปรองดอง นอกจากนี้ การจัดพื้นที่สำหรับกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มเยาวชน ASEAN-Korea Youth Network Workshop หรือ ASEAN-Korea Youth Cultural Exchange Camp เป็นต้น อาจช่วยสร้างให้เกิดบรรยากาศการยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้เกาหลีเหนือรู้สึกเกิดความไว้วางใจ มั่นใจ ในการรวมชาติมากขึ้น
.
2) การสนับสนุนทางการเงิน
เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรวมชาติได้รับการประเมินเบื้องต้นอยู่ในระดับพันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เกาหลีจึงอาจต้องการการสนับสนุนทางด้านการเงินบางส่วน ซึ่งเกาหลีใต้อาจจะคาดหวังการสนับสนุนทางการเงินบางส่วนจากประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจาก ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ก็ได้มีส่วนให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ
อาเซียนและไทยอาจช่วยสนับสนุนทางการเงินแก่เกาหลีได้โดยใช้กองทุนที่มีอยู่ เช่น ASEAN Fund หรือ ASEAN ICT Fund เป็นต้น โดยใช้ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนที่มีอยู่
.
3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เกาหลีเหนือมีรางรถไฟระยะทางยาวร่วม 7.4 พันกิโลเมตร แต่รางรถไฟส่วนใหญ่ของเกาหลีเหนือผุพังไปมาก หากจะนำมาใช้งานและเชื่อมต่อกับรางรถไฟในเกาหลีใต้ ก็ต้องใช้งบประมาณปรับปรุงอีกมาก เช่นเดียวกับถนน พบว่าเกาหลีเหนือมีถนนลาดยางเพียงร้อยละ 3 ของถนนทั้งหมด ที่เหลือเป็นถนนลูกรัง
ดังนั้น ในเรื่องถนนหนทาง เกาหลีใต้ก็ต้องเข้ามาจัดการและปรับปรุงกันอีกมาก ยังไม่รวมเรื่องสาธารณูปโภคที่ต้องปรับปรุง ทั้งการเข้าถึงไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง ระบบราง ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน และที่สำคัญที่สุดคือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน ซึ่งอาเซียนอาจช่วยเหลือในการเชื่อมโยงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเพื่อมาสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเกาหลีได้
.
4) ความช่วยเหลือด้านการศึกษาและการพัฒนาคน
การรวมประชากรระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมครั้งใหญ่ ชาวเกาหลีเหนือส่วนมากอายุน้อย และมักมีลูกมากกว่าคนเกาหลีใต้ถึง 2 เท่า ทำให้เมื่อเกิดเกาหลีเดียว อายุโดยเฉลี่ยของประชากรจะน้อยลง ประชากรวัยแรงงาน และคนหนุ่มสาวจะเพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลต้องสร้างระบบการศึกษาขนานใหญ่ขึ้นมารองรับ และพัฒนาประชากรกลุ่มนี้ให้มีคุณภาพ และสามารถปรับตัวได้ เนื่องจากแรงงานจำนวนมากมาจากเกาหลีเหนือยังมีทักษะ และความรู้ไม่มากพอที่จะทำงานในโลกทุนนิยมได้อย่างเหมาะสม และคนเกาหลีเหนืออาจไม่คุ้นเคยกับอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย จึงอาจเกิดความรู้สึก ‘ไม่มั่นคง’ จนส่งผลให้พวกเขาต่อต้านสังคมใหม่
วัตถุประสงค์หนึ่งในการจัดตั้งอาเซียน คือ การให้ความช่วยเหลือแก่กันและกันในด้านการฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนาในด้านการศึกษา การบริหารจัดการ เป็นต้น การขยายขอบเขตความช่วยเหลือไปยังเกาหลีในด้านนี้จึงเป็นสิ่งที่อาเซียนสามารถทำได้
โดยสรุปแล้วอาเซียน และไทยอาจมีส่วนในการสนับสนุนกลไกให้เกิดความสงบสุขในคาบสมุทรเกาหลีได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นอยู่กับการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน การสร้างเกาหลีเดียวจึงต้องไม่ดูดกลืนอีกฝ่าย แต่ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต่างฝ่ายต่างดำรงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ที่ดีงาม การรวมกันเช่นนี้จึงจะคงสันติภาพให้เกิดขึ้น และเป็นแบบอย่างของการสร้างสันติภาพตั้งแต่ระดับชุมชน ภูมิภาคและในระดับโลก เช่นเดียวกับที่อดีตเยอรมันตะวันออก และเยอรมันตะวันตกเคยทำได้มาแล้วครับ