‘ธนาคารน้ำ’ ทางเลือกใหม่ต้านภัยแล้ง

สำนักข่าวไทย (Thai News Agency) รายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2540 และ 2541ทำให้ผู้คนเสียชีวิตประมาณ 2,000 คน และสร้างความเสียหายทั่วโลกประมาณ 30-37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทยซึ่งเกิดเอลนีโญรุนแรงที่สุดในปี 2541 เช่นกัน ทางรัฐบาลต้องชดเชยความเสียหายทางเกษตรกรรมเป็นมูลค่าถึง 1,500 ล้านบาท

ปรากฏการณ์เอลนีโญ คือ สภาวะความแห้งแล้งเกิดจากการไหลย้อนกลับของผิวทะเลที่อุ่นในช่วงเวลาหนึ่ง จากบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ไปแทนที่กระแสน้ำเย็นที่พัดอยู่เดิม ตามบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก และบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ โดยจะปรากฏชัดในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแถบชายฝั่งทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
 
ในปี 2558 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทยระบุว่า ข้อมูลการวัดทุ่นในน้ำทะเลกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลการวัดอุณหภูมิผิวน้ำทะเล จากดาวเทียมสำรวจภูมิอากาศ ยืนยันได้ว่า ผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยประมาณ 1.4 องศาเซลเซียสทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ทั้งนี้ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น คือ ดัชนีชี้วัดของขนาดเอลนีโญ (El Nino-Southern Oscillation: ENSO) ที่สำคัญและชัดเจนที่สุดตัวหนึ่ง ยิ่งอุณหภูมิสูงเท่าไหร่ ปรากฏการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะปรากฏไปจนถึงสิ้นปี 2558 โลกจึงมีความร้อนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณฝนตกมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าปกติ
 
ทำให้ประเทศต่างๆ จะยังคงเกิดภาวะภัยแล้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล เกาหลีเหนือ รวมถึงประเทศไทย
 
รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ประสบภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากว่า ปี 2558 นับเป็นปีที่ 4 ของการเผชิญภัยแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียจึงออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อลดปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ โดยให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยในรัฐแคลิฟอร์เนียลดการใช้น้ำลงร้อยละ 25 รวมถึงสั่งให้หน่วยงานท้องถิ่นของรัฐ ให้ปรับเปลี่ยนลานสนามหญ้าเป็นลานหินที่ไม่ต้องการใช้น้ำในการบำรุงรักษา
 
สถาบันแปซิฟิก (Pacif ic Institute) ได้ศึกษาข้อมูลการใช้น้ำในรัฐแคลิฟอร์เนียพบว่า กว่าร้อยละ 80 คือ การใช้น้ำสำหรับการทำการเกษตร และอีกร้อยละ 20 คือการใช้น้ำในครัวเรือน โดยมีแหล่งน้ำมาจากแหล่งเดียวกัน คำถามที่สำคัญคือ ทำไมถึงไม่มีการใช้มาตรการนี้กับกลุ่มชาวนาที่ทำการเกษตรในรัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งที่ใช้น้ำเป็นจำนวนมากกว่า? ซึ่งคำตอบคือ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแห่งการเกษตร และให้ความสำคัญกับการทำการเกษตร เพราะเป็นการทำการเกษตรเพื่อการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ โดยรัฐแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ 2 ใน 3 ส่วนจากที่ผลิตได้ทั้งประเทศ และทำเงินได้มากกว่ารัฐใดๆ ในสหรัฐอเมริกา การใช้น้ำเพื่อการเกษตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะน้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ดังนั้น ทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับช่วงเวลาแห่งการขาดแคลนน้ำของรัฐแคลิฟอร์เนียคือ การทำธนาคารน้ำ (water banking) ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือที่มีคุณูปการอย่างสูงในการบริหารจัดการน้ำในรัฐแคลิฟอร์เนีย
 
ธนาคารน้ำ คือแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จากการดูดซึมของหินใต้พื้นผิวดินที่มีน้ำหรือการส่งต่อน้ำบาดาลผ่านบ่อซึม โดยในกระบวนการกักเก็บน้ำมีอยู่ 2 วิธีการคือ การเติมน้ำลงในแอ่งน้ำ (Basin) โดยตรง กับการใช้การแทนที่เพื่อเติมน้ำลงในแอ่งน้ำ
 
ซึ่งจากทั้ง 2 วิธี จะทำให้ได้น้ำบาดาลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายหลัง
 
การทำธนาคารน้ำ ใช้หลักตลาดเสรี (free market) ทางเศรษฐศาสตร์เป็นกรอบแนวคิด น้ำถูกมองเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง และนับว่าเป็นสินค้าหายาก ราคาของน้ำถูกกำหนดจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ สถานที่ที่ต้องการใช้น้ำ ระยะเวลาในการใช้น้ำ และปริมาณน้ำที่ต้องการ
 
การทำธนาคารน้ำ เป็นการทำลีสซิ่งเช่าซื้อน้ำ (leasing water) ในระยะเวลาที่จำกัด ตามที่มีการทำข้อตกลงระหว่างผู้ถือสิทธิหรือผู้ครอบครองน้ำกับผู้ต้องการใช้น้ำ และสามารถถ่ายโอนสิทธิชั่วคราวในการถือครองน้ำ โดยไม่ใช่เป็นถ่ายโอนสิทธิผู้ครอบครองน้ำอย่างถาวร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและจำนวนน้ำที่ต้องการเช่าซื้อโดยส่วนมากการตัดสินใจเช่าซื้อน้ำของแต่ละคน จะขึ้นอยู่กับมูลค่าของตลาดน้ำในปัจจุบัน ความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม รวมถึงมูลค่าตลาดของพืชที่จำเป็นต้องใช้น้ำ สำหรับขั้นตอนการฝากน้ำ มีวิธีการที่เคร่งครัดและคล้ายคลึงกับการฝากเงินหรือแลกเปลี่ยนเงินที่ธนาคาร การทำธนาคารน้ำที่ประสบความสำเร็จ
 
ในรัฐแคลิฟอร์เนีย อยู่ในเขตเคิร์น (Kern County) ทางตอนใต้ของหุบเขา San Joaquin เพราะเป็นพื้นที่ที่มีดินปนทราย เหมาะสำหรับการถ่ายทอดน้ำใต้ดินผ่านบ่อซึม มีพื้นที่ประมาณ 20,000 เอเคอร์ (80 ตารางกิโลเมตร) แอ่งน้ำมีความจุทั้งหมดที่ 10 ล้านเอเคอร์ฟุต โดยปกติสามารถกักเก็บน้ำขั้นต่ำได้ปีละ 360,000 เอเคอร์ฟุต แอ่งน้ำที่เคิร์นมีปริมาณเฉลี่ยที่พร้อมใช้งานที่ 1.5 ล้านเอเคอร์ฟุต และสำหรับในช่วงปี 2553 ที่มีปริมาณฝนตกมาก คนในเขตเคิร์นที่เป็นสมาชิกในธนาคารน้ำ และมีสิทธิ์ถือครองน้ำเพื่อการเช่าซื้อ สามารถฝากน้ำรวมกันได้มากกว่า 1 ล้านเอเคอร์ฟุต ในเพียงไม่กี่เดือน และในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการสูบน้ำออกมาใช้เรื่อยๆ ประมาณ 250,000-274,000 เอเคอร์ฟุตต่อปี โดยในปี 2558 นี้ คนในเขตเคิร์นยังคงมีน้ำและรักษาการกักเก็บน้ำได้อยู่ สำหรับประเทศไทย มีการทำธนาคารน้ำเช่นเดียวกันที่จังหวัดพัทลุง มีจุดเริ่มต้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เพื่อเก็บออมน้ำและจัดสรรทรัพยากรในชุมชน มีวิธีการคล้ายๆ กับการทำฝายกั้นน้ำ เน้นกักเก็บน้ำจากธรรมชาติ ใช้ความแตกต่างของระดับชั้นของสายน้ำ โดยในช่วงที่มีน้ำมาก ธนาคารน้ำช่วยให้ชาวบ้านสามารถกลับมาทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง จากแหล่งน้ำที่เคยใช้ได้เพียง 6 เดือน ธนาคารน้ำทำให้สามารถใช้สอยน้ำได้นานขึ้นเป็น 8-9 เดือน หรือบางแห่งสามารถใช้น้ำได้ตลอดปี แม้ว่าธนาคารน้ำของไทยและสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกัน ทั้งวิธีการสร้าง กระบวนการควบคุมดูแล และวิธีการกักเก็บน้ำ แต่การทำธนาคารน้ำในประเทศไทย นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการเตรียมตัวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ต้องมีการออกกฎหมายเรื่องการจัดทำการดำเนินงาน และเรื่องการใช้น้ำบาดาลให้ดี มีความครอบคลุมชัดเจน ออกกฎระเบียบข้อบังคับกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และควรมีการสำรวจว่าพื้นที่ไหนสามารถทำได้ก่อน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคนที่ไม่เคยได้ยินคำว่าธนาคารน้ำ ภาครัฐจึงควรจัดทำเอกสารให้ความรู้เพิ่มเติม มีการศึกษาวิจัย
 
เพื่อคัดเลือกวิธีการทำธนาคารน้ำ ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศกับประเทศไทยมากที่สุด ทั้งลักษณะดิน แหล่งน้ำ รวมถึงเงินลงทุนและต้นทุนทางสังคม เพื่อให้ประเทศไทยฝ่าฟันปัญหาภัยแล้งในปี 2558 ได้
 
'ธนาคารน้ำช่วยให้ชาวบ้านกลับมาทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง จากแหล่งน้ำที่เคยใช้ได้เพียง 6 เดือน ธนาคารน้ำทำให้ใช้น้ำได้นานขึ้นเป็น 8-9 เดือน หรือบางแห่งสามารถใช้น้ำได้ตลอดปี'
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
 
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2012/08/01/7a6h7c9795f7h956h77jb.jpg