ตัวอย่าง ?มหาปัญญาลัย? : วิชาหุ่นยนต์ภายในและภายนอกอาคารของฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอความคิดเอาไว้ในหลายเวทีมานานหลายปีว่า การจัดการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องจัดการศึกษาให้มีศาสตร์องค์ความรู้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่ละยุคสมัย มหาวิทยาลัยต้องเป็นมดลูกคลอดประเทศที่พึงประสงค์ในอนาคต เป็นผู้นำทางปัญญา ทำหน้าที่ชี้ทิศนำทางสังคม เป็นแหล่งสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะ และสนับสนุนให้เกิดการวิจัยผลิตองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

ในทัศนะของผมคิดว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของประเทศไทยเรากำลังอยู่ในช่วงเตรียมพร้อมเข้าสู่มหาวิทยาลัยยุคสว่างไสวหรือมหาวิทยาลัยความรู้ (Enlightenment : Knowledge University) ที่มีวิถีการรับรู้บนพื้นฐานของข้อมูลหลักฐาน มีการวิจัยผลิตองค์ความรู้นำสู่นวัตกรรม แม้มหาวิทยาลัยยังมิได้เข้าสู่ยุคดังกล่าวนี้อย่างสมบูรณ์ แต่เราสามารถเห็นรอยกระเพื่อมเกิดขึ้นบ้างแล้วบางระดับ เช่น การผลักดันให้ประชาคมมหาวิทยาลัยทำวิจัยสร้างนวัตกรรมกันอย่างจริงจัง

อนาคตด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพบริบทสังคมผมคาดการณ์ว่า มหาวิทยาลัยจะพัฒนาตนเองสู่การเป็นมหาปัญญาลัย (Convergence : Wisdom University) อันมีเอกลักษณ์การบรรจบกันระหว่างศิลป์กับศาสตร์ นำสู่ผลลัพธ์ที่มากกว่าความรู้ หรือที่เรียกว่า “ปัญญา” สามารถประยุกต์ความคิด ใช้กับความรู้ได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกสถานการณ์ ถูกโอกาส อันเป็นลักษณะของสังคมปัญญา (Wisdom Society) ที่ผมเคยนำเสนอเอาไว้ในปี พ.ศ. 2541 ในหนังสือ คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม : สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 และพัฒนาสู่มหาศุภาลัย (Integration : Araya University) ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านการบูรณาการสร้างผู้เรียน เชื่อมสู่บริบทการใช้งานจริง อันเป็นลักษณะมหาวิทยาลัยยุคสุดท้ายตามการแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 7 ยุคของผมในท้ายที่สุด

ผมคิดว่า การพัฒนามหาวิทยาลัยของประเทศไทยเราควรดำเนินการอย่างมีวิสัยทัศน์ ตั้งเป้าหมายพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต มิใช่มหาวิทยาลัยสำหรับยุคสมัยปัจจุบัน หรืออนุสรณ์สถานของมหาวิทยาลัยในยุคอดีต ที่สำคัญต้องเป็นแหล่งสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะ ผลิตองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่ละยุคสมัย อันจะส่งผลช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถสร้างผลกระทบนำการเปลี่ยนแปลง เป็นแหล่งอารยธรรม และนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติสังคมได้อย่างแท้จริง

ฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความคิดมหาปัญญาลัยของผมตามที่ผมนำเสนอดังกล่าวนี้มานานแล้ว สะท้อนผ่านแนวทางการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย เช่น ที่ผ่านมาบัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบฮาร์วาร์ด (Harvard Graduate School of Design) ริเริ่มพัฒนาให้มีรายวิชาที่ชื่อว่า หุ่นยนต์ภายในและภายนอกอาคาร (Robots In & Out of Buildings) อันเป็นประเด็นค่อนข้างใหม่และยังไม่ค่อยมีการพูดถึงกันมากนักในปัจจุบัน โดยรายวิชาดังกล่าวนี้มุ่งตอบคำถามสำคัญอันจะเป็นโอกาสทางด้านการออกแบบให้แก่สถาปนิก เช่น คนและหุ่นยนต์มีการแบ่งปันพื้นที่ในการสัญจรเดียวกันภายในอาคารหรือไม่ หุ่นยนต์เข้าสู่อาคารร่วมกับคน ยานยนต์ หรือในสถานที่ใหม่หรือไม่ เป็นต้น

รายวิชาหุ่นยนต์ภายในและภายนอกอาคารของบัณฑิตวิทยาลัยการออกแบบฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้สะท้อนแนวคิดการเป็นมหาปัญญาลัยของผมบางระดับที่ฮาร์วาร์ดแบบไม่รู้ตัวหรือไม่จงใจ เป็นตัวอย่างแนวทางการบรรจบกันระหว่างศาสตร์และศิลป์ แสดงออกเป็นปัญญาสามารถประยุกต์ความคิดใช้กับความรู้ได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกสถานการณ์ ถูกโอกาส ตามที่กล่าวมา ด้วยการผสมศิลป์ทางการคิดสร้างสรรค์เข้าไปในศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ สร้างให้เกิดผลลัพธ์ความแตกต่างทางด้านระบบการขนส่งและผลกระทบต่อกิจกรรมของมนุษย์ อันเป็นประโยชน์ช่วยเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับการทำงานทางด้านการออกแบบในโลกยุคปัจจุบันและอนาคตที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมทวีความสำคัญและมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก

ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยไทยในฐานะเป็นแหล่งผลิตกำลังคนป้อนสู่สังคมควรพัฒนาตนเองให้เป็นแหล่งสร้างคนที่มีสมรรถนะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพบริบทสังคมอย่างเป็นพลวัตเช่นเดียวกับฮาร์วาร์ด อันจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อผู้เรียนและมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 50 วันศุกร์ 25 – พฤหัสบดี 31 สิงหาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *