ดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ ก้าวแรกสู่ระบบขับเคลื่อนประเทศไทย

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมในฐานะประธาน “สภาปัญญาสมาพันธ์” ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวสภาปัญญาสมาพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผมและเพื่อนนักวิชาการชั้นนำของประเทศได้รวมตัวกัน เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายแขนงวิชาที่มาร่วมกันศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในเรื่องหรือประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่ออนาคตของประเทศ เพื่อช่วยนำเสนอแนวคิดและกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ที่คมชัด และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของประเทศอย่างแท้จริง
งานสำคัญชิ้นแรกของสภาปัญญาสมาพันธ์ คือ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพื่อจัดทำ “ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย (Thailand Effectiveness Index – TE Index)” หรือ ตัวชี้วัดความเข้มแข็งของ 3 ภาคส่วนที่มีความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนประเทศ ได้แก่ (1) ภาครัฐ (public sector) เช่น สถาบันการเมือง รัฐสภา

รัฐบาล ศาล องค์กรอิสระ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ราชการส่วนท้องถิ่น ฯลฯ (2) ภาคเอกชน (private sector) เช่น บรรษัทข้ามชาติ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ธุรกิจ SMEs ฯลฯ และ (3) ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม (people sector หรือ civic sector) เช่น มูลนิธิ สมาคม องค์กรชุมชน องค์กรการกุศล ฯลฯ ความเข้มแข็งของทั้ง 3 ภาคส่วนมีความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปสู่จุดหมายของประเทศร่วมกัน เพราะภาคส่วนต่าง ๆ ล้วนมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถสนุนเสริมกันและกันได้ หากแต่ละภาคส่วนแข็งแรงเพียงพอ 
 

ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย หรือ TE Index (เท่ อินเด็ก) จึงประกอบด้วย 3 ดัชนีย่อย ได้แก่ ดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ (Public Sector Effectiveness Index – PBE Index) ดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน (Private Sector Effectiveness Index – PVE Index) ดัชนีประสิทธิผลภาคสังคม (People Sector Effectiveness Index – PPE Index) การจัดทำ TE Index ใช้การสำรวจการรับรู้ของประชาชน (perception survey) เก็บข้อมูลจากคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตเมือง นอกเมือง ทุกระดับการศึกษา อาชีพ อายุ รายได้ กระจายเพื่อให้ได้ความเห็นจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โดยจะดำเนินการสำรวจทุกเดือน เดือนละดัชนี เมื่อครบในหนึ่งไตรมาส จะทำการสำรวจวนซ้ำตามลำดับเพื่อเทียบเคียงความเปลี่ยนแปลง 

ppe

TE Index จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสะท้อนถึงระดับประสิทธิผล หรือความเข้มแข็ง ของทั้ง 3 ภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศสู่การบรรลุจุดหมายการพัฒนาประเทศ เป็นการมองแต่ละภาคส่วนด้วยสายตาของคนนอก การจัดทำดัชนี้จึงมีบทบาทเป็นกระจกสะท้อนความเห็นสาธารณะ (public opinion) ให้แต่ละภาคส่วนได้มองเห็นตนเองจากมุมมองของประชาชน อันจะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพขึ้น ที่สำคัญ การสำรวจอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส จะช่วยให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงทำให้เห็นว่ามีการปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นหรือไม่
 
ดัชนีแรกของ TE Index ที่ได้ทำการสำรวจไปแล้วคือ ดัชนีประสิทธิผลของภาครัฐ (PBE)  ซึ่งช่วยสะท้อนให้ความเห็นของประชาชนที่มีต่อภาครัฐโดยรวมว่า ภาครัฐได้ปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการต่าง ๆ ได้ตามภารกิจและวัตถุประสงค์ในระดับใด เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนมากน้อยเพียงใด โดยที่ “ภาครัฐ” ในที่นี้ หมายถึง องค์กรของรัฐทุกประเภททั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ทั้งภาคการเมือง และภาคระบบราชการ ซึ่งรวมถึงรัฐสภา ศาล รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 
 
การวัดการรับรู้ของประชาชนถึงประสิทธิผลการทำงานของภาครัฐ ได้พิจารณาจากพันธกิจสำคัญ 2 ด้านหลักของภาครัฐคือ (1) ด้านการกำหนดและบริหารนโยบายสาธารณะ (public policy) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และ (2) ด้านการส่งมอบบริการของภาครัฐ (service delivery) ซึ่งเป็นภารกิจพื้นฐานของรัฐในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ ยังพิจารณาภาครัฐในฐานของสถาบันที่สำคัญทางสังคม (institution) ร่วมด้วย โดยแต่ละด้านได้มีการพิจารณาลงรายละเอียดปัจจัยองค์ประกอบอีกหลายปัจจัย ซึ่งผลจากความเห็นของประชาชน 1,093 ตัวอย่างทั่วถึงประเทศ กระจาย 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กรุงเทพฯและปริมณฑล ควบคู่กับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญอีก 200 ตัวอย่าง พบว่า
 
wc
ในภาพรวมทุกด้าน ทั้งประชาชนและผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนภาครัฐระดับกลาง ประชาชนให้ผ่านเกินครึ่งเพียงเล็กน้อย (52.15%) ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนเพียง 44.21% โดยในแต่ละประเด็นย่อยนั้น ประชาชนให้คะแนนภาครัฐระดับกลาง ๆ ที่ประมาณ 50% ซึ่งสูงกว่าผู้เชี่ยวชาญในทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการคอร์รัปชั่นในการดำเนินนโยบายที่ทั้งประชาชนและผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนต่ำกว่าปัจจัยอื่นทั้งหมด
 
ในด้านนโยบาย ประชาชนเห็นว่าภาครัฐดำเนินการได้มีประสิทธิผลที่คะแนน 51.8% โดยภาครัฐทำได้ดีในเรื่องการตอบสนองต่อสถานการณ์ (responsiveness) เป็นแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ได้คะแนนสูงสุดที่ 57.5% ซึ่งใกล้เคียงกับผู้เชี่ยวชาญที่ให้ 55.28% แต่ในด้านของการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวกับนโยบาย ประชาชนให้คะแนนน้อยที่สุด และเป็นปัจจัยเดียวที่ประชาชนให้คะแนนต่ำกว่าครึ่งคือได้เพียง 45.71% ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนปัจจัยความโปร่งใสต่ำสุดที่ 41.88%
 
ในด้านของบริการสาธารณะ ประชาชนเห็นว่า ในภาพรวม ภาครัฐดำเนินการมีประสิทธิผลในระดับร้อยละ 52.4 โดยปัจจัยที่ได้คะแนนสูงสุดคือการบูรณาการกันระหว่างหน่วยงาน (54.9%) ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเรื่องของความเร็วในการให้บริการเป็นปัจจัยที่ภาครัฐทำได้ดีที่สุด (46.12%) ส่วนด้านของความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการให้บริการเป็นเรื่องที่ให้คะแนนต่ำท้าย ทั้งในสายตาของประชาชนและผู้เชี่ยวชาญ
 
สำหรับมิติความเป็นสถาบันภาครัฐนั้น ประชาชนกับผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นใกล้เคียงกันมากที่สุดในเรื่องของความเชื่อถือไว้วางใจ (trust) แต่ปัจจัยที่เห็นต่างกันมากที่สุดคือความเป็นอิสระของสถาบันภาครัฐ (independence) ในขณะที่มองว่าความเป็นมืออาชีพของทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำได้คะแนนน้อยที่สุดที่ 51%
 
ประชาชนในภาคกลางให้คะแนนภาครัฐสูงกว่าประชาชนในภาคอื่นอย่างชัดเจน (67.96%) ในขณะที่ภาคอื่นให้คะแนนในระดับ 45-50% โดยภาคใต้ให้คะแนนภาครัฐน้อยสุดในทุกด้าน โดยเฉพาะมิติของความเป็นสถาบันที่ให้คะแนนเพียง 41%
ประชาชนในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลมีความเห็นไม่แตกต่างกัน แสดงว่าการรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินการของภาครัฐและได้รับบริการต่าง ๆ ระหว่างคนในเมืองและนอกเมืองแทบไม่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับความเห็นระหว่างชายและหญิงที่ไม่มีความแตกต่างกัน
 
คนที่มีอายุมากให้คะแนนภาครัฐสูงกว่าคนที่มีอายุน้อย อาจสะท้อนว่า บริการต่าง ๆ ของภาครัฐเข้าถึงประชาชนในวัยแรงงานและผู้สูงอายุได้ดีกว่าประชาชนในวัยเรียน
 
เกษตรกรเป็นกลุ่มอาชีพที่ให้คะแนนภาครัฐสูงที่สุดกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ อาจสะท้อนถึงนโยบายและบริการต่าง ๆ ที่ภาครัฐจัดให้ได้เข้าถึงประชาชนกลุ่มนี้ ในขณะที่กลุ่มเจ้าของธุรกิจให้คะแนนภาครัฐในระดับต่ำกว่ากลุ่มอื่น
 
การสำรวจนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบโดยพยายามที่จะบูรณาการภาคส่วนทั้ง 3 เข้าหากัน ในตอนนี้ เราเห็นแล้วว่าภาครัฐของไทยยังมีช่องว่างอีกมากที่ต้องการปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ในเดือนต่อไป จะเป็นการสำรวจภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอีกภาคส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)