คอลัมภ์ : การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2554 กระแสการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในกลุ่มประเทศอาหรับ
ซึ่งมีผู้นำที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งมองว่ารัฐบาลไม่ได้นำประโยชน์สุขมาถึงประชาชนอย่างแท้จริง โดยกระแสนี้ได้เริ่มต้นจากตูนิเซีย ไปยังอียิปต์ ลิเบีย ซึ่งขณะนี้ มีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงระหว่างรัฐและประชาชน และค่อยๆ ปะทุขึ้นในอีกหลายประเทศ
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ได้ตีพิมพ์บทความและนำเสนอดัชนีชี้วัดของประเทศอาหรับจำนวนหนึ่งซึ่งดิอิโคโนมิสต์ให้ชื่อดัชนีนี้ว่า “ดัชนีการขว้างรองเท้า” (Shoe-Thrower?s Index) (คาดว่าชื่อดัชนีนี้มาจากเหตุการณ์ที่
ผู้สื่อข่าวอิรักขว้างรองเท้าใส่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐ เพื่อแสดงความไม่พอใจที่มีต่อผู้นำสหรัฐ) ซึ่งดัชนีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เริ่มต้นขึ้นในตูนิเซียนั้นมีแนวโน้มจะแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงไร ในอนาคตการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจเกิดขึ้นในประเทศใดต่อไป โดยบางประเทศไม่ได้นำมาแสดงให้เห็นในดัชนีนี้ด้วย เช่น ปาเลสไตน์ ซูดาน หรือโซมาเลีย เนื่องจากความจำกัดของข้อมูล
“ดัชนีการขว้างรองเท้า” มีหลายองค์ประกอบ แต่ละองค์ประกอบมีน้ำหนักที่แตกต่างกัน ตัวแปรบางตัวนั้นอาจจะยากที่วัดเป็นตัวเลขได้ เช่น ความขัดแย้ง หรือ การว่างงาน ซึ่งมีความไม่แน่นอนมากทำให้การเปรียบเทียบระหว่างประเทศทำได้ยาก
ตัวแปรที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีนี้ ได้แก่ สัดส่วนของประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี (ให้น้ำหนักร้อยละ 35) จำนวนปีที่รัฐบาลอยู่ในอำนาจ (น้ำหนักร้อยละ 15) การทุจริตคอร์รัปชัน (น้ำหนักร้อยละ 15) ความเป็นประชาธิปไตย (น้ำหนักร้อยละ 15) รายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากร (น้ำหนักร้อยละ 10) ความมีเสรีภาพของสื่อ (น้ำหนักร้อยละ 5) และจำนวนของประชากรที่อายุน้อยกว่า 25 ปี (น้ำหนักร้อยละ 5) แต่ในภายหลังได้มีการเพิ่มตัวแปรเข้าไปอีก 2 ตัว คือ อัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชากรและร้อยละของประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต
ผลที่แสดงให้เห็นจากดัชนี คือ ตูนิเซียซึ่งเป็นประเทศแรกที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลประสบความสำเร็จในการโค่นล้มผู้นำประเทศอยู่ในลำดับที่ 10 อียิปต์ซึ่งประสบความสำเร็จในลำดับถัดมาอยู่ในอันดับที่ 5 ขณะที่ลิเบียซึ่งมีปัญหารุนแรงและอยู่ในกระแสความสนใจของคนทั่วโลกในเวลานี้อยู่ในอันดับที่ 2?
เราจะเห็นว่าดัชนีนี้อาจไม่สามารถนำมาใช้ทำนายได้ว่าประเทศใดจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบก่อนหรือหลังได้ เยเมน ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับ 1 แม้มีปัญหาแต่ยังไม่ถึงจุดแตกหัก เช่นเดียวกับบาห์เรน ซึ่งมีปัญหาเช่นกัน แต่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 13?
สถานการณ์ความไม่สงบมีความเป็นพลวัตมาก อาจไม่สามารถอธิบายได้ด้วยตัวแปรไม่กี่ตัว นอกจากนี้ยังมีตัวแปรที่ไม่อาจนำเข้าไปรวมในการคำนวณหาดัชนีได้ เช่น “ตัวจุดชนวนสถานการณ์” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อไรไม่มีใครทราบ (เช่น กรณีนายโมฮัมหมัด บูอะซิซี่ ตัดสินใจเผาตัวตายประท้วง หลังจากที่ถูกตำรวจไล่ไม่ให้ขายผลไม้เพื่อเลี้ยงครอบครัว ถือเป็นตัวจุดชนวนของเหตุการณ์ในตูนิเซีย หรือความสำเร็จของตูนิเซียที่กลายเป็นตัวจุดชนวนของการประท้วงในอียิปต์ในเวลาต่อมา เป็นต้น)? ?
อย่างไรก็ตาม ดัชนีนี้มีประโยชน์ในการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะนำไปสู่สถานการณ์ความไม่สงบได้ทุกเวลา แสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่อาจสร้างเงื่อนไขในการนำไปสู่ความไม่สงบได้?
หันกลับมามองสังคมไทย ผมเห็นว่ารัฐบาลต้องเตรียมรับกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ปะทุหนักขึ้น ซึ่งจะกระทบด้านเศรษฐกิจในอนาคตอย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ เราควรเรียนรู้จากดัชนีและกรณีศึกษาเหล่านี้ คือ รัฐบาลต้องไม่สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การต่อต้านขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชัน การยึดอำนาจไว้กับตัวเอง การลิดรอนเสรีภาพของสื่อ หรือความไม่สามารถดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน หากรัฐบาลไม่ต้องการจะถูกประชาชนกลุ่มต่างๆ “ขว้างรองเท้า” เข้าใส่
ผมขอฝากความห่วงใยไปยังรัฐบาลไว้ ณ ที่นี่ครับ
?
?
?
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com