ดร.แดน แนะ ม.ไทยเป็นคลังสมองแก่ 3 ภาคกิจ (รัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ): กรณีศึกษาศูนย์วิจัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้สคูลติดอันดับดีที่สุดในโลก

การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกของฮาร์วาร์ดมิเพียงมีบทบาทเป็นแหล่งผลิตกำลังคนและงานวิจัยคุณภาพระดับสูงป้อนสู่สังคมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบทั้งทางด้านนโยบายและการปฏิบัติต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศและระดับโลกบนฐานการเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยของมหาวิทยาลัย อันเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในการบูรณาการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างความรู้ทางวิชาการและการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในโลกความเป็นจริง  

ล่าสุด เป็นที่น่ายินดีที่ศูนย์วิจัยวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ (Harvard Kennedy School) 3 ถูกจัดอันดับให้เป็นศูนย์วิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก จาก Global Go To Think Tank Index ซึ่งจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปีตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย 

ศูนย์เบลเฟอร์เพื่อวิทยาศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ (Belfer Center for Science and International Affairs) จัดอยู่อันดับ 1 ของศูนย์วิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก 

ศูนย์เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Center for International Development (CID)) จัดอยู่อันดับ 2 ของปีนี้ และ ศูนย์แอชเพื่อธรรมาภิบาลประชาธิปไตยและนวัตกรรม (Ash Center for Democratic Governance and Innovation) ซึ่งผมเคยสังกัดอยู่เป็นหนึ่งในคลังสมองที่มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใสมากที่สุด และเป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก (อ้างถึงใน Gavel, 2017)  

ผลการจัดอันดับคลังสมองของ Global Go To Think Tank Index ดังกล่าวนี้เน้นย้ำถึงบทบาทความสำคัญของศูนย์วิจัยวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ในการสร้างให้เกิดผลกระทบต่อการตัดสินใจระดับนโยบายสาธารณะ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกบนฐานการเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยในตนเอง อันเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของการขับเคลื่อนผลักดันให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

ขณะที่ ดร. เจมส์ แมคแกน (Dr. James McGann) ผู้อำนวยการโปรแกรมคลังสมองและประชาสังคม สถาบันลอเดอร์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (University of Pennsylvania’s Lauder Institute) กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดทำดัชนีดังกล่าวนี้ว่า “เป็นการเพิ่มข้อมูลประวัติและสมรรถนะของคลังสมองและยกระดับการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการเล่นบทบาทสำคัญของคลังสมองในภาครัฐและภาคประชาสังคมทั่วโลก” นอกจากนี้ ดร. เจมส์ แมคแกน ยังระบุอีกด้วยว่า การจัดอันดับปี ค.ศ. 2016 ครั้งนี้ตัดสินจากคณาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้บริหาร นักข่าว ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการและผู้บริหารคลังสมอง และผู้บริจาค มากกว่า 2,500 คนจากทั่วทุกภูมิภาคของโลก (อ้างถึงใน Gavel, 2017)  

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

ผมเคยนำเสนอความคิดบทบาทมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สำคัญว่ามีอยู่ด้วยกันหลายประการ อาทิ เป็นแหล่งสร้างทรัพยากรมนุษย์และกำลังคนที่มีขีดความสามารถสูง เป็นส่วนสนับสนุนและกระตุ้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาเฉพาะทางที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน แต่บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งที่มหาวิทยาลัยระดับโลกควรผลักดันตนเองให้มีความเข้มแข็งคือ การเป็นคลังสมอง (think tank) ให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน1

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยของประเทศไทยเรายังให้ความสำคัญกับบทบาทการเป็นคลังสมองหรือ บทบาทการศึกษาวิจัยที่นำสู่ข้อเสนอนโยบาย อันเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายในการใช้ข้อมูลความรู้ดังกล่าวประกอบการตัดสินใจค่อนข้างน้อยหรือแทบไม่มีเลย อันเนื่องด้วยเหตุผลสำคัญ อาทิ การขาดการสนับสนุน เป็นต้น ส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถสร้างอิทธิพลผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคมในระดับนโยบายประเทศมากนัก 

มหาวิทยาลัยในฐานะเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยควรมีบทบาทสร้างผลกระทบต่อการกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับตัวอย่างศูนย์วิจัยวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ทั้ง 3 ศูนย์ดังกล่าว อาทิ การริเริ่มแสดงบทบาทการเป็นคลังสมอง ทำให้ข้อมูลความรู้ของมหาวิทยาลัยเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อเฉพาะมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสังคมด้วยอีกทางหนึ่ง 
 
รายการอ้างอิง
Gavel Doug. (2017, February 3). Three HKS Centers ranked among world’s best university-
affiliated research centers. Retrieved from https://www.hks.harvard.edu/news-events/news/articles/three-hks-centers-ranked-among-world-s-best-university-affiliated-research-centers
 


1เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นำเสนออย่างเป็นทางการในการบรรยายหัวข้อ Building World-Class Universities in Thailand: Opportunities and Challenge การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัย มาตรฐานการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา คลังปัญญาในการบริการวิชาการสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน 4th Rajabhat University National and International Research and Academic Conference theme of “Creative Innovation and Research, Production and Development of Educational Personnel with High Standards, and Brain Bank via Academic Services for Community’s Strength and Sustainability” จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับ เครือข่ายราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559.

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 26 วันศุกร์ 10 – พฤหัสบดี 16 มีนาคม 2560

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ :http://assets.teenvogue.com/photos/572cb23a321c4faf6ae8df0a/master/pass/harvard-university.jpg

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

ดร. แดน แนะ ม. ไทยเป็นคลังสมองแก่ 3 ภาคส่วน: กรณีศึกษาศูนย์วิจัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้สคูลติดอันดับดีที่สุดในโลก

การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกของฮาร์วาร์ดมิเพียงมีบทบาทเป็นแหล่งผลิตกำลังคนและงานวิจัยคุณภาพระดับสูงป้อนสู่สังคมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบทั้งทางด้านนโยบายและการปฏิบัติต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศและระดับโลกบนฐานการเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยของมหาวิทยาลัย อันเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในการบูรณาการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างความรู้ทางวิชาการและการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในโลกความเป็นจริง

(more…)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *