ดร. แดน เสนอ ใช้เทคโนโลยีอย่างมีอุดมการณ์ที่ดี : กรณีศึกษาฮาร์วาร์ด

โลกยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตเป็นโลกที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากยิ่งกว่ายุคใดที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการความรู้ การปฏิเสธหรือต่อต้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เราจึงต้องชาญฉลาดในการอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีและรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในมิติการศึกษาและการเรียนรู้ ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการจัดการศึกษาทุกระดับ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าการศึกษาและการเรียนรู้ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมกันมากขึ้น อาทิ การเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (E-library) การเรียนรู้โดยใช้เว็บเป็นฐาน (Web-based learning) เป็นต้น

เทคโนโลยีในที่นี้มิเพียงมีความหมายเฉพาะรูปธรรมที่มองเห็น อาทิ เครื่องมือ วิธีการ เท่านั้น แต่ยังมีความหมายครอบคลุมถึงการมีความรู้ความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงบวกหรือเชิงสร้างสรรค์ ไม่ทำลายล้าง และนำสู่ผลลัพธ์ที่ดีด้วยเช่นเดียวกัน อันส่งผลช่วยให้การใช้เทคโนโลยีการศึกษาและการเรียนรู้เกิดประโยชน์แท้จริง

การเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รู้จักแยกแยะ นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิตควรมีเป้าหมายสำคัญคือ การสนับสนุนให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีอุดมการณ์ (อุดมคติ + แนวทางปฏิบัติ) หรือสิ่งดีงามที่ยึดถือ เทิดทูน เห็นคุณค่า พร้อมมีแนวทางปฏิบัติร่วมกัน (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2560ก) และรู้จักใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ของตนเอง ด้วยว่าข้อมูลหรือความรู้ต่าง ๆ มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีอยู่เป็นจำนวนมากจำเป็นต้องเรียนรู้แบบมีอุดมการณ์ที่เป็นประโยชน์แท้จริง อาทิ การเรียนรู้สำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม การเรียนรู้สำหรับการทำสิ่งดีเพื่อผู้อื่น เป็นต้น การมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถแยกแยะ ไม่เสียเวลากับสิ่งที่มิใช่สาระสำคัญในชีวิต ดังนั้น หากผู้เรียนและสังคมมีอุดมการณ์การใช้เทคโนโลยีถูกทางจะนำสู่ผลสูงสุดทางด้านการศึกษาต่อตนเองและสังคมในวิถีทางอันควร (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2560ข)

กรณีศึกษาฮาร์วาร์ด

ฮาร์วาร์ดเป็นแบบอย่างของการสนับสนุนให้ผู้เรียนมีอุดมการณ์ใช้เทคโนโลยีถูกทางเป็นประโยชน์แท้จริงทั้งต่อตัวนักศึกษาและสังคมส่วนรวม ตัวอย่างนวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ภายใต้การดูแลของศูนย์เดริคเพื่อการสอนและการเรียนรู้ (The Derek Bok Center for Teaching and Learning) ที่จัดให้มีนิทรรศการนำเสนอวิธีการและเทคนิคการพัฒนาปรับปรุงการสอนในช่วงที่ผ่านมา อันประกอบด้วย โครงการที่ถูกพัฒนาโดยห้องปฏิบัติการการเรียนรู้ใหม่ของศูนย์เดริคเพื่อการสอนและการเรียนรู้ ชุดสถานีของนักศึกษาระดับปริญญาตรี นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา นักวิจัยหลังปริญญาเอก คณาจารย์ และพนักงานของมหาวิทยาลัย ที่อธิบายถึงวิธีการสร้างฮาร์วาร์ดให้เป็นแหล่งนวัตกรรมการเรียนรู้ (Samplings innovations in teaching and learning, 2017) นิทรรศการดังกล่าวนี้มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้จักใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ของตนเอง อันทำให้การเรียนรู้เป็นประโยชน์แท้จริงต่อตัวนักศึกษา

นอกจากนั้น ฮาร์วาร์ดยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษามามีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมด้วยอีกทางหนึ่ง อาทิ  Digital literacy project หรือ DLP อันเป็นความร่วมมือกันระหว่างฮาร์วาร์ดกับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดภาครัฐ ในเขตพื้นที่เมืองบอสตัน เปิดสอนหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์เบื้องต้น (introduction to computer science) แบบเข้มข้นระยะเวลา 10 สัปดาห์ให้แก่เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 500 คนในเขตพื้นที่เมืองบอสตัน เริ่มดำเนินการครั้งแรกอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2008 โดยในทุก ๆ สัปดาห์ระหว่างปีการศึกษา (school year) จะมีอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ดประมาณ 50 คนมีส่วนร่วมทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนและช่วยพัฒนาทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ให้แก่เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในเขตพื้นที่เมืองบอสตัน (Doody, 2015) อันเป็นตัวอย่างรูปธรรมของการสนับสนุนให้นักศึกษาเรียนรู้อย่างมีอุดมการณ์ที่เป็นประโยชน์แท้จริงคือ การเรียนรู้เทคโนโลยีสำหรับการทำสิ่งดีเพื่อผู้อื่น

 

รายการอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (27เมษายน 2560ก). การปาฐกถาหัวข้อ How technology immersion

impact on education เราจะจัดการอย่างไรในยุคที่เราเรียกว่าเทคโนโลยีท่วมท้น Innovative School 2017 Theme: Changing Education Paradigms for the 21st จัดโดย กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สารสนเทศไทย.

________. (11 พฤษภาคม 2560ข). การบรรยายหัวข้อ แนวทางการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในยุค

การศึกษาไทยยุค 4.0 จัดโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ณ โรงแรมคันทารี่ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี.

Doody, Jennifer. (2015, July 13). Bringing computer skills to classrooms. Retrieved from

Bringing computer skills to classrooms

Samplings innovations in teaching and learning. (2017, July 10).Retrieved from

Sampling innovations in teaching and learning

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 46 วันศุกร์ 28 กรกฎาคม – พฤหัสบดี 3 สิงหาคม 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *