ดร. แดน ชี้ ?สร้างไอดอล ชักอาจารย์ดีขึ้นสู่ยอดเสา?: ฮาร์วาร์ดให้รางวัลคณาจารย์

ฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญกับคุณภาพการสอนของคณาจารย์อย่างมาก โดยนอกจากจะมีกระบวนการคัดเลือกและคัดสรรคณาจารย์เข้าสู่มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพเข้มข้นแล้ว ระหว่างทางฮาร์วาร์ดยังมีกระบวนการพัฒนาคณาจารย์และมีส่วนสนับสนุนคณาจารย์ในการพัฒนาการสอนของตนเองเป็นประจำสม่ำเสมอ อันเป็นประโยชน์และส่งผลดียิ่งต่อการพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา ช่วยให้บรรยากาศการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพและมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างล่าสุดที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดประกาศรางวัลคณาจารย์สอนระดับปริญญาตรีดีเลิศหรือที่เรียกว่า Harvard College Professorship ให้แก่คณาจารย์ทั้งหมด 5 ท่าน รางวัลดังกล่าวนี้เริ่มต้นมีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1997 โดยการสนับสนุนของจอห์นและฟรานเซส โลบ (John and Frances Loeb)และจัดให้มีขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน สำหรับครั้งนี้คณาจารย์ฮาร์วาร์ดแต่ละท่านที่ได้รับรางวัลล้วนแล้วแต่มีทัศนคติ เทคนิคและวิธีการสอนเฉพาะตัวที่น่าสนใจ (Kacoyanis, 2017) และต่างมีเป้าหมายต้องการให้นักศึกษาได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการสอน

การมอบรางวัลคณาจารย์สอนระดับปริญญาตรีดีเลิศดังกล่าวนี้เป็นรางวัลอันทรงเกียรติอีกหนึ่งรางวัลของฮาร์วาร์ด สำหรับให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่คณาจารย์ที่อุทิศตนพัฒนาการสอนของตนเองอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา ด้วยว่าคณาจารย์เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นที่มีผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและมีอิทธิพลยิ่งต่อการส่งต่อความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรม อันดีที่พึงประสงค์ให้แก่นักศึกษา

นอกจากการมอบรางวัลดังกล่าวนี้แล้ว ฮาร์วาร์ดยังมีแนวทางการพัฒนาคณาจารย์และมีส่วนสนับสนุนคณาจารย์ในการพัฒนาการสอนของตนเองด้วยวิธีการที่หลากหลายอีกหลายประการด้วยกัน อาทิ การให้ทุนสนับสนุนคณาจารย์คิดค้นนวัตกรรมการสอน เป็นต้น อันมีส่วนสำคัญต่อการช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการสอนให้แก่คณาจารย์และเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาดังที่กล่าวมา

ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย

ผมเคยนำเสนอความคิดให้มีการสร้าง ไอดอล (Idol) บ้าน 3หลัง ประกอบด้วย

  • บ้านหลังที่หนึ่งคือครอบครัว มีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง
  • บ้านหลังที่สองคือสถานศึกษา มีครูผู้สอนหรืออาจารย์เป็นแบบอย่าง และ
  • บ้านหลังที่สามคือสังคม มีผู้นำอุดมการณ์สังคมทั้งทางด้านกายภาพและจิตภาพเป็นแบบอย่าง[1] 

กลุ่มบุคคลดังกล่าวเหล่านี้เป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อผู้เรียนทั้งทางตรงและทางอ้อมโดย พ่อแม่หรือครอบครัว ถือเป็นครูคนแรกและเป็นครู “ผู้สร้างและปลูกฝัง” ความคิดในสังคมที่มีอิทธิพลมากที่สุด (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2542, น. 107) ตามมาด้วย ครูผู้สอนหรืออาจารย์ และ ผู้นำอุดมการณ์สังคม อันหมายถึงกลุ่มบุคคลแกนนำระดับต่าง ๆ ในสังคม

ในทัศนะของผม บุคคลทั้งสามกลุ่มนี้มีอิทธิพลสำคัญต่อการหล่อหลอมความคิด ทัศนคติ และลักษณะชีวิตที่ดี ให้แก่ผู้เรียนทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หากบุคคลทั้งสามกลุ่มนี้เห็นคุณค่าความสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของตนเองดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการช่วยหล่อความคิด ทัศนคติ และลักษณะชีวิตที่ดี ให้แก่ผู้เรียน

ในส่วนของบ้านหลังที่สองคือสถานศึกษาควรมีกระบวนการคัดเลือกและคัดสรรคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถและสามารถเป็นแบบอย่างหรือต้นแบบที่ดีให้แก่ผู้เรียนพร้อมทั้งมีกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบเป็นประจำสม่ำเสมอ สนับสนุนคณาจารย์สู่การเป็นต้นแบบที่พึงประสงค์ดังกล่าวและที่สำคัญคือ ควรมีกระบวนการ“ชักอาจารย์ดีขึ้นสู่ยอดเสา” ด้วยการให้รางวัลแก่คณาจารย์ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจอุทิศตนพัฒนาการสอนของตนเองสามารถเป็นแบบอย่างหรือต้นแบบที่ดีจูงใจให้ผู้เรียนประพฤติปฏิบัติตาม อาทิ การเป็นผู้ที่มีความรู้ลึก รู้กว้าง และรู้ไกล (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2541, น. 200-201) ในศาสตร์สาขาวิชาที่ตนเองสอนมีคุณธรรมความประพฤติที่ดีงาม มีความรับผิดชอบต่อทุกบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างดีเป็นต้น อันจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อผู้เรียนตัวคณาจารย์ และมหาวิทยาลัยเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสังคมด้วยอีกทางหนึ่ง

ฮาร์วาร์ดแสดงตัวอย่างอย่างหนึ่งของกระบวนการ “ชักอาจารย์ดีขึ้นสู่ยอดเสา” สนับสนุนคณาจารย์ให้เป็นแบบอย่างหรือต้นแบบที่ดีแบบไม่จงใจดังกล่าวนี้

 

รายการอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2541).คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม : สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21.

            กรุงเทพฯ:  ซัคเซส มีเดีย.

________. (2542). แหกคุกทางปัญญา : สะท้อนคิดฝ่าวิกฤตการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย.

Kacoyanis,Stephanie. (2017, March 3).5 awarded Harvard college Professorship. Retrieved

fromhttp://news.harvard.edu/gazette/story/2017/05/5-awarded-harvard-college-professorships/


[1] ผมนำเสนอความคิด ไอดอล (Idol) บ้าน 3 หลัง อย่างเป็นทางการในการบรรยายหัวข้อ แนวทางการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ยุค 4.0จัดโดย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตโคราช วันเสาร์ที่ 18มีนาคม พ.ศ. 2560 และภายหลังพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ.

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 39 วันศุกร์ 9 – พฤหัสบดี 15 มิถุนายน 2560

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *