ด้วยความเจริญก้าวหน้าอย่างมากทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นแรงผลักสำคัญที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ทุกแวดวงและทุกสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแวดวงการศึกษาและการพัฒนาคนปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยในการจัดการศึกษาเรียนรู้มากขึ้นส่งผลเป็นประโยชน์ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้และเสริมสร้างสมรรถนะที่จำเป็นให้แก่ผู้เรียน
ผมเคยนำเสนอความคิด การบรรจบกันของเทคโนโลยี (Convergence of Technology) (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2560ข) อันเป็นจุดรวมของเทคโนโลยีจำนวนมากและหลากหลาย เทคโนโลยีเหล่านี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ เป็นประโยชน์ยิ่งหากสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อาทิ
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับสถานการณ์ทางด้านการจัดการศึกษาใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับและพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน เปลี่ยนวิถีการเรียนรู้ของผู้เรียนจากเดิมที่จำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียนให้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ทุกที่ ทุกเวลา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์อยู่หลายประการ แต่การนำเทคโนโลยีดังกล่าวนี้มาใช้ ผมคิดว่ามีหลักคิดพื้นฐานทั้งหมด 13 ประการเป็นอย่างน้อย (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2560ก) ประกอบด้วย
1) เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเปลี่ยนมนุษย์เป็นอภิมนุษย์ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2547, น. 46-51) เทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นและจะเป็นประโยชน์หากนำมาใช้เชิงบวกหรือเชิงสร้างสรรค์
2) เทคโนโลยีทำให้มนุษย์สร้างผลลัพธ์ได้มากที่สุดในเวลาจำกัด มนุษย์แต่ละคนมีความจำกัดของเวลา แต่เทคโนโลยีจะช่วยมนุษย์ให้สามารถสร้างผลลัพธ์มากที่สุดภายในเวลาอันจำกัด
3) คนหรือสังคมที่ใช้เทคโนโลยีได้ผลลัพธ์มากกว่าคนหรือสังคมที่ไม่ใช้เทคโนโลยีในสภาวะที่มีการกำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่ อาทิ ประเทศที่นำการเรียนการสอนออนไลน์มาใช้ย่อมทำให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาได้มากกว่าประเทศที่ไม่ได้ใช้ ในกรณีที่มีการกำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
4) เทคโนโลยีแบบพลังทวีคูณมีผลมากกว่าเทคโนโลยีแบบเดี่ยว การรวมพลังทำงานของเทคโนโลยีนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าหรือแข็งแกร่งมากกว่าการที่แต่ละเทคโนโลยีทำงานโดยโดดเดี่ยวและหากการเชื่อมประสานระหว่างกันอย่างดีจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5) หลายคนพลังทวีคูณใช้เทคโนโลยีมีผลมากกว่าแต่ละคนใช้เทคโนโลยีแบบโดดเดี่ยว อาทิ การใช้เทคโนโลยีออนไลน์เป็นช่องทางปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน กระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการปะทะสังสรรค์ทางความคิด เกิดการต่อยอดทางสติปัญญามากกว่าการที่แต่ละคนใช้เทคโนโลยีเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นต้น
6) ความสอดรับระหว่าง Techies กับ Fuzzies สำคัญ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2541, น. 201-202) การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเชิงบวกพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางปรัชญาอุดมการณ์ที่สนับสนุนรองรับ
7) ผลกระทบของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับสิ่งใดย่อมสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงสร้างสรรค์ต่อสิ่งนั้น อาทิ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านการศึกษาจะมีผลกระทบต่อการศึกษา
8) ความท่วมท้นของเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ของเทคโนโลยีนำสู่การสร้างผลลัพธ์สูงสุด หากใช้ประโยชน์ครบย่อมทำให้เกิดผลลัพธ์เต็มเม็ดเต็มหน่วย
9) ความท่วมท้นของเทคโนโลยีทางการศึกษานำสู่ผลสูงสุดทางด้านการศึกษาต่อคนหรือสังคม อาทิ การเรียนการสอนออนไลน์ส่งผลช่วยให้ผู้เรียนจำนวนมากเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีโอกาสเรียนรู้จากครูที่เก่ง เป็นต้น
10) คนหรือสังคมที่มีอุดมการณ์ที่ดีนำเทคโนโลยีสู่ผลสูงสุดทางด้านการศึกษาต่อคนหรือสังคมในวิถีทางอันควร อาทิ หากผู้เรียนใช้เทคโนโลยีอย่างมีเป้าหมายหรืออุดมการณ์ ต้องการใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนเป็นต้น
11) การพัฒนาคนโดยเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง และคนกล้า (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2555, น. 41-48) คนดีใช้เทคโนโลยีช่วยให้เกิดบริบูรณ์ธรรม(เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2559) คนเก่งใช้เทคโนโลยีช่วยให้มีสมรรถนะ (KSL) (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2541, น. 200-201)และ คนกล้าใช้เทคโนโลยีให้คนเป็นฮีโร่ได้ (ทั่วถึง กว้างขวาง ลึกซึ้ง รวดเร็ว)
12) การพัฒนาระบบโดยเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือพัฒนาระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้เรียน อาทิ การใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ผลมผลานเข้าด้วยกัน เป็นต้น
13) การพัฒนาบริบทโดยเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือพัฒนาบริบทที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาให้เอื้อหรือสนับสนุนการศึกษา อาทิ การใช้เทคโนโลยีสร้างเครือข่ายกับกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง ดึงพ่อแม่ผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน
มหาวิทยาลัยควรนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและเป็นเครื่องมือพัฒนาชุดทักษะและความรู้ใหม่ให้แก่ผู้เรียน อันจะสนับสนุนสร้างผู้เรียนให้เป็นคนมีคุณภาพและมีสมรรถนะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น
กรณีศึกษาของฮาร์วาร์ด
ฮาร์วาร์ดเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มคุณภาพการจัดการศึกษาดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยที่ผ่านมาฮาร์วาร์ดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเปิดโอกาสให้กลุ่มเพื่อนจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศสหรัฐอเมริกามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันในประเด็นความท้าทายทางด้านการวิจัยและการออกแบบหลักสูตรอุดมศึกษาแบบดิจิตอล (Ciregna and Perez, 2017) อันกำลังเป็นทิศทางการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยในยุคสมัยปัจจุบัน
การประชุมดังกล่าวนี้มีผู้เข้าร่วมหลากหลายจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University) มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) วิทยาลัยเดวิดสัน (Davidson College) สถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (Korea Advanced Institute of Science and Technology) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) มหาวิทยาลัยบริทริช โคลัมเบีย (University of British Columbia) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California at Berkeley) มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มิลวอกี (University of Wisconsin at Milwaukee) สถาบันโพลีเทคนิควูสเตอร์ (Worcester Polytechnic Institute) ฮาร์วาร์ด สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และบริษัททางด้านการศึกษา (Ciregna and Perez, 2017) อันกำลังสะท้อนถึงการให้ความสนใจของฮาร์วาร์ดและกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมในประเด็นดังกล่าวนี้
นอกจากนี้ ฮาร์วาร์ดยังมีการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษาหลากหลายลักษณะด้วยกัน อาทิ หลักสูตรออนไลน์ที่เรียกว่า edX โดยความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusettes Institute of Technology) ริเริ่มพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 2012 ปัจจุบันหลักสูตรดังกล่าวนี้มีจำนวนผู้เรียนหลายล้านคนและหลักสูตรออนไลน์ของฮาร์วาร์ดเองที่เรียกว่า HarvardX ที่เปิดให้บริการตลอดทั่วมหาวิทยาลัย ล่าสุดที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดยังพัฒนาให้มีเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยในการเข้าถึงเนื้อหาของ HarvardX และการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละปัจเจกบุคคลอีกด้วย อันเป็นประโยชน์ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ในห้องเรียนของฮาร์วาร์ด (Ciregna and Perez, 2017) อีกทางหนึ่ง
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2541). คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม: สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21.
กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย.
________. (2547). เรื่องเล่า เขย่าคิด. กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย.
________. (2555). ชาวอารยะ : ชาวศิวิไลซ์ที่ใฝ่หา. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย.
________. (22 สิงหาคม 2559). การบรรยายหัวข้อ การตั้งตนอยู่บนความบริบูรณ์ธรรม (Integrity)
การประชุมสัมมนาประจำปีการศึกษา 2559 ครั้งที่ 46 เรื่อง การฟื้นฟูความกระตือรือร้นทางการศึกษาคาทอลิกขึ้นใหม่ (Educating Today and Tomorrow : A Renewing Passion) จัดโดย สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ณ ห้องสำเภา โรงแรมเอเชีย พัทยา จังหวัดชลบุรี.
________. (27เมษายน 2560ก). การปาฐกถาหัวข้อ How technology immersion impact on
education Innovative School 2017 Theme: Changing Education Paradigms for the 21st จัดโดยกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สารสนเทศไทย.
________. (1มิถุนายน 2560ข).การบรรยาย ณ ที่ประชุมสมัชชาสยามอารยะ.
Ciregna, Elise M. and Perez Esten. (2017, May 24).Emerging challenges in digital higher ed.
Retrieved from http://news.harvard.edu/gazette/story/2017/05/emerging-challenges-in-digital-higher-education/
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 41 วันศุกร์ 23 – พฤหัสบดี 29 มิถุนายน 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com