เดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา ฮาร์วาร์ดต้องเผชิญกับความสูญเสียครั้งสำคัญอีกครั้งกับการจากไปของ เดวิด ร็อคกี้เฟลเลอร์ (David Rockefeller) สมาชิกตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์ที่เป็นผู้บริจาคที่ยิ่งใหญ่ของโลก เดวิด ร็อคกี้เฟลเลอร์เป็นศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดและตลอดระยะเวลาอันยาวนานเขามีส่วนสนับสนุนเงินบริจาคเพื่อการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด อาทิ ในปี ค.ศ. 2008 เขาทำสัญญาบริจาคเงินจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาสำหรับช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีฮาร์วาร์ดในการมีประสบการณ์ต่างประเทศ และยังมีส่วนสนับสนุนการปฏิสังขรณ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮาร์วาร์ด (Harvard Art Museums) การบริจาคดังกล่าวนี้ภายหลังถือเป็นการบริจาคของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยที่มีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้เขายังบริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัยอีกหลายครั้งและมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยอีกด้วยเช่นเดียวกัน (Schorow, 2017)
การบริจาคและการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยของ ร็อคกี้เฟลเลอร์ มีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา นอกจากตัวเขาจะเป็นศิษย์เก่าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยแล้ว เขายังเป็นนักบริจาคตัวยงและการบริจาคของเขาได้สร้างคุณูปการอย่างมากต่อมหาวิทยาลัย อันมีส่วนนำสู่การสร้างผลกระทบต่อสังคมโดยรวมในที่สุด
การจากไปของ ร็อคกี้เฟลเลอร์ จึงเป็นความเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อประชาคมฮาร์วาร์ดและเป็นการย้ำเตือนให้เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตในการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าและความหมายที่แท้จริงคือ การมีชีวิตและใช้ชีวิตอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้อื่นและสังคม อันเป็นภารกิจสำคัญของการศึกษาและมหาวิทยาลัยที่จะต้องมีส่วนร่วมสร้างสำนึกดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นในตัวนักศึกษา เพื่อจะมีส่วนช่วยจรรโลงให้เกิดสังคมที่พึงประสงค์และน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
ผมเคยนำเสนอความคิด การมองเงินเป็น “ทาส” ไม่ใช่เป็นทาสเงิน ใช้เงินอย่างเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด หาเงินให้มากที่สุด ใช้เงินอย่าง “ประหยัด” [1](เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2560ข) ที่สุด และบริจาคเงินให้มากที่สุด เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ทั้งเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายของผู้อื่นประสบความสำเร็จ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2558)
ความคิด การมองเงินเป็นทาส ไม่ใช่เป็นทาสเงิน ดังกล่าวนี้เป็นตัวอย่างองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความคิด “บริบูรณ์ธรรม” (Integrity) (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2559) อันเปรียบได้กับจำนวนเต็มแห่งความดี คนแห่งบริบูรณ์ธรรมจะเป็นคนที่แสดงตัวตนที่ ดีแท้ งามแท้ และจริงแท้ ผสานกันอย่างบริบูรณ์ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2560ก, น. 36) ครบถ้วนสอดคล้องตลอดทาง
ในส่วนความดีแท้อันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของโมเดลบริบูรณ์ธรรม หรือ Dr. Dan Can Do Integrity Model (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2559) ดังกล่าวนี้สะท้อนออกมาด้วยการไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว แต่คำนึงถึงส่วนร่วม (Commonality) ส่วนเรา (Collectivity) และส่วนรวม (Publicnicity) (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2560ก, น. 48-52)
- การคำนึงถึงส่วนร่วม (Commonality) หมายถึง การคำนึงถึงส่วนทับหรือส่วนร่วมที่เรากับผู้อื่นมีสิทธิเป็นเจ้าของหรือใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาทิ สาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น
- การคำนึงถึงส่วนเรา (Collectivity) หมายถึง การคำนึงถึงส่วนของกลุ่มหรือสังกัดที่เราแต่ละคนสังกัดอยู่ ทุกคนมีสิทธิใช้ประโยชน์หรือเป็นเจ้าของร่วมกัน อาทิ ครอบครัว หน่วยงาน องค์กร ชุมชน สังคม เป็นต้น
- การคำนึงถึงส่วนรวม (Publicnicity) หมายถึง การคำนึงถึงส่วนที่เราทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของหรือใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาทิ พื้นที่หรือบริการสาธารณะ เป็นต้น
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของคนมีบริบูรณ์ธรรมควรต้องคำนึงถึงองค์ประกอบความดีแท้ครบถ้วนทั้ง 3 ประการดังกล่าวนี้ ต้องคำนึงถึงส่วนร่วม ส่วนเรา และส่วนรวม มิใช่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว อันจะไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะต่อปัจเจกแต่ละบุคคลเท่านั้น แต่ยังจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยจรรโลงสังคมให้น่าอยู่ด้วยอีกทางหนึ่ง
ร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นตัวอย่างบางระดับของรูปธรรมของความดีแท้ [2]ตามโมเดลบริบูรณ์ธรรมของผม และมีส่วนสำคัญต่อการช่วยจรรโลงให้สังคมการอยู่ร่วมกันมีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2555). สยามอารยะ แมนนิเฟสโต: แถลงการณ์สยามอารยะ. กรุงเทพฯ :
ซัคเซส มีเดีย.
________. (22 พฤษภาคม 2558). การร่วมเสวนาหัวข้อ การจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้สู่การ
เป็นผู้นำการอาเซียน การประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 3 (International Academic & Research Conference of Rajabhat University: INARCRU III) สหวิทยาการ งานวิจัย และนวัตกรรมอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่งทั่วประเทศ.
________. (22 สิงหาคม 2559). การบรรยายหัวข้อ การตั้งตนอยู่บนความบริบูรณ์ธรรม (Integrity)
การประชุมสัมมนาประจำปีการศึกษา 2559 ครั้งที่ 46 เรื่อง การฟื้นฟูความกระตือรือร้นทางการศึกษาคาทอลิกขึ้นใหม่ (Educating Today and Tomorrow : A Renewing Passion) จัดโดย สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ณ ห้องสำเภา โรงแรมเอเชีย พัทยา จังหวัดชลบุรี.
________. (2560ก). คนดีสร้างได้ : โมเดลบริบูรณ์ธรรม. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย.
________. (18 เมษายน 2560ข). การบรรยายหัวข้อ ประหยัด ณ ที่ประชุมสมัชชาสยามอารยะ.
Schorow, Stephanie. (2017, March 21). David Rockefeller dies at 101. Retrieved
from http://news.harvard.edu/gazette/story/2017/03/david-rockefeller-generous-benefactor-to-harvard-former-overseer-dies-at-101/
[1] “ประหยัด” มิได้หมายถึงไม่ใช้ แต่เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุดเท่าที่ถึงเป้าหมาย ตอบโจทย์ หรือตอบเป้าประสงค์ ที่ต้องการ.
[2] ด้วยความจำกัดของข้อมูลและประเด็นเนื้อหาของบทความจึงยังมิได้กล่าวถึงองค์ประกอบด้านอื่น.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 40 วันศุกร์ 16 – พฤหัสบดี 22 มิถุนายน 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)