กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
เป็นที่น่าแปลกใจกับท่าทีของประเทศพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลียที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน
ในขณะที่ในอดีตดินแดนของคนผิวขาวแห่งตะวันออกแห่งนี้ยึดมั่นในนโยบาย ?White Australia Policy? ซึ่งกีดกั้นการอพยพและตั้งถิ่นของคนผิวเหลือง อีกทั้งเปิดโอกาสให้รัฐสามารถละเมิดสิทธิคนเอเชียและคนพื้นเมืองของประเทศได้อย่างชอบธรรม โดยครั้งหนึ่งออสเตรเลียยังคงเคยนิยามตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นตะวันตก
แต่เหตุไฉนปัจจุบันออสเตรเลียกลับกลายเป็นบ้านอันอบอุ่นสำหรับคนทุกชาติพันธุ์ เป็นโรงเรียนที่น่าอยู่ของคนเอเชียและที่สำคัญกว่านั้นคือการประกาศตนอย่างเป็นทางการว่าฝักใฝ่จีนและเอเชียของรัฐบาลในยุคปัจจุบันซึ่งดูขัดแย้งกับนโยบายในอดีต เหตุผลักดันใดที่มีผลต่อท่าทีเช่นนี้ และปรากฏการณ์ดังกล่าวจะนำมาซึ่งอะไร
ในยุคแห่งการผงาดขึ้นมาของเอเชีย หรือ The Rise of Asia ณ ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และนโยบายต่างประเทศของประเทศออสเตรเลีย และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างออสเตรเลียและจีน ภายในเวลาไม่กี่ปีต่อจากนี้ เอเชียจะกลายเป็นภูมิภาคที่ผลิตสินค้าบริการและเป็นฐานการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งนั้นถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศออสเตรเลีย ที่จะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับประเทศของตน
จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศออสเตรเลีย ได้เล็งเห็นถึงอนาคตที่แสนสดใสของภูมิภาคเอเชียและประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จึงประกาศแผนการ ?ออสเตรเลียในศตวรรษแห่งเอเชีย? โดยพยายามเพิ่มบทบาทและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นไปอีกระดับ ทั้งทางด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ด้านวัฒนธรรม และอีกมากมาย
ด้านการเมืองและความมั่นคง :
ถึงแม้ว่าออสเตรเลียเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกัน ออสเตรเลียก็มีความพยายามที่จะร่วมมือทางการทหารกับประเทศจีน โดยในช่วง 3 ปีมานี้ จีนและออสเตรเลียได้ซ้อมรบทางทะเลเพื่อความมั่นคงในภูมิภาคร่วมกัน วัตถุประสงค์ของออสเตรเลียและจีนในเวลานี้อาจเป็นเพราะต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการทหารซึ่งกันและกัน เพราะจีนเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังมีกองกำลังทางทหารที่แข็งแกร่ง จากการร่วมมือทางความมั่นคงดังกล่าวอาจสามารถสร้างสันติภาพระหว่างประเทศได้ในอนาคต โดยเฉพาะในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก
ด้านการค้าและเศรษฐกิจ :
จีนคือประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของออสเตรเลีย โดยจีนนำเข้าวัตถุดิบและพลังงานเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและอื่นๆ อีกมากมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญภายในประเทศ การส่งออกไปจีนยังสามารถช่วยให้เศรษฐกิจของออสเตรเลียฟื้นตัวได้จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันออสเตรเลียพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น การผลักดันให้ดอลลาร์ออสเตรเลียเป็นสกุลเงินที่สามารถซื้อขายโดยตรงกับเงินหยวน เช่นเดียวกับเงินเยนและดอลลาร์สหรัฐที่สามารถเป็นสกุลเงินที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้โดยตรง ซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญของออสเตรเลียที่พยายามสนับสนุนให้ค่าเงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล
ด้านสังคมวัฒนธรรม :
ประเทศออสเตรเลียได้เพิ่มบทบาทในการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศจีนทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านการศึกษา เนื่องจากจำนวนคนจีนในประเทศออสเตรเลียมีค่อนข้างมาก รัฐบาลออสเตรเลียได้สนับสนุนให้โรงเรียนในประเทศทำการเรียนการสอนภาษาจีนมากขึ้น อีกทั้งยังผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศเป็นเสมือนศูนย์กลางทางการศึกษาของคนจีน ซึ่งนับเป็นการสร้างรายได้มหาศาลให้กับออสเตรเลียด้วย
ความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างจีนกับออสเตรเลียนับว่ามีนัยสำคัญต่ออาเซียน เนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์ของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างจีนและออสเตรเลียทำให้อาเซียนอันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ที่น่าจับตามองของโลก กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของสองประเทศไปโดยปริยาย เห็นได้จากท่าทีของออสเตรเลียและจีนในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asian Summit) ที่ทั้งสองประเทศต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศอาเซียนและพยายามเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคแห่งนี้
ทั้งนี้ออสเตรเลียมีความสัมพันธ์กับอาเซียนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 และมีบทบาทสำคัญอยู่บ่อยครั้งในภูมิภาคโดยเฉพาะการฟื้นฟูสันติภาพในกัมพูชาและติมอร์-เลสเต ในขณะที่จีนมีท่าทีค่อนข้างชัดเจนในการเข้ามาขยายอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียนผ่านนโยบายด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงข้ามทวีปที่มีอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของเมกะโปรเจคนี้ด้วย
ด้วยเหตุนี้ การกระชับความสัมพันธ์ของสองเพื่อนบ้านซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจจึงเป็นโอกาสดีของไทยและอาเซียนในการเสนอตนเองเป็นพื้นที่และเส้นทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสันติภาพและความมั่นคงทางการเมืองของภูมิภาค และเหนือสิ่งอื่นใดภาวะดังกล่าวอาจนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งของพื้นที่ทับซ้อนในหมู่เกาะแปซิฟิกอย่างสันติวิธีอีกด้วย
โดยสรุปแล้ว ภูมิภาคเอเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทอย่างมาก ณ ปัจจุบัน โดยภูมิภาคนี้จะเป็นดินแดนที่ชาติมหาอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน หรือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นพยายามเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศของตนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ประเด็นที่สำคัญทางนโยบายของไทยและอาเซียน คือ การพยายามสร้างดุลทางอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ และดำเนินนโยบายต่างประเทศที่จะสามารถเอื้อผลประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกอาเซียนได้มากที่สุด
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.macrobusiness.com.au/wp-content/uploads/2013/04/cabc-logo1-200×200.jpg