ข่าวสด
คอลัมน์ : สังคมแห่งความสุข Happiness Society
ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่ยากจะควบคุมในทุกวันนี้ ล้วนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายต่อการดำเนินงานขององค์กร คำถามที่เกิดขึ้น อะไรจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำพาองค์กรผ่านปัญหาเหล่านี้ ไปได้
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวทีสัมมนาวิชาการเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ Happy Workplace Forum 2014 ครั้งที่ 1 เพื่อเชิญชวนให้ ทุกองค์กรมาร่วมคิดร่วมสร้างวางรากฐานองค์กรแห่งความสุข เตรียมรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า
น.พ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สสส. ได้ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ผลักดันให้เกิดองค์กรแห่งความสุข ด้วยโครงการวิจัยและพัฒนากว่า 50 โครงการ ด้านการขับเคลื่อนองค์กรแห่งความสุขได้ครอบคลุมพื้นที่การดำเนินทั่วประเทศใน 9 พื้นที่
“เพราะเรื่องของสุขภาวะไม่ใช่เพียงมิติทางกายหรือใจ แต่ยังมีมิติทางสังคมและ จิตปัญญาด้วย ต่อไปองค์กรจะเปลี่ยนไปตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามามากและรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการเป็นองค์กรดิจิตอล ซึ่งการบริหารองค์กรในศตวรรษที่ 21 ให้ประสบความสำเร็จหัวใจสำคัญก็คือคน” ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร กล่าว
น.พ.ชาญวิทย์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่มีผลต่อความคาดหวังของคนนั้นได้แก่ เพศ วัย สถานะทางสังคม สถานะครอบครัว ระดับการศึกษา ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ ความคาดหวังของคนแตกต่างกันไป องค์กร ต้องสามารถจัดแบ่งกลุ่มคนในองค์กรเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการความต้องการที่แตกต่าง แต่สนองตอบความต้องการที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่ม เพื่อนำไปสู่ความสุขในการทำงานและการ อยู่ร่วมกันของบุคลากรในองค์กร
ด้าน ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายที่ไม่สิ้นสุด เมื่อทุกองค์กรล้วนปรารถนาการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในการดำเนินธุรกิจ องค์กรจึงจะต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะเมื่อมีปัญหาสังคม การเมือง และเศรษฐกิจเข้ามา แต่ละองค์กรต้องมีจุดแข็งที่เป็นกุญแจสำคัญเปิดประตูสู่องค์กรแห่งความสุขในแบบที่ต้องการ
นอกเหนือจากเรื่องเงินทุนและระบบการจัดการที่ดี “บุคลากร” กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของคนในองค์กรอย่างธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการแข่งขันสูงอีกทั้ง ยังอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าการคัดเลือกคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงาน จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแล้ว แต่การรักษาคนเหล่านั้นให้อยู่กับองค์กร นับเป็นเรื่องที่ยาก ยิ่งกว่า ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ย้ำว่า องค์กรต้องจัดสรร และเพิ่มพูนมูลค่าของทุนมนุษย์ในองค์กร คือต้องตระหนัก และเข้าใจในคุณค่าของคนเชื่อในความสามารถของคน เชื่อว่าสามารถพัฒนาได้ และใช้วิธีที่เหมาะสม หล่อหลอมคนอย่างที่องค์กรปรารถนาสอดคล้องกับความเจริญเติบโตขององค์กร
“การพัฒนาคนต้องสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ขององค์กร กระบวนการทั้งหมด เรียกว่า กระบวนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ของคนในองค์กร ซึ่งเริ่มต้นจากการปรับทัศนคติ เปลี่ยนมุมมองต่อคนขององค์กร เพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ในการอยู่ร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาองค์กรให้มีความสุขจากการ มาทำงานเพียงเท่านี้ ก็ถือว่าเป็นการสร้างรากฐานที่ดีให้แก่องค์กรได้อีกประการหนึ่งแล้ว” ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวปิดท้าย
บรรยายใต้ภาพ
น.พ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
–ข่าวสด ฉบับวันที่ 18 มิ.ย. 2557 (กรอบบ่าย)–
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com