เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ผมได้รับเชิญไปบรรยายในการประชุมวิชาการด้านการบริหารธุรกิจระดับชาติและนานาชาติ ปี 2560 (Business Administration National and International Conferences 2017) ซึ่งจัดโดยคณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัย ราชภัฏอุบลราชธานี ภายใต้หัวข้อ ‘ผลกระทบของนวัตกรรมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก’ ผมจึงขอแบ่งปันถึงสิ่งที่ได้นำเสนอในงานประชุมครั้งนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่า ความจำเป็นของนวัตกรรมต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคตมีมากมายหลายประการ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างความแตกต่างหรืออัตลักษณ์ของสินค้าและบริการ เพราะยุคนี้เป็นยุคแห่งนวัตกรรม
นวัตกรรมตามแนวคิดของผม จำแนกออกเป็น 3 ระดับ หรือที่ผมเรียกว่า
“นวัตกรรม 3 ระดับ” หรือ “Dr. Dan Can Do 3I Innovation Model” ได้แก่
ระดับที่ 1 นวัตกรรมความคิด (Ideation Innovation)
ระดับที่ 2 นวัตกรรมการปฏิบัติ (Implementation Innovation)
ระดับที่ 3 นวัตกรรมผลกระทบ (Impact Innovation)
การพัฒนานวัตกรรมที่สร้างผลกระทบ ต้องเข้าใจมิติต่างๆ ของผลกระทบ ซึ่งประกอบด้วย
1) ผลกระทบของประสิทธิผล (output)
หมายถึง นวัตกรรมที่สร้างผลผลิตตามความมุ่งหมาย กล่าวคือ เป็นนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนในสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองความต้องการด้านการใช้งาน (functional needs) ด้านอารมณ์ (emotional needs) เช่น คุณค่า รสนิยม การยอมรับทางสังคม รวมถึงความต้องการด้านเหตุผล (rational needs) เช่น ความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐกิจ เป็นต้น
การพัฒนาจากความรู้หรือแนวคิดให้เป็นนวัตกรรมมีความเสี่ยงสูง เพราะมิใช่ว่าทุกนวัตกรรมจะสามารถสร้างผลกระทบของประสิทธิผลได้ เนื่องจากนวัตกรรมบางชิ้นต้องใช้ระยะเวลายาวนานและต้นทุนสูง ในการจดสิทธิบัตร หรือการผ่านกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ เช่น การทดสอบยาบางตัวในสหรัฐอเมริกา อาจต้องใช้เวลาเป็นทศวรรษ และสร้างต้นทุนเกินกว่า 500 ล้านดอลลาร์
สินค้านวัตกรรมจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีความเสี่ยงว่า จะเป็นที่ยอมรับของตลาดหรือไม่ ต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะได้รับการยอมรับในวงกว้าง จะมีผลประกอบการที่ดีหรือไม่ ต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะคุ้มทุน และจะถูกลอกเลียนแบบหรือไม่
ยกตัวอย่าง นวัตกรรมที่ในเชิงแนวคิดดูเหมือนมีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่เมื่อผลิตออกเป็นสินค้ากลับไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านอารมณ์ เช่น Google Glass ที่มีการออกแบบดูเกะกะและไม่น่าสนใจ และไม่แตกต่างจากสินค้าต้นแบบ ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติในเวลาสวมใส่ และไม่ปลอดภัยในเวลาสวมใส่ในซอยมืด และท่ามกลางฝูงชน เป็นต้น
การสร้างนวัตกรรมที่มีผลกระทบของประสิทธิผล จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมโยงอย่างแข็งแรงตลอดซัพพลายเชนของการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม โดยการเชื่อมกระบวนการทำงานของบุคลากร/หน่วยงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม และการเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมและลูกค้า
2) ผลกระทบของประสิทธิคุณ (outcome)
หรือนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบที่มีคุณค่า หมายถึง นวัตกรรมที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีคุณค่า ซึ่งอาจทำได้โดย การกำหนดเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญที่คุณค่ามากกว่ามูลค่า และการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วงแรกของกระบวนการสร้างนวัตกรรม เพื่อช่วยประเมินคุณค่าของนวัตกรรม
ตัวอย่างนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบที่มีคุณค่า คือ ธนาคารกรามีนซึ่งเป็นต้นแบบนวัตกรรมธุรกิจ ที่มูฮัมหมัด ยานุส คิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของคนบังคลาเทศ ธนาคารกรามีนมีกลยุทธ์สำคัญ คือ การให้สินเชื่อกับสตรี เพราะในสังคมบังคลาเทศ ผู้หญิงเป็นคนทำงาน เลี้ยงดูครอบครัว และผู้หญิงมีวินัยทางการเงินมากกว่า และใช้วิธีการค้ำประกันกลุ่ม ซึ่งส่งผลทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และชุมชนเข้มแข็งขึ้นด้วย
3) ผลกระทบของประสิทธิสาร (outdo)
หมายถึง นวัตกรรมที่สร้างผลกระทบที่เลอค่า ซึ่งความเลอค่า หมายถึง สิ่งที่มีคุณค่าโดดเด่นท่ามกลางสิ่งที่มีคุณค่าทั้งปวง โดยมีเกณฑ์พิจารณาว่านวัตกรรมนั้นเลอค่าหรือไม่ ด้วยคำถามดังต่อไปนี้
…นวัตกรรมมีส่วนช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณชนหรือไม่ ?
…นวัตกรรมมีส่วนทำให้เกิดผลประโยชน์ทางสังคมมากที่สุดหรือไม่ ?
…นวัตกรรมมีส่วนช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติหรือไม่ ?
ยกตัวอย่าง บริษัท Merck ที่ตัดสินใจทำการวิจัยและผลิตยาฆ่าเชื้อพาราสิตที่เป็นพาหะของโรค River Blindness ที่กำลังระบาดรุนแรงในแอฟริกา ในช่วงทศวรรษ 1980 แม้ต้องใช้งบประมาณรวมไม่ต่ำกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการวิจัย ผลิตและกระจายยาให้ถึงมือผู้ป่วยทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เป็นเพราะการยึดแก่นความเลอค่าของผู้บริหารบริษัท Merck ที่ว่า “ยาไม่ได้มีไว้เพื่อกำไร แต่เพื่อประชาชน”
4) ผลกระทบของประสิทธิคูณ (outburst)
หมายถึง นวัตกรรมที่สร้างผลกระทบทวีคูณ เป็นการทวีคูณผลลัพธ์ที่เลอค่า เป็นการระเบิดออก ทำให้เกิดผลกระทบอย่างเป็นวงกว้าง
กลยุทธ์สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างผลกระทบของประสิทธิคูณ คือ การใช้แนวทางการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Co-creation) ดังตัวอย่างของ open source software ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือของสาธารณะ และอนุญาตให้ทุกคนนำไปใช้ได้ฟรี เป็นต้น หรือการสร้างนวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างนวัตกรรม เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ทำให้การสร้างสินค้าต้นแบบรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำลง เป็นต้น
5) ผลกระทบของประสิทธิเขต (outbound)
คือ นวัตกรรมที่สร้างผลกระทบข้ามขอบเขต สร้างผลลัพธ์หรือส่งผลกระทบเชิงบวกออกไปนอกขอบเขตเดิม ทั้งขอบเขตในเชิงภูมิศาสตร์ และขอบเขตเชิงประเด็น
การสร้างผลกระทบของประสิทธิเขต อาจทำได้โดย การนำคนจากหลากหลายกลุ่ม หลากหลายความสนใจ หลากหลายบริบท และหลากหลายเชื้อชาติและประเทศ รวมถึงความหลากหลายของศาสตร์และความรู้ มาร่วมกันสร้างนวัตกรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลและมุมมองเกี่ยวกับความต้องการและบริบทที่หลากหลาย ทำให้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง
6) ผลกระทบของประสิทธิกาล (outlast)
หมายถึง นวัตกรรมที่ทำให้เกิดผลกระทบที่ยั่งยืนยาวนานข้ามกาลเวลา เป็นนวัตกรรมที่นำไปถึงความยั่งยืนที่แท้จริง เพราะสามารถเอาชนะผลแห่งกาละได้
นวัตกรรมที่สร้างผลกระทบข้ามกาลเวลามักเป็นนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการ (Breakthrough innovation) เป็นการสร้างหรือใช้องค์ความรู้ใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ และเป็นการสร้างความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่เพียงการปรับปรุงเล็กน้อย เช่น การประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ เครื่องบิน ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
นวัตกรรมนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี การสร้างนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งขาดความแข็งแรงของความรู้และเทคโนโลยี ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างนวัตกรรมที่มีผลกระทบ ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก ถึงกระนั้น ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป สำหรับผู้ที่มีความมุ่งมั่นและทำงานหนัก
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com