สภาปัญญาสมาพันธ์ ซึ่งผมเป็นประธาน ได้แถลงผลการสำรวจดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน (Private Sector Effectiveness Index – PVE Index) ซึ่งพบว่า ตัวชี้วัดด้านการตอบสนองความต้องการผู้บริโภคมีคะแนนร้อยละ 67.79 นับเป็นตัวชี้วัดที่คะแนนสูงที่สุดในการสำรวจครั้งนี้
หากวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ภาคธุรกิจในประเทศไทยมีความสามารถในการตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคนั้น น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
ประการแรก "คนไทยมีใจบริการเป็นทุนที่ดีงาม" การมีใจบริการเอื้อไปสู่ความพยายามในการเข้าถึงใจผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น
ประการที่สอง "แรงกดดันจากผู้บริโภคผ่านสื่อสังคมออนไลน์" การที่ประชาชนในประเทศเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ประกอบกับข้อมูลและความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลทั้งในเชิงบวกและลบต่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถเข้าใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น
ประการที่สาม ธุรกิจจำนวนมากมีลักษณะ "ซื้อมาขายไป" และการเปิดเสรีการค้าทำให้การนำเข้าสินค้ามาจำหน่ายมีความสะดวก รวดเร็ว ภาคธุรกิจไทยจึงสามารถตอบสนองความต้องการได้เสมอ ซึ่งสะท้อนว่า ภาคธุรกิจไทยส่วนใหญ่มีที่ยืนได้บนธุรกิจของต่างชาติ ขณะที่ธุรกิจต่างชาติที่ต้องการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย จำเป็นต้องพึ่งพาคนไทยให้ช่วยเจาะตลาดสินค้าแบรนด์ต่างชาติในประเทศไทย
ประการที่สี่ "บริบทในยุคศตวรรษที่ 21" ที่มีการแข่งขันสูงและผู้บริโภคมีแนวโน้มต้องการสินค้าและบริการที่มีความเจาะจงมากขึ้น และมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ภาคธุรกิจจึงมีความจำเป็นต้องแข่งขันกันเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและเป็นพลวัตร
ถึงแม้ว่าภาคธุรกิจในประเทศสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อพิจารณาผลการสำรวจในตัวชี้วัดด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย ทำให้ผมเกิดข้อสังเกตบางประการ
ข้อสังเกตประการแรก ภาคธุรกิจในประเทศยังไม่ตอบสนองต่อแรงกดดันจากมาตรฐานสากลมากนัก สังเกตได้จากตัวชี้วัดด้านการคอร์รัปชั่น การรับผิดรับชอบ และการรณรงค์ทางสังคมที่ได้คะแนนค่อนข้างต่ำที่ร้อยละ 58.57 ร้อยละ 58.82 และร้อยละ 58.85 ตามลำดับ ขณะที่ตัวชี้วัดด้านความเป็นสากลมีคะแนนร้อยละ 59.65 ซึ่งอาจตีความได้ว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคในประเทศ จึงให้ความสำคัญยังไม่สุดอย่างที่ควรเป็นกับมาตรฐานสากลซึ่งเป็นแรงกดดันจากภายนอกประเทศ ในขณะที่ผู้บริโภคในประเทศยังขาดความตระหนักเกี่ยวกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะมาตรฐานด้านบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม
ข้อสังเกตประการต่อมา คือ ภาคธุรกิจในประเทศยังขาดความสามารถในการผลิตสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค สังเกตได้จาก ตัวชี้วัดด้านการสร้างนวัตกรรมของภาคธุรกิจในประเทศไทยมีคะแนนเพียงร้อยละ 57.88 ซึ่งเป็นคะแนนต่ำที่สุดในการสำรวจครั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนว่า ภาคธุรกิจไทยไม่สามารถผลิตสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการได้เอง แต่ส่วนใหญ่ต้องผลิตหรือนำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้แบรนด์ต่างชาติ
ด้วยเหตุที่ความสามารถของภาคธุรกิจในประเทศไทยในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนความสามารถของภาคธุรกิจต่างประเทศ ส่งผลทำให้มูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นไม่ได้ตกเป็นของภาคธุรกิจในประเทศไทยมากนัก ผมจึงขอเสนอแนวทางในการพัฒนาภาคธุรกิจในประเทศไทยดังต่อไปนี้
แนวทางแรก "รัฐบาลควรแสดงบทบาทนำ" โดยเพิ่มการลงทุนด้านการออกแบบ การวิจัยและพัฒนา และกำหนดมาตรการจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนด้านดังกล่าวมากขึ้น ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนต้องเน้นคัดเลือกการลงทุนที่มีคุณภาพและเน้นกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและสร้างแรงจูงใจในการผลิตสินค้าเทคโนโลยี สินค้านวัตกรรม และสินค้าที่มีมาตรฐานสูง ภายใต้แบรนด์ของตนเองมากขึ้น
ดังตัวอย่างของรัฐบาลจีนที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ จากเดิมที่ภาคการผลิตของจีนส่วนใหญ่ใช้วิธีการเลียนแบบและการเลียนแบบและพัฒนา เพื่อสร้างสินค้าที่เป็นตราสินค้าของจีน ถึงแม้ว่าสินค้าไม่ได้มีความทันสมัยหรือเป็นนวัตกรรม แต่อาศัยความได้เปรียบจากอัตราค่าจ้างที่ต่ำทำให้สามารถแข่งขันได้ แต่เมื่ออัตราค่าจ้างในประเทศจีนสูงขึ้น รัฐบาลจีนจึงปรับเปลี่ยนนโยบายไปสู่การผลิตที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น เช่น การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น การดึงดูดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น และการส่งเสริมอุตสาหกรรมดั้งเดิมออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า เป็นต้น
แนวทางที่สอง "การสร้างความสามารถทางเทคโนโลยี" โดยสนับสนุนให้คนไทยเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ และมีความสามารถใช้ความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีในการสร้างอาชีพและสร้างธุรกิจใหม่ เช่น ความรู้และทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ การออกแบบหุ่นยนต์ การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบ เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่อาจจะกลายเป็นสินค้านวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้
ผลจากการสำรวจสะท้อนว่า ภาคธุรกิจในประเทศไทยเน้นการตอบสนองต่อต้นทุนและผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่ขาดการคำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจในระยะยาว การปรับตัวเพื่ออนาคตจำเป็นต้องเริ่มต้นเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างผลลัพธ์ในวันข้างหน้า แม้ว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว แต่ยังดีกว่าปล่อยให้ประเทศไทยไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีและยืนบนลำแข้งของตัวเองได้เลย
ที่มา: โพสต์ทูเดย์
ปีที่ 14 ฉบับที่ 4771 วันที่ จันทร์ 29 กุมภาพันธ์ 2559
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.thailand-business-news.com/wp-content/uploads/2015/11/gamblingvsbusiness.jpg