รูปแบบการทำงาน ยุคหลัง COVID-19 (Work Pattern after Post – COVID-19 Era)

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (ดร.แดน)
ประธาน สถาบันการสร้างชาติ
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

ผมคาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 มีความเป็นไปได้ว่า จะคงอยู่ยาวนานอาจถึง 2 ปี หรือจนกว่าคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จ สามารถผลิตและนำมาใช้ได้จริง กระจายไปได้ทั่วโลก
ในช่วงเวลาแห่งการรอคอยที่ยาวนาน สถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ ทำให้มนุษยชาติตระหนักว่า เราอาจเผชิญภัยจากโรคระบาดอื่น ๆ เป็นระยะ ๆ ตลอดไป จนกลายเป็นความปกติใหม่ (new normal) ที่อยู่กับโลกมนุษย์ ตามโมเดล PANDEMIC New Normal ที่ผมได้ทำนายไว้ ทำให้ทุกคนจะเริ่มเตรียมใจ เตรียมความพร้อม เกิดเป็นพฤติกรรม ความสัมพันธ์ การดำเนินชีวิต และการทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถปรับตัว ลดความเสี่ยงและเอาตัวรอดในภาวะวิกฤตได้
การหยุดกิจกรรมต่าง ๆ ‘หยุดเชื้อเพื่อชาติ’ ทำให้ธุรกิจจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบแบบไม่ทันตั้งตัว รายรับที่เคยได้ กลายเป็น 0 เพราะต้องปิดกิจการชั่วคราว วิกฤตครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญ ทำให้เห็นถึงความไม่แน่นอน ความเสี่ยงที่พร้อมจะเกิดขึ้น ดังนั้น ผมวิเคราะห์ว่า องค์กรในอนาคตจะเริ่มปรับตัวในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้เมื่อเผชิญวิกฤต อาทิ
การจ้างงานภายนอกระดับบุคคล (Outsourcing to individual, not company) เพื่อรักษาผลิตภาพในองค์กร และ รักษาต้นทุนการดำเนินงานให้ต่ำ งานขององค์กรจะถูกแบ่งเป็นส่วนๆ โดยงานที่ไม่สามารถเข้ามาทำที่ส่วนกลางได้ องค์กรจะใช้วิธีการจ้างภายนอกระดับบุคคลให้มาดำเนินการแทน ซึ่งมีตัวเลือกให้เลือกมากและมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจ้างภายนอกในระดับหน่วยงาน โดยคนที่ถูกจ้างให้ทำงานที่บ้านจะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ทำงานภายนอก (outsource) และถูกมอบหมายให้รับผิดชอบงานที่เจาะจงชัดเจน
การลดขนาดองค์กรและสำนักงาน ในอนาคตองค์กรจะมีขนาดเล็กลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยมีการวางโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่น ฝ่ายต่าง ๆ มีอิสระต่อกัน เพื่อให้พร้อมปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อสถานการณ์วิกฤตเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน องค์กรหลายแห่งจะตัดสินใจให้พนักงานจำนวนหนึ่งทำงานจากที่บ้านอย่างถาวร โดยสมัครใจ สำนักงานจะมีขนาดเล็กลง เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยให้ทำงานผ่านออนไลน์เป็นหลัก และอาจจะใช้บ้านของผู้บริหารเป็นสำนักงานเล็ก ๆ มีห้องประชุมเพื่อให้พนักงานมาประชุมประจำสัปดาห์ได้
การทำงานแบบโครงการ (project based jobs) ในอนาคตเพื่อลดความเสี่ยง องค์กรจะเลือกทำงานในลักษณะโครงการ มากขึ้น เพราะมีระยะเวลากำหนดชัดเจน สามารถทบทวนและปรับเปลี่ยนได้เมื่อจบโครงการ โดยอาจดำเนินการหลาย ๆ โครงการพร้อม ๆ กัน มีการแบ่งการทำงานออกเป็นทีม แต่ละคนอาจอยู่พร้อมกันหลายทีม และแต่ละโครงการอาจมีระยะเวลาไม่เท่ากัน เป็นโครงการระยะยาว ระยะกลาง ระยะสั้น มีการคิดริเริ่มโครงการใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินภารกิจ และสามารถยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
การจ้างงานเป็นชิ้นงาน ในอนาคตการจ้างพนักงานประจำจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนจะลดลง แต่จะจ้างงานตามโครงการมากขึ้น (project based job hiring) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย โดยเป็นการจ่ายรายชิ้นงาน (pay per piece) ประเมินตามผลลัพธ์ของงานที่เกิดขึ้น (pay by productivity) ซึ่งทำให้พนักงานที่ทำงานที่บ้านสามารถรับผิดชอบงานของตน ให้เสร็จตามกำหนดเวลาและมาตรฐานที่ตกลงกันไว้
การทำงานที่บ้านแบบเดี่ยวและแบบทีม (กลุ่มย่อย) การทำงานที่บ้านแบบเดี่ยว หรือต่างคนต่างทำ จะเหมาะสำหรับงานบางประเภท ซึ่งบุคคลนั้นสามารถทำในส่วนของตน โดยไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายอื่น ๆ แต่ไม่เหมาะสำหรับงานที่จำเป็นต้องทำร่วมกันเป็นทีม เพราะการทำงานที่บ้านแบบต่างคนต่างทำ แม้จะมีการประชุมผ่านทางออนไลน์ แบบเห็นหน้าค่าตากัน สื่อสารกันได้แบบ real time แต่อาจทำให้พลังความเป็นทีมลดลงได้ในระยะยาว
ดังนั้น องค์กรที่เห็นจุดอ่อนนี้ จะสนับสนุนการทำงานแบบทีม เพราะในการทำงานร่วมกันเป็นทีม จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันแบบเห็นหน้ากัน มีบรรยากาศการใช้เวลาร่วมกันทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ได้พูดคุย ปรึกษาหารือกัน รับประทานอาหาร ดื่มกาแฟ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ฯลฯ ช่วยให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ช่วยกันระดมความคิด ทำให้เกิดไอเดียสร้างสรรค์ ความคุ้นเคยสนิทสนม ช่วยให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกัน ช่วยแก้ปัญหา เสริมสร้างกำลังใจกัน และเกิดความกระตือรือร้นที่จะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายร่วมกัน ฯลฯ รูปแบบการทำงานจึงมีลักษณะรวมกลุ่มแบบทีม อาจใช้บ้านหรือ co-working space ของที่ทำงาน เพื่อลดต้นทุนค่าเช่าสำนักงานถาวร เป็นต้น
การมีทีมประสานงาน การทำงานจากหลากแหล่ง ทำให้ต้องมีผู้ประสานงานกลาง หรือ เลขาทำหน้าที่คนกลางประสานงาน ระหว่างพนักงานที่ทำงานที่บ้าน คอยติดตามความคืบหน้าของงาน การนัดหมายประชุม การให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านต่าง ๆ ตามที่ร้องขอ และการรวบรวมงานของทุกคน เพื่อให้งานนั้นสำเร็จตามเป้าหมาย
การมีทีมกลยุทธ์สู้วิกฤต ในระยะต่อไป องค์กรต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ต้องพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว พร้อมเผชิญหน้ากับวิกฤตต่างๆ ที่คาดไม่ถึง ผมวิเคราะห์ว่า องค์กรต่าง ๆ จะให้ความสำคัญหรือตั้งทีมงานที่สำคัญขึ้นมา นั่นคือ ทีมกลยุทธ์ ทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ และวางแผนดำเนินการในสภาวะต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรปรับตัวและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที ทำให้สามารถอยู่รอดและเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ทั้งในภาวะปกติและในยามวิกฤต

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บานพับประวัติศาสตร์การทำงานจะเปลี่ยนรูปแบบไป การทำงานจะยืดหยุ่นและพร้อมเปลี่ยนแปลง เพื่อรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นปกติ แม้ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นก็ตาม..

Leave a Reply

Your email address will not be published.