กรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองและชนบท: “RUUR Models: Dr. Dan Rural and Urban Development Models”

ความเป็นเมือง (urbanization) เป็นผลจากความเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเจริญที่กระจุกตัวที่เขตเมือง ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า และรายได้ที่สูงกว่า ยิ่งเศรษฐกิจเติบโตก็ยิ่งมีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น ความเป็นเมืองจึงขยายตัวมากขึ้น

อัตราความเป็นเมือง (urbanization rate) ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารโลก (World bank) ที่ระบุว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีแนวโน้มที่อัตราความเป็นเมืองเพิ่มมากขึ้น จากสัดส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองประมาณร้อยละ 50 ของประชากรโลกในปัจจุบัน เพิ่มเป็นร้อยละ 70 ในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาเมือง (urban development) จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งของการก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มผลิตภาพและเร่งการสร้างนวัตกรรม ขจัดความยากจน สนับสนุนการบริโภคและการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงดึงดูดการลงทุน และในอนาคต อัตราความเป็นเมืองจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในทวีปเอเชียที่จะมีประชากรอาศัยอยู่เมืองประมาณครึ่งนึงของประชากรโลกที่อาศัยในเมืองทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การพัฒนาเมืองย่อมมีอุปสรรคและข้อจำกัด และนำมาซึ่งผลกระทบเชิงลบอื่น ๆ อาทิ ปัญหาประชากรหนาแน่นมากเกินไป การจราจรติดขัด ปัญหามลภาวะ ปัญหาขยะ การขยายตัวออกของเมืองในแนวราบอย่างไม่เป็นระเบียบ การใช้ที่ดินไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตามมา  

ผมมองว่าการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องพัฒนาชนบท (rural development) ควบคู่กันไปด้วย กล่าวคือ ควรกระจายความเจริญไปยังท้องถิ่นในชนบทด้วย และทำให้เกิดการพัฒนาความเป็นเมืองที่มีคุณภาพ ทั้งจากการพัฒนาเมืองเดิมที่ด้อยพัฒนาให้เป็นเมืองที่พัฒนาแล้ว และพัฒนาจากชนบทจนกลายเป็นเมือง รวมทั้งการพัฒนาชนบทที่ด้อยพัฒนาให้เป็นชนบทที่มีระดับการพัฒนาสูงขึ้นด้วย

ผมขอเสนอกรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองและชนบท เรียกว่า “RUUR Models: Dr. Dan Rural and Urban Development Modelsที่จำแนกเมืองและชนบทตามระดับการพัฒนา จำนวนประชากรและความหนาแน่นของประชากร ได้เป็น 4 พื้นที่ ได้แก่  

(1) ชนบทที่ด้อยพัฒนา (Underdeveloped rural area) คือ พื้นที่ที่มีจำนวนและความหนาแน่นประชากรต่ำ และยังไม่ได้รับการพัฒนาหรือเรียกว่า เป็นพื้นที่ปฏิบัติการของการพัฒนาชนบท

(2) ชนบทที่พัฒนาแล้ว (Developed rural area) คือ พื้นที่ที่มีจำนวนและความหนาแน่นประชากรต่ำ และได้รับการพัฒนาแล้วหรือเรียกว่า เป็นเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาชนบท

(3) เมืองที่ด้อยพัฒนา (Underdeveloped urban area) คือ พื้นที่ที่มีจำนวนและความหนาแน่นประชากรสูง และยังไม่ได้รับการพัฒนา เช่น สลัม หรือเรียกว่าเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของการพัฒนาเมือง

(4) เมืองที่พัฒนาแล้ว (Developed urban area) คือ พื้นที่ที่มีจำนวนและความหนาแน่นประชากรสูง และได้รับการพัฒนาแล้วหรือเรียกว่า เป็นเป้าหมายของการพัฒนาเมืองและชนบท

          โดยมีทางเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองและชนบท เป็นดังต่อไปนี้

ทางเลือกที่ 1 การพัฒนาชนบทที่ด้อยพัฒนาเป็นชนบทที่พัฒนาแล้ว หรือ RuDev (Rural Development) เป็นยุทธศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงให้ชนบทมีความน่าอยู่ทันสมัย โดยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทางเลือกที่ 2 การพัฒนาชนบทที่ด้อยพัฒนาให้เป็นเมืองใหม่ที่พัฒนาแล้ว หรือ RuBan (Rural to Urban) เป็นยุทธศาสตร์การสร้างความเติบโต โดยการเพิ่มขั้วความเติบโต (growth pole) หรือ จุดที่เป็นเสาหลักการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และลดพื้นที่ที่ด้อยพัฒนาลง ดังตัวอย่าง รัฐบาลจีนประกาศสร้างคลัสเตอร์ (cluster) อภิมหาเมือง 11 เมือง ที่เชื่อมเมืองย่อยต่าง ๆ ด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง มุ่งพัฒนาชนบทที่อยู่กลางคลัสเตอร์ให้กลายเป็นเมืองใหม่ พร้อมทั้งกระจายความเจริญและลดความหนาแน่นของเมืองใหญ่ เป็นต้น

ทางเลือกที่ 3 การพัฒนาชนบทที่ด้อยพัฒนาให้เป็นเมืองเดิมที่พัฒนาแล้ว หรือ RuLink (Rural Link Urban) เป็นการเชื่อมโยงและหลอมรวมชนบทเข้ากับเมืองที่มีอยู่แล้ว โดยการพัฒนาชนบทอาจมีบทบาทในการพัฒนาเมือง อาทิ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการในเมือง เป็นฐานทรัพยากรและพลังงานเพื่อการพัฒนาเมืองและภาคเศรษฐกิจอื่น เป็นแหล่งจัดหาแรงงานให้กับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เป็นตลาดรองรับผลผลิตของเมือง เป็นต้น

ทางเลือกที่ 4 การพัฒนาเมืองที่ด้อยพัฒนาให้เป็นเมืองเดิมที่พัฒนาแล้ว UrDev (Urban Development) เป็นการทำให้เมืองมีความน่าอยู่ น่าท่องเที่ยว เน้นความยั่งยืน ดังยุทธศาสตร์เมือง 10 ส. ที่ผมเคยเสนอไว้ อันได้แก่ สะดวก สงบสุข สะอาด สุขสบาย สุขอนามัย สำราญ สวยงาม สมองสร้างสรรค์ สีขาว สืบสานวัฒนธรรม โดยอาจทำได้ด้วยวางผังเมืองอย่างดี มีมาตรการควบคุมมลพิษที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดการอาชญากรรมที่เข้มงวด และมีการจัดการระบบจราจรที่ดี เป็นต้น

ทั้งนี้ การพัฒนาชนบทไม่ควรถูกจำกัดว่า ต้องเป็นการพัฒนาชนบทให้เป็นเมืองเท่านั้น แต่ผลสุดท้ายของการพัฒนาชนบท คือ ระดับการพัฒนาของพื้นที่จะต้องถูกยกระดับขึ้น และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าพื้นที่ชนบทจะยังคงเป็นชนบทอยู่หรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ แม้พื้นที่ชนบททั่วโลกยังพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า เมื่อเทียบกับการพัฒนาเมือง แต่ความพยายามในการพัฒนาชนบทจะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและไม่ยอมแพ้ ในทำนองเดียวกัน แม้การพัฒนาเมืองจะเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ต้องเป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของประชากรในเมือง

การพัฒนาเมืองและชนบทควรดำเนินการอย่างชาญฉลาด ทลายข้อจำกัดและเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ของการพัฒนาให้ได้ พร้อมทั้งสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สังคม และประเทศ เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างยั่งยืน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com