Dr. Dan Can Do “4 WINs” Model : กรณีการจัดการศึกษาฮาร์วาร์ด

ผมเคยนำเสนอความคิด Dr. Dan Can Do “4 WINs” Model เอาไว้ในหนังสือ คนดีสร้างได้ : โมเดลบริบูรณ์ธรรม อันประกอบด้วย ส่วนตัว ส่วนร่วม ส่วนเรา ส่วนรวม “ชนะทุกฝ่าย” โดยพิจารณาผลประโยชน์ที่ได้ต่อ 4 กลุ่มนี้เสมอ ด้วยตระหนักว่า หากส่วนตัวชนะ ส่วนอื่น ๆ ย่อมแพ้ และในที่สุดย่อมแพ้ร่วมกัน ดังนั้น การจัดสรรผลประโยชน์ของเราควรต้องคิดแบบ ชนะ ชนะ ชนะ ชนะ ดังกล่าวนี้ อันจะส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่คงทนยั่งยืนยาวนาน เพราะสามารถสร้างสมดุลผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ในบริบทของการจัดการศึกษาเช่นเดียวกัน ผมเสนอให้นำกรอบคิด Dr. Dan Can Do “4 WINs” Model มาขบคิดพิจารณาให้เกิดความแจ่มกระจ่างอย่างถ่องแท้และประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทการจัดการศึกษาเพื่อให้ทุกฝ่ายชนะร่วมกัน ส่วนตัวคือ ปัจเจกแต่ละบุคคลชนะ เช่น ผู้เรียน คณาจารย์ บุคลากร ส่วนร่วมคือ พันธมิตรหรือหุ้นส่วนชนะ ส่วนเราคือ สถานศึกษาชนะ และส่วนรวมคือ ประเทศชาติสังคมส่วนรวมชนะ การจัดสรรผลประโยชน์อันเกิดจากการจัดการศึกษาของเราควรให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายดังกล่าวนี้ มิใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือ 2 – 3 ฝ่ายชนะเท่านั้น

หากพิจารณาการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดสะท้อนความคิด Dr. Dan Can Do “4 WINs” Model ของผมดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกันแบบไม่จงใจ อันส่งผลช่วยให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องชนะร่วมกัน ปัจเจกบุคคลเกิดความพึงพอใจ มหาวิทยาลัยเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และมีส่วนจรรโลงประเทศชาติสังคมส่วนรวมให้ดีขึ้น

ตัวอย่างการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดที่สะท้อนความคิด Dr. Dan Can Do “4 WINs” Model ของผมดังกล่าวนี้มีหลายกรณีด้วยกัน อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถทางการบริหารจัดการและการสร้างสมดุลประสานผลประโยชน์อย่างดีที่สุดระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การจัดสรรผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยมิเพียงมุ่งแต่ตนเองเพียงฝ่ายเดียว แต่คำนึงถึงทุกฝ่ายร่วมกัน

ตัวอย่างรูปธรรมของความคิดดังกล่าวนี้สามารถวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวตามที่มีข้อมูลระบุไว้ในเว็บไซต์ของฮาร์วาร์ด เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัย พัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ (low-carbon community) การสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอุปสงค์และอุปทานพลังงาน การปรับปรุงอาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน การปรับปรุงระบบการขนส่งและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำภายในมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดขับเคลื่อนประชาคมมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นนักศึกษา พนักงาน และคณาจารย์มหาวิทยาลัยให้เข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมดังกล่าวนี้อย่างเต็มที่

  • ส่วนตัว คือ ประชาคมมหาวิทยาลัยชนะ ทั้งนักศึกษา พนักงาน และคณาจารย์ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น เช่น ประเด็นทางด้านสุขภาพ อากาศ อาหาร น้ำดื่ม

 

  • ส่วนร่วม คือ พันธมิตรหรือหุ้นส่วนชนะ จากข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุมีด้วยกันหลากหลาย ทั้งภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา ภาคไม่แสวงหาผลกำไร และภาคเอกชน เช่น การรักษาข้อตกลงระยะยาวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อแนะนำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Intergovernmental Panel on Climate Change’s recommendations) เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 80 ภายในปี ค.ศ. 2050

 

  • ส่วนเรา คือ มหาวิทยาลัยชนะ สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านทฤษฏีและการปฏิบัติของการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ทั้งนี้ข้อมูลของฮาร์วาร์ดระบุ ฮาร์วาร์ดผ่านการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว (LEED Certified Building) จากสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Green Building Council) กว่า 115 โครงการ มากกว่าสถาบันอุดมศึกษาใดในโลก

 

  • ส่วนรวม คือ ประเทศชาติสังคมส่วนรวมชนะ มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศและโลก ที่สำคัญคือ การมีส่วนบ่มเพาะกำลังคนที่มีจิตสำนึกทางด้านสิ่งแวดล้อมป้อนสู่สังคม

นอกจากฮาร์วาร์ดจะให้ความสำคัญกับส่วนตัว ส่วนร่วม และส่วนเราแล้ว ยังให้ความสำคัญกับส่วนรวมหรือประเทศชาติสังคมด้วยเช่นเดียวกัน อันเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ควรมีส่วนผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

มหาวิทยาลัยไทยสามารถนำความคิด Dr. Dan Can Do “4 WINs” Model ของผมดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้เป็นกรอบคิดการจัดการศึกษาของตนเอง อันจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาสำคัญทางการศึกษา ทำให้ทุกฝ่ายชนะร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศชาติสังคมส่วนรวม

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายนี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายด้วยข้อคิดคำคมของผมที่ว่า

“ความปรารถนาเพียงใดก็ไร้ค่า หากปราศจากคำว่า “ลงมือทำ”

ความมุ่งหมายแม้เป็นสิ่งที่ดี แต่จะมีคุณค่าที่สุดหากลงมือทำ ครับ

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 17 วันศุกร์ 5 – พฤหัสบดี 11 มกราคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.