Brazil 2016 ใช้ “ฮีโร่โอลิมปิก” ให้เป็น “ฮีโร่ในสังคม”

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศบลาซิลได้ดำเนินผ่านมาครึ่งทางแล้ว ผมแสดงความยินดีกับนักกีฬาไทยมีโอกาสได้แสดงให้โลกเห็นถึงสปิริตความมุ่งมั่นตั้งใจในเวทีระดับโลก และสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคนไทยเป็นที่ 1 ได้ หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจ
นอกจากเหรียญรางวัลรัฐบาลจะมีพิธีมอบเงินอัดฉีดให้กับนักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัลผลการแข่งขัน ซึ่งผมได้ข่าวว่าจะมีการเพิ่มเงินรางวัลให้อีก 20 %ซึ่งทำให้นักกีฬาที่ได้เหรียญทองได้รับเงินรางวัลรวมกับอภิสิทธิ์พิเศษจากรัฐบาลและผู้สนับสนุนอื่นๆ สูงจนควบคุมไม่ได้

ผมไม่ได้คิดว่าการให้เกียรติคนที่กระทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเห็นว่าฮีโร่เหล่านี้น่าชื่นชม และควรให้เกียรติยศ รางวัลต่างๆด้วยความเหมาะสมและยุติธรรม 

แต่ที่สำคัญ คือ ไม่ควรลืมว่าแท้จริงแล้วผู้ที่ได้รับเหรียญรางวัลเป็นเพียงผู้มีความสามารถทางกีฬาชนิดหนึ่ง 
ซึ่งผู้ที่ไม่ได้เหรียญรางวัล ผู้ที่บอบช้ำจากผลการแข่งขัน
หรือนักกีฬาพิการซึ่งได้เงินรางวัลน้อยกว่านักกีฬาปกติเกือบครึ่งหนึ่งก็เป็นผู้ที่ได้เสียสละทุ่มเทเช่นกัน

…แต่สังคมชื่นชมคนเหล่านี้ที่จุดไหน? 

การไม่ได้เหรียญทองไม่ได้แสดงว่า ไม่มี Spirit ไม่มุ่งมั่นอุตสาหะภาคเพียร หรือสู้อย่างสุดใจเสมอไป

น้องแต้วนักยกน้ำหนักที่มีโอกาสสู้เพื่อเหรียญทอง แต่ยินดีรับเพียงเหรียญเงินเพื่อทีม…

มวยสากลสมัครเล่น แม้บางคนจะแพ้แบบค้านสายตา แต่ก็เห็นถึงทักษะทางกีฬาที่โดดเด่น…

วอลเลย์บอลหญิง ที่แพ้ในรอบ qualify แต่ก็แสดงให้เห็นถึงน้ำใจนักกีฬาที่โลกชื่นชม…

แม้สังคมจะเห็นคุณค่าความพยายามของนักกีฬาเหล่านี้ แต่จะจดจำ Spirit ของนักสู้ที่ไม่ได้รับเหรียญรางวัลได้มากแค่ไหน
เมื่อสังคมยิ่งตอกย้ำความแตกต่างด้านเงินรางวัลซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์เชิดชูคุณค่าที่สังคมมองว่าคู่ควร 
โดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับความทุ่มเท พยายามที่ได้ทุ่มเท และ
…..บางคนบอบช้ำกลับมา…..

ผมมองว่าการมอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจเพื่อจูงใจให้นักกีฬามีแรงจูงใจเป็นสิ่งที่ดี และไม่ใช่เรื่องผิดปกติ 
แต่จำนวนเงินที่สูงและแตกต่างกันมาก เป็นการแสดงออกว่า
เราให้คุณค่า “เหรียญรางวัล” มากกว่า “ความพยายาม” หรือไม่ ?

หากหมดซึ่งความสามารถ และชื่อเสียงเงินทองแล้ว
นักกีฬาเหล่านี้จะเป็นเช่นไร 
เราจะชื่นชมคนเหล่านี้ในสภาพไหน 
ผู้สูงอายุที่เคยสร้างคุณความดีให้กับประเทศอย่างนั้นหรือ ?

เรื่องเหล่านี้เคยสร้างบาดแผลให้กับฮีโร่ในวงการกีฬาของไทยมาแล้ว 
ดังนั้นหากสังคมสามารถใช้มหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิก 
เป็นโอกาสในการยกระดับมาตรฐานคุณค่าของสังคมไทยให้สมต่อศักดิ์ศรี 
ผมเชื่อว่าสังคมจะเข้าใกล้กับความเสมอภาคแท้จริงที่ทุกฝ่ายต่างแสวงหาได้

แม้เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่ผมเชื่อว่าสามารถกระตุ้นปมใหญ่ในสังคมได้ 
หากทุกฝ่ายหาทาง “สร้างสรรค์” ไม่ใช่ “เพิกเฉย” ซึ่งอาจแสดงออกได้โดย
– “ผลักดัน” ให้ฮีโร่ในสังคมทุกคนให้เป็น Role Model … แบ่งปันหรือมอบรางวัลคนบนคุณลักษณะที่โดดเด่นไม่แพ้กับผู้ที่ได้รับเหรียญรางวัล  
– “สนับสนุน” ให้ฮีโร่ในสังคมให้ได้ใช้ Potential …อย่างโดดเด่นทั้งในสังคมไทยและเวทีโลกในทั้งระยะสั้น กลาง ยาว
– “จัดตั้ง”ให้มีระบบ Learning Center… เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้สิ่งดี และแสดงออกถึงความรักต่อฮีโร่เหล่านี้ได้

ข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยให้สังคมสนับสนุนฮีโร่โอลิมปิก รวมถึงฮีโร่ด้านอื่นๆในสังคม ได้พัฒนาศักยภาพในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากสิ่งที่ตนเองถนัด 
และทำให้สังคมได้ประโยชน์จาก ความรู้ ทักษะ หรือลักษณะชีวิตที่ฮีโร่เหล่านี้มีและทำให้ประสบความสำเร็จได้

การพยายามมองให้เห็นคุณค่าทุกคนอย่างจริงใจต้องทำอย่างมีสติรอบคอบ 
และอาจเผชิญแรงเสียดทานบ้างเพราะการเปลี่ยนแปลงต้องออกแรงเสมอ 
แต่เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะความจริงเป็นเรื่องยากที่ใครจะสามารถเป็นฮีโร่ได้ทุกเรื่องเพียงแค่ความสำเร็จเพียงเรื่องเดียว 
แต่หากทำได้ จะยกระดับสังคมไทยให้พัฒนาทั้งทางจิตใจ “ภายใน” 
ไปพร้อมๆ กับวัตถุ “ภายนอก” ได้อย่างสมจริงอย่างที่ฝันได้ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published.