AIMMI model : กรณีฮาร์วาร์ดให้รางวัลผู้ให้คำปรึกษา

ผมเคยนำเสนอความคิด AIMMI Model ที่ผมคิดขึ้นว่าประกอบด้วย

A คือ Aspiration ผมเรียกว่า เป้าทะยานใจ

I คือ Inspiration หรือแรงบันดาลใจ

M ตัวแรกคือ Motivation หรือแรงจูงใจ

M ตัวที่สองคือ Motive ผมเรียกว่า มูลเหตุแห่งใจ และ

I ตัวสุดท้ายคือ Incentive ผมเรียกว่า สิ่งประสงค์ล่อใจ[1] ความคิด AIMMI Model ของผมดังกล่าวนี้อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า การเคลื่อนคนหากทำครบทั้ง AIMMI Model จะเห็นการเคลื่อนตนเองและผู้อื่นอย่างคงเส้นคงวา มนุษย์แต่ละบุคคลต้องการ AIMMI Model มากน้อยแตกต่างกัน หากจัดให้เข้าที่จะสามารถเคลื่อนตนเองและผู้อื่นตามศักยภาพที่แต่ละบุคคลมีอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด การเคลื่อนตนเองและผู้อื่นจะเกิดขึ้นได้หากมี AIMMI Model ทั้งภายในตนเองและผู้อื่น

การเคลื่อนใจคนแม้ต้องใช้ระยะเวลาแต่ผลลัพธ์ที่ได้จะมีพลังและยั่งยืนยาวนานมากกว่า หากเรารู้จักใช้ AIMMI Model ให้เป็นประโยชน์จะมีพลังอย่างมากในการเคลื่อนคน ด้วยว่าการใช้วิธีการบังคับแม้จะสามารถทำได้เร็ว ไม่ยุ่งยาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ยั่งยืน

ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนคนดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างการให้รางวัลแก่ผู้ให้คำปรึกษาจำนวน 12 คนจาก ทั้งมหาวิทยาลัย ในช่วงที่ผ่านมา โดย Harvard College Advising Programs Office ที่เรียกว่า Star Family Prize for Excellence เป็นรางวัลที่หน่วยงานดังกล่าวจัดให้แก่บุคลากรที่สามารถเป็นแบบอย่างในการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีฮาร์วาร์ด James A. Star ศิษย์เก่าของฮาร์วาร์ด เป็นผู้คิดริเริ่มให้มีรางวัลนี้

รางวัลดังกล่าวนี้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปีจำนวนทั้งหมด 12 รางวัล ประกอบด้วย ผู้ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จำนวน 3 รางวัล ผู้ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จำนวน 3 รางวัล ผู้ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาปีที่ 4 จำนวน 3 รางวัล และคณาจารย์ที่ปรึกษา จำนวน 3 รางวัล รวมทั้งหมดเป็น 12 รางวัล คัดเลือกโดยคณะกรรมการอันประกอบด้วยบุคลากรของวิทยาลัย และเพื่อนที่ทำการให้คำปรึกษา ผู้ได้รับรางวัลดังกล่าวนี้มาจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น ศาสตราจารย์ทางด้านฟิสิกส์ประยุกต์และวิศวกรรมไฟฟ้า ติวเตอร์ที่ประจำในบ้านพักนักศึกษาเคอเรียร์เฮ้าส์ (Currier House) เป็นต้น[2]

Star Family Prize for Excellence ของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้เป็นตัวอย่างการแสดงออกถึงการเห็นคุณค่าและความสำคัญของบุคลากรมหาวิทยาลัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง อีกทั้งยังสะท้อนตัวอย่างองค์ประกอบของ AIMMI Model เช่น การเป็นแบบอย่างสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจและเป็นเป้าทะยานใจ (เป้าทะยานใจเป็นการทำให้มีช่องว่างระหว่างปัจจุบันกับเป้าหมายหรือสิ่งที่อยากจะไปให้ถึงและทำให้เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปให้ถึงหรือทำให้สำเร็จ) ให้แก่บุคลากรมหาวิทยาลัยในการพัฒนาตนเองทางด้านการให้คำปรึกษา เป็นต้น ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นตัวอย่างการนำ AIMMI Model มาใช้ในแวดวงแตกต่างหลากหลาย เช่น ธุรกิจ รัฐกิจ เป็นต้น รวมถึงภาคการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน AIMMI Model ในตนเองจึงเป็นกลาง หากรู้จักนำมาใช้ในทางสร้างสรรค์สามารถสร้างให้เกิดประโยชน์เกินความคาดหมาย

กรณีมหาวิทยาลัยไทยเรา สามารถนำ AIMMI Model มาใช้ในการขับเคลื่อนประชาคมมหาวิทยาลัยได้ด้วยเช่นเดียว โดยการบริหารจัดการใช้ AIMMI Model ให้เป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากร ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรได้ใช้ประโยชน์ตามศักยภาพที่แต่ละบุคคลมีอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การให้สิ่งประสงค์ล่อใจ การสร้างแรงบันดาลใจ การให้แรงจูงใจ การสร้างเป้าทะยานใจ การใช้มูลเหตุแห่งใจอันเป็นมูลเหตุหรือต้นเหตุชักจูงให้เป็นหรือทำสิ่งนั้น เป็นต้น

[1] ผมนำเสนอครั้งล่าสุดอีกครั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัชชาสยามอารยะ หัวข้อ AIMMI Model วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561.

[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://news.harvard.edu/gazette/story/newsplus/star-family-prizes-recognize-harvard-college-advisers/

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 65 ฉบับที่ 43 วันศุกร์ 6 – พฤหัสบดี 12 กรกฎาคม 2561

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

Leave a Reply

Your email address will not be published.